Home
เพลงสถาบัน
ติวสอบ
สารจากประธานฯ
กระดานสนทนา
กิจกรรม
ลิงค์
มีฎีกามาบอก
กำหนดการ

 

        ***มาตรา 264 แบ่งออกเป็น 2 วรรค ตามวรรคหนึ่งเป็นเรื่องปลอมเอกสารโดยตรงและวรรคสอง

เป็นเรื่องที่กฎหมายให้ถือว่าเป็นการปลอมเอกสารตามวรรคหนึ่ง บัญญัติถึงการกระทำไว้หลายอย่างคือ

  1. ทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับ
  2. ทำเอกสารปลอมขึ้นแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด
  3. เติมหรือตัดทอนข้อความในเอกสารที่แท้จริง
  4. แก้ไขด้วยประการใดๆในเอกสารที่แท้จริง
  5. ประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร

การกระทำข้อหนึ่งถึงข้อห้านั้นน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน และผู้กระทำมีเจตนา และมีเจตนาพิเศษเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง

คำพิพากษาฎีกาที่ 769/2540 จำเลยเป็นผู้ทำสัญญากู้ยืมเงิน รวมทั้งลงลายมือชื่อ ส. ผู้ให้สัญญาด้วยตนเองเมื่อปี 2536 ภายหลังที่ ส. ถึงแก่ความตายไปแล้ว ในปี 2533 และลงวันที่ย้อนหลังไปว่าได้ทำสัญญาดังกล่าวขึ้นเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2531 ทำให้เห็นว่าสัญญาดังกล่าวทำขึ้นระหว่าง ส. กับจำเลยในขณะที่ ส. ยังมีชิวิตอยู่ และใจความสัญญาดังกล่าวที่ ส.กู้ยืมเงินจำเลย 1000,000 บาท ถ้า ส. ไม่คืนเงินดังกล่าว ส. ยอมโอนที่ดินสวนยางพารา เนื้อที่ 14 ไร่ 1 งาน แก่จำเลยนั้น นอกจากไม่เป็นความจริงแล้ว ยังน่าจะเกิดความเสียหายแก่ทายาทของ ส. อีกด้วย และเหตุที่จำเลยทำเอกสารดังกล่าวขึ้นเพื่อจะใช้อ้างกับ ด. ว่าที่ดินของ ส. เป็นของจำเลยและจะได้เรียกร้องค่าเสียหายไป ซึ่งทำให้เห็นได้ว่าการที่จำเลยกระทำดังกล่าวเพื่อให้ ด. หลงเชื่อว่าเอกสารสัญญากู้เงินดังกล่าวเป็นเอกสารที่แท้จริง ดังนั้นการกระทำของจำเลยจึงเป็นการปลอมเอกสารสิทธิตาม ป.อาญา มาตรา 265

  • ข้อความที่ว่า “โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264 นั้นเป็นพฤติการณ์ที่ประกอบการกระทำที่น่าจะเกิดความเสียหายได้ แม้จะไม่เกิดความเสียหายขึ้นจริงก็เป็นองค์ประกอบความผิดที่พิจารณาได้จากความคิดธรรมดาของบุคคลทั่วไปในลักษณะเดียวกับจำเลย ส่วนคำว่าผู้หนึ่งผู้ใดในข้อความที่ว่า “ ได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง”

นั้นแสดงว่านอกจากเป็นการกระทำโดยเจตนาแล้วยังต้องมีเจตนาพิเศษในการกระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงด้วย

  • เติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใดๆ ในเอกสารที่แท้จริง การกระทำในส่วนนี้ต้องเป็นการกระทำในเอกสารที่แท้จริงเท่านั้น และต้องเป็นการเติมตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขข้อความในเอกสารโดยที่ตนไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้ การเติมหรือแก้ไขเอกสารในขณะที่ตนมีอำนาจจะแก้ไขได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 1389/2518 โจทก็ยื่นแบบ ภ.บ.ท. 6 โดยลงลายมือชื่อโจทก์ในช่องผู้ชี้เขตและผู้ยื่น จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านลบชื่อจำเลยออก แล้วเขียนชื่อจำเลยที่ 1 ลงไป แล้วพิมพ์ลายนิ้วมือจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เป็นผู้ยื่น ดังนี้เป็นการเปลี่ยนสภาพ ภ.บ.ท. 6 จากโจทก์ยื่น เป็นจำเลยที่ 1 ยื่น เมื่อดูเอกสารแล้ว ไม่มีผู้ใดหลงเชื่อในเรื่องชื่อและลายพิมพ์นิ้วมือ ก็เป็นของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสาร

  • อ.จิตติ ติงศภัทิย์ อธิบายว่า ตามฎีกาดังกล่าวเป็นเรื่องทำลายเอกสารเดิม และทำเอกสารขึ้นใหม่ทั้งหมด จึงไม่ใช่เป็นการปลอมเอกสาร เมื่อเปลี่ยนชื่อผู้ยื่นเป็นจำเลยที่ 1 ยื่น แล้วก็เป็นเอกสารที่ จำเลยที่ 1 ทำเอง ไม่ได้ปลอมให้ผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงของผู้อื่น ไม่ใช่ของจำเลยที่ 1 มาตราที่ควรพิจารณา คือมาตรา 188 ทำลายเอกสารโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น

คำพิพากษาฎีกาที่ 1046-47/2526 (ประชุมใหญ่) จำเลยทั้งสองทำเอกสารขายและเช่าซื้อรถยนต์ลงชื่อตนเอง ลงวันที่ย้อนหลังอันเป็นเท็จ เพื่อต่อสู้คดีที่ลูกจ้างถูกฟ้องเรื่องละเมิด ดังนี้ ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เอกสารที่จำเลยทั้งสองร่วมกันทำขึ้นเป็นเอกสารของจำเลยทั้งสอง ซึ่งได้ลงลายมือชื่อของตนเองมิได้ปลอมลายมือชื่อผู้ใด แม้ข้อความในเอกสารจะไม่ตรงต่อความจริง หรือเป็นเท็จ การกระทำของจำเลยทั้งสองก็ไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ ตาม ม.264 และ 268

คำพิพากษาฎีกาที่ 1569/2517 จำเลยเป็นเจ้าอาวาสวัด ป. เป็นผู้ทำและลงลายมือชื่อของตนเองในใบมอบอำนาจ ให้ ว. ซึ่งเป็นไวยาวัจกรฟ้องคดีแทนวัด ป. การทำเอกสารอยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลย ที่จะทำได้ในฐานะเจ้าอาวาส วัด ป. จะมีฐานะนิติบุคคลหรือไม่ก็ตาม เอกสารดังกล่าวเป็นของจำเลย ไม่ได้ปลอมหนังสือมอบอำนาจของผู้หนึ่งผู้ใด การกระทำของจำเลยไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารหรือใช้เอกสารปลอม

คำพิพากษาฎีกาที่ 368/2521 จำเลยร่วมกับสมุห์บัญชีธนาคารอาศัยอำนาจหน้าที่ของตนในการควบคุมบัญชี และเขียนข้อความใน สมุดเงินฝากและเขียนข้อความไม่ตรงต่อความจริงลงใน บัญชีดังกล่าว ขณะที่ตนมีหน้าที่ต้องเขียนข้อความที่ถูกต้องนั้น เป็นเรื่องลงข้อความเท็จ หาใช่เป็นการปลอมเอกสารไม่ เพราะไม่ใช่ปลอมเอกสารอันแท้จริงของผู้ใด

คำพิพากษาฎีกาที่ 1172/2504 การทำแบบ ส.ค. 1 เป็นเท็จ โดยลงวันที่ย้อนหลังขึ้นไป แล้วนำไปยื่นต่อเจ้าหน้าที่ ไม่ผิดฐานปลอมเอกสาร เพราะเป็นเอกสารของจำเลยอันแท้จริง ส่วนข้อความ แจ้งจะถูกต้องหรือไม่ เป็นแต่เรื่องแจ้งเท็จ (ตาม ม. 137) ไม่ใช่ปลอมหนังสือของใคร หรือตั้งใจจะให้เป็นหนังสือของคนอื่น

คำพิพากษาฎีกาที่ 2179/2529 จำเลยเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายบัญชีธนาคารโจทก์ร่วม โดยจำเลยลงชื่อในแบบพิมพ์ใบนำฝากเงิน ซึ่งเป็นแบบพิมพ์สำหรับเจ้าหน้าที่ธนาคารแทนธนาคาร เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีการรับฝาก

เงิน ดังนี้ จำเลยทำเอกสารในหน้าที่ของจำเลยไม่ได้ทำขึ้นเพื่อให้เห็นว่าเป็นเอกสารของผู้อื่นจึงไม่เป็นปลอมเอกสาร แม้ข้อความในเอกสารไม่เป็นความจริง ก็เป็นเพียงจำเลยทำหนังสือ อันมีข้อความเป็นเท็จเท่านั้น

คำพิพากษาฎีกาที่ 219-221/2483 น. ยักยอกเงินอุดหนุนเทศบาล แล้วนำใบรับเงินและของ ลงวันที่ย้อนขึ้นไปเพื่อปกปิดความผิดฐานยักยอก แล้วเสนอให้นายกเทศมนตรีลงชื่อ นายกเทศมนตรีลงลายมือชื่อและลงวันที่กำกับไว้ ไม่เป็นเอกสารปลอม

คำพิพากษาฎีกาที่ 830/2483 (ป) ศาลฎีกาได้ประชุมปรึกษาฎีกาโจทก์แล้ว ลักษณะที่จะเป็นปลอมหนังสือตามกฎหมายนั้น จะต้องทำปลอมขึ้นทั้งฉบับ หรือแต่ส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือเติม ตัดทอน แก้ไขข้อความในหนังสืออันแท้จริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอม ซึ่งสามารถอาจจะเกิดความเสียหายแก่สาธารณชน หรือบุคคลผู้หนึ่งผู้ใด ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายอาญา มาตรา 222 แต่ในคดีที่โจทก์ฟ้องนี้ นายแคล้ว จำเลยได้ทำหนังสือของตนขึ้นทั้งฉบับ มิได้ ทำปลอมหนังสืออันแท้จริงของผู้ใด จึงไม่เป็นปลอมหนังสือตามกฎหมายที่กล่าวมาแล้ว ส่วนคำพิพากษาฎีกาที่ 230/2477 นายเอี้ยง แช่ตัน โจทก์ นางสาวเสงี่ยม สุนทรวิภาค จำเลย ที่โจทก์ อ้างมานั้น รูปคดีหาเหมือนกับคดีนี้ไม่ ศาลล่างพิพากษายกข้อหาโจทก์ชอบแล้ว จึงพิพากษายืนตาม ให้ยกฎีกาโจทก์เสีย

คำพิพากษาฎีกาที่ 96/2523 จำเลยพิมพ์ปกหนังสือแบบเรียน ซึ่งเป็นหนังสือที่โจทก์ร่วมมีลิขสิทธิ์ขึ้นจำนวน 5,000 เล่ม แสดงว่าเป็นการกระทำส่วนหนึ่งของการคัดลอกหนังสือแบบเรียน นั้นขึ้นใหม่ทั้งเล่มเพื่อขาย จึงเป็นเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์ซึ่งมีกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดไว้เฉพาะ หาใช่ลักษณะของการทำเอกสารปลอมไม่ จึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 264 แต่การที่จำเลยเอาเครื่องหมายอักษร “ประชาช่าง” อยู่ภาพในวงกลมของโจทก์ร่วม มาพิมพ์ไว้ที่ปกหนังสือของกลาง เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่า หนังสือที่ใช้ปกดังกล่าวเป็นสินค้าของโจทก์ร่วม เป็นความผิดตาม ม.272

  • เรื่องการปลอมเอกสารนอกจากจะมีมาตรา 264 แล้ว ยังมีมาตรา 161 อีกด้วย มาตรา 264 เป็นเรื่องบุคคลธรรมดาปลอมเอกสาร แต่มาตรา 161 เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ทำเอกสาร กรอกข้อความลงในเอกสาร หรือดูแลรักษาเอกสารและทำการปลอมเอกสารส่วนมาตรา 162 เป็นเรื่องเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ทำเอกสารรับเอกสาร หรือกรอกข้อความลงในเอกสาร รับรองเอกสารอันเป็นความเท็จ จึงต้องพิจารณาถึงด้วย

คำพิพากษาฎีกาที่ 2316/2529 จำเลยเป็นเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไปประจำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมีหน้าที่ดูแลรักษาเอกสาร ทำคำสั่งจังหวัดเรื่อง แต่งตั้งข้าราชการโดยไม่มีอำนาจ แล้วตัดเอากระดาษไขที่มีลายมือชื่อของ ผู้ว่าราชการ ซึ่งลงนามไว้ในคำสั่งอื่นมาติดไว้ท้ายคำสั่ง แล้วโรเนียวคำสั่งนี้ออกมาแสดงเพื่อให้บุคคลอื่นหลงเชื่อว่าเป็นคำสั่งที่แท้จริง ดังนี้เป็นการปลอมเอกสารขึ้นมาทั้งฉบับ เอกสารนั้นเป็นเอกสารราชการด้วย จึงมีความผิดตามมาตรา 161 และมาตรา 265

คำพิพากษาฎีกาที่ 2907/2526 วินิจฉัยว่า จำเลยเป็นปลัดเทศบาลและเป็นเลขานุการสภาเทศบาล จำเลยไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ ประธานสภาเทศบาลจึงแต่งตั้งให้ ส. รองปลัดเทศบาลทำหน้าที่ เลขานุการสภาเทศบาลแทนจำเลย จำเลยได้ใช้ให้ พ. แก้ไขรายงานการประชุมที่ ส. ทำขึ้น โดย จำเลยไม่มีอำนาจแก้ไขได้โดยพลการ เพื่อ จะให้

ผู้เกี่ยวข้องหลงเชื่อว่าสภาเทศบาลมีมติตามที่ จำเลยได้แก้ไข โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นจำเลยจึงมีความผิดฐานใช้ให้ผู้อื่น ปลอมเอกสารตาม ป.อาญามาตรา 265 ประกอบด้วยมาตรา 84 จำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ ดูแลรักษาเอกสารดังกล่าว จำเลยจึงมีความผิดตามมาตรา 161 อีกบทหนึ่งเมื่อจำเลยนำเอกสารนั้นไปอ้างในการขออนุมัติต่อผู้ว่าราชการจังหวัด จำเลยจึงมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตามมาตรา 268 อีกกระทงหนึ่ง

คำพิพากษาฎีกาที่ 751-765/2500 จำเลยเป็นปลัดอำเภอรับเงินสินบนแล้วออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว โดยไม่มีอำนาจและขัดระเบียบปฏิบัติ แล้วทำหลักฐานเป็นเท็จว่ามีการสอบสวนแล้วไม่เป็นความผิดฐานทำเอกสารปลอม เพราะทำหลักฐานขึ้นในนามของตนเอง ไม่ได้ทำปลอมในนามของนายอำเภอหรือคนอื่น แต่ผิดฐานเจ้าพนักงานเรียกรับสินบนและเจ้าพนักงานทำ เอกสารเท็จ (มาตรา 162,149 )

คำพิพากษาฎีกาที่ 881/2504 จำเลยเป็นพนักงานเทศบาล จดหลักฐานการเงินในบัญชีเท็จ ไม่ผิดฐานปลอมเอกสาร เพราะลงบัญชีตามหน้าที่ของตน แม้เป็นความเท็จก็เป็นข้อความที่จำเลยจดเอง ไม่ใช่แสดงว่าเป็นหลักฐานซึ่งผู้อื่นทำหรือทำเป็นเอกสารของผู้อื่น ส่วนข้อความที่กรอกลงเป็นเท็จ เป็นความผิดตามมาตรา 162

คำพิพากษาฎีกาที่ 2302/2523 จำเลยเป็นสารวัตรกำนันปฏิบัติหน้าที่แทนกำนัน จึงเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร จำเลยกรอกข้อความลงในใบมรณะบัตรว่า ส.ถึงแก่ความตาย และเติมข้อความลงในสำเนาทะเบียนบ้านว่า ย้ายออก แล้วลงชื่อจำเลยในช่องนายทะเบียนผู้รับแจ้งตาม หน้าที่ ดังนี้มรณะบัตรและสำเนาทะเบียนบ้านดังกล่าว เป็นเอกสารที่แท้จริงที่จำเลยทำขึ้น แม้ ข้อความในมรณะบัตรและสำเนาทะเบียนบ้านไม่ตรงกับความจริง เพราะ ส.ยังไม่ตายก็ไม่เป็น ความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 161 แต่เป็นความผิดตามมาตรา 162

คำพิพากษาฎีกาที่ 4201/2536 จำเลยเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต โดยทำใบรับแจ้งการตายอันเป็นเท็จแล้วนำไปเป็นหลักฐานในการแจ้งการตายต่อนายทะเบียนให้ออกมรณะบัตร ของ จ. และนำไปเป็นหลักฐานในการขอคืนหลักประกันที่ ป. ได้ประกันตัว จ . และเบิกความเท็จ ต่อศาลว่า จ. ตายไปแล้ว การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 137,157,162(1) (4) , 267 ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 157 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดกระทงหนึ่ง และเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 177 วรรคแรกอีก กระทงหนึ่ง

คำพิพากษาฎีกาที่ 728-729/2501 จำเลยหลอกเอาสินค้าไปจากร้านโดยอ้างกับพนักงานร้านว่า มีผู้ต้องการซื้อ แล้วทำใบรับของ ใบผัดใช้เงินและเช็คโดยประทับตราลงชื่อห้างร้านที่สมมติขึ้นมามอบให้ไว้ เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

ขอให้เปรียบเทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 520/2479 วินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสี่ในคดีดังกล่าว ปลอมตัวเพื่อฉ้อโกงทรัพย์ ไม่มีเจตนาปลอมหนังสือ และตั้งใจทำหนังสือเป็นของจำเลยเอง แต่ ในคดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยทำเอกสารขึ้นหลายฉบับ เช่น ใบรับของ ใบผัดใช้เงินและเช็ค จึงฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนาปลอมเอกสาร

คำพิพากษาฎีกาที่ 824/2481 จำเลยจับมือนายฉันบิดาของตนกดลายพิมพ์นิ้วมือในใบแต่งทนายว่าต่างนายฉันในคดีแพ่ง และในคำแถลงการณ์ยื่นต่อศาลในคดีนั้นเอง เพื่อให้ยอมให้ศาลสั่งว่า นายฉันเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ ในขณะกดลายพิมพ์นิ้วมือดังกล่าวนายฉันวิกลจริต ไม่สามารถรู้เรื่องเลย เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

คำพิพากษาฎีกาที่ 1649/2503 จำเลยจับมือผู้ป่วยหนัก ไม่มีสติและไม่สามารถรู้เรื่องอย่างใดเลย กดลายพิมพ์นิ้วมือลงบนหนังสือเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

ตามคำพิพากษาฎีกาฉบับนี้มีปัญหาว่า เป็นการปลอมในลักษณะใด เป็นลงลายมือชื่อปลอมหรือไม่?

  • อ. อุททิศ แสนโกศก อธิบายว่า ไม่ปรากฏว่าศาลฎีกาถือว่าปลอมลักษณะใด จะเป็นปลอมลายมือชื่อก็ไม่ใช่ เพราะเป็นลายพิมพ์นิ้วมือของผู้นั้นเอง น่าจะถือว่าเป็นปลอมเอกสารทั้งฉบับ เพราะจำเลยทำขึ้นเพื่อให้เข้าใจว่าผู้นั้นเป็นผู้ทำขึ้น

ขอให้สังเกตว่า การแปลฎีกานี้ว่า เป็นการปลอมขึ้นทั้งฉบับนั้นน่าจะใกล้เคียงที่สุด เพราะจำเลยเป็นผู้ทำเอกสารนั้นเองทั้งฉบับ โดยกดลายพิมพ์นิ้วมือของผู้อื่นโดยผู้อื่นไม่ได้รู้เห็นด้วย และจำเลยกระทำโดยให้เข้าใจว่าผู้เป็นเจ้าของลายพิมพ์นิ้วมือเป็นผู้ทำเอกสารนั้นเอง และในคดีนี้จำเลยได้กระทำเพื่อให้ผู้ที่เห็นเอกสารนั้นหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง

คำพิพากษาฎีกาที่ 795/2518 จำเลยเช่ากิจการโรงเรียนในระหว่างที่ไม่มีครูใหญ่ และกำลังขออนุญาตให้จำเลยเป็นผู้จัดการและครูใหญ่ จำเลยลงชื่อออกใบสุทธิในตำแหน่ง ครูใหญ่หรืออาจารย์ ดังนี้ เป็นการปลอมเอกสาร เพราะจำเลยไม่มีอำนาจในตำแหน่งนั้นได้ แม้ข้อความใน เอกสารตรงกับความจริงหรือจำเลยคิดว่าจำเลยมีอำนาจลงชื่อในใบสุทธิได้ก็ไม่เป็นเหตุให้พ้นผิด

ขอให้เทียบกับฎีกาฉบับนี้กับคำพิพากษาฎีกาที่ 635/2507 วินิจฉัยว่า ปลัดอำเภอซึ่งมีหน้าที่กรอกข้อความในใบอนุญาตให้ มีและใช้อาวุธปืนเสนอนายอำเภอลงนาม ในฐานะเป็นนายทะเบียน กรอกข้อความในใบอนุญาตแล้วลงชื่อตนเองเป็นนายทะเบียนประทับตรานายอำเภอ ดังนี้มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปลอมเอกสารตามมาตรา 161 เพราะปลอมตนว่าเป็นเจ้า พนักงานผู้มีอำนาจลงนามในใบอนุญาต

  • อ. จิตติ ติงศภัทิย์ อธิบายว่า คำพิพากษาฎีกาดังกล่าวเป็นเรื่องปลอมเอกสาร โดยปลอมตำแหน่ง กล่าวคือ ไม่มีอำนาจโดยตำแหน่งที่จะลงลายมือชื่อทำเอกสารนั้นได้ แต่กลับลงลายมือชื่อทำเอกสารนั้นได้ แต่กลับลงลายมือชื่อตนในตำแหน่งที่ตนไม่มีอำนาจลงลายมือชื่อตนเองก็เป็นการปลอมตัวบุคคลในตำแหน่งหน้าที่นั้น

ขอให้สังเกตว่า การที่จำเลยไม่มีอำนาจทำเอกสารในตำแหน่งนั้นแล้ว ทำเอกสารใน ตำแหน่งนั้นก็เป็นการปลอมเอกสารขึ้นทั้งฉบับ และทำเพื่อให้ผู้ที่พบเห็นเอกสารนั้นหลงเชื่อว่า เป็นเอกสารที่ได้กระทำโดยผู้มีอำนาจแท้จริง และโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน เป็นการกระทำครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 264

  • การปลอมเอกสารอาจทำเอกสารปลอมขึ้นแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด

คำพิพากษาฎีกาที่ 889/2481 พิมพ์แบบพิมพ์ใบอนุญาตประกอบโรคศิลป์และพิมพ์ลายมือชื่อ ช. และ น. กรรมการและเลขานุการควบคุมการประกอบโรคศิลป์ 51 ฉบับ แม้ยังไม่ได้กรอกข้อความในช่องวันเดือนปี ชื่อผู้รับอนุญาตเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

คำพิพากษาฎีกาที่ 595/2481 จำเลยพิมพ์ตั๋วสลากกินแบ่งปลอมมีรูปลักษณะเป็นตั๋วสลากสำเร็จแล้ว แต่ขาดเลขลำดับ ตราชื่อประธานกรรมการ เลขานุการวินิจฉัยว่าเป็นการแน่ว่าประชาชนอาจซื้อตั๋วสลากดังกล่าว โดย

เชื่อว่าเป็นตั๋วสลากที่แท้จริง จึงเป็นการกระทำโดยลักษณะที่อาจเสียหายได้ เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร (ไม่ใช่พยายาม) เพราะเป็นเอกสารแล้ว

  • อ. จิตติ ติงศภัทิย์ ให้ข้อสังเกตว่า แบบพิมพ์ที่ยังไม่ได้กรอกข้อความไม่มีความหมาย ยิ่งไปกว่ากระดาษเปล่า ยังไม่มีเอกสาร
  • การทำเอกสารปลอมโดยเติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการๆใดๆ ในเอกสารที่แท้จริง ถ้าน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน และถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ก็เป็นความผิดแต่ถ้าทำโดยผู้มีอำนาจไม่เป็นความผิด และการกระทำดังกล่าวจะต้องมีความหมาย ถ้าไม่มีความหมายไม่มีความผิด

การเติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใดๆ จะต้องทำความหมายเปลี่ยนแปลงไป จึงจะเข้าองค์ประกอบที่โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ถ้าความหมายไม่เปลี่ยนแปลงก็ไม่เป็นความผิด เพราะไม่น่าจะเกิดความเสียหาย (ฎ. 1177/2462)

คำพิพากษาฎีกาที่วินิจฉัยว่าเป็นความผิด

คำพิพากษาฎีกาที่ 186/2459 ผู้รับหนังสือมาขายแก้ราคาที่หน้าปกหนังสือแบบเรียนเร็ว ซึ่งทางราชการอนุญาตและกำหนดราคาให้พิมพ์จำหน่ายจาก 26 สตางค์ เป็น 50 สตางค์ เป็นปลอมเอกสาร

คำพิพากษาฎีกาที่ 431/2472 ใบเสร็จรับเงินนักศึกษาจากผู้มีชื่อ ผู้แทน นายอำเภอลงลายมือชื่อและลงวันที่ล่วงหน้าจำเลยเอาไปแก้วันที่แล้วนำไปเก็บเงินจากผู้มีชื่อเป็นความผิด

คำพิพากษาฎีกาที่ 180/2473 จำเลยแก้ขวัญในตั๋วพิมพ์รูปพรรณจาก 6 ขวัญ เพิ่มเป็น 7 ขวัญ แม้จะตรงกับความจริง แต่ผิดจากต้นขั้วเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

ขอให้สังเกตว่า แม้แก้ให้ตรงกับความจริง ก็เกิดความเสียหายเพราะไม่ตรงกับต้นขั้ว

คำพิพากษาฎีกาที่ 36/2483 จำเลยขีดเส้นขวัญในตั๋วพิมพ์รูปพรรณเพิ่มขึ้นความผิดฐานปลอมเอกสาร

คำพิพากษาฎีกาที่ 1282/2482 สัญญาเข้าหุ้นส่วนคู่สัญญาพิมพ์ลายนิ้วมือไว้ ข. เป็นพยานโดยพิมพ์ลายนิ้วมือ จำเลยขีดฆ่าลายพิมพ์นิ้วมือของ ข.ออก เขียนข้อความรับรองลายพิมพ์นิ้วมือ แล้วให้ ล. ลงลายมือชื่อเป็นพยานแล้วนำไปฟ้องคดี ดังนี้แม้สัญญาเข้าหุ้นส่วนไม่ใช่สัญญาที่กฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือ ก็เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

คำพิพากษาฎีกาที่ 95/2487 จำเลยเป็นกำนัน ทำรายงานเสนอต่อ พนักงานสอบสวนว่า อ. ทำร้าย ก. และลงประจำวันแล้ว ต่อมาจำเลยขูดลบชื่อ อ. ในรายงานออก รวมทั้งประจำวันด้วย แล้วจำเลยเติมชื่อโจทก์ในคดีนี้ลงแทน ดังนี้ หากการกระทำของจำเลยเป็นการแก้เพื่อให้เข้าใจว่า ได้รายงานชื่อโจทก์มาแต่เดิม อาจเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร เพราะอาจเกิดความเสียหายแก่โจทก์ โดยต้องตกเป็นผู้ต้องหาฐานทำร้ายร่างกาย

คำพิพากษาฎีกาที่ 938/2498 จำเลยเขียนใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้นายอำเภอลงลายมือชื่อแล้วกลับมาแก้ไขเป็นปลอมเอกสาร

คำพิพากษาฎีกาที่ 744/2506 จำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารให้แก่ผู้ขออนุญาต จำเลยอนุญาตและออกใบอนุญาตให้โจทก์แล้ว ต่อมามีผู้ยื่นเรื่องราว จำเลยจึงเรียกใบอนุญาตคืนจาก

โจทก์แล้วออกใบอนุญาตใหม่เป็นว่า จำเลยไม่อนุญาตให้ก่อสร้าง เพราะไม่เว้นระยะห่าง 50 เซนติเมตร ดังนี้เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารทั้งฉบับ เพราะแม้ใบอนุญาต ฉบับแรกจำเลยจะเป็นผู้ทำแต่ได้ส่งมอบให้โจทก์ไปแล้ว เมื่อกระทำให้หลงเชื่อว่าใบอนุญาต ฉบับหลังเป็นเอกสารที่แท้จริงก็เป็นความผิด

คำพิพากษาฎีกาที่ 325/2508 สัญญากู้เงินเป็นเอกสารสิทธิ มีเรื่องแท้จริง 2 เรื่องคือ หนังสือสัญญากู้เงิน และบันทึกการชำระหนี้รายนี้บางส่วน จำเลยลบบันทึกดังกล่าวออกเสีย เอกสารสิทธิ มีหนังสือสัญญากู้เหลืออยู่เรื่องเดียว ดังนี้การที่จำเลยลบบันทึกออกเพื่อให้โจทก์หรือศาล หลงเชื่อว่าเอกสารสิทธิมีหนังสือกู้เงินเพียงเรื่องเดียว แสดงว่าไม่เคยผ่านการชำระหนี้กันเลย การกระทำเช่นนี้เป็นการตัดทอนหรือแก้ไขด้วยประการใดๆ ในเอกสารที่แท้จริง เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

  • อุททิศ แสนโกศก อธิบายว่าศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเรื่องทั้งสองเกี่ยวพันกัน ถ้าเป็นคนละเรื่องคงจะวินิจฉัยว่าไม่เป็นปลอมเอกสาร ถ้าบันทึกการชำระหนี้เขียนไว้ในกระดาษอีกแผ่นหนึ่งต่างหาก การลบทำลายเสียเป็นความผิดตามมาตรา 188 ไม่ผิดฐานปลอมเอกสาร ที่ว่าบันทึกเขียนไว้ในกระดาษแผ่นเดียวกับสัญญากู้ไม่น่าจะทำให้มีผลแตกต่างในทางกฎหมายถึงกับว่ามีความผิดฐานปลอมเอกสาร ถ้าเอกสาร 2 ฉบับเกี่ยวพันกันเป็นเอกสารธรรมดาฉบับหนึ่ง เอกสารสิทธิฉบับหนึ่ง และมีการลบเอกสารสิทธิทั้งฉบับ หากถือว่าเป็นการปลอมเอกสารจะเป็นการปลอมเอกสารธรรมดา การกระทำของจำเลยไม่กระทบกระเทือนเอกสารธรรมดานั้นแต่อย่างไร จะเป็นปลอมเอกสารสิทธิ การกระทำของจำเลยก็กระทบกระเทือนเอกสารสิทธินั้นโดยสิ้นเชิง คือทำให้หมดไปเลย ไม่เข้าลักษณะเดิม ตัดทอนหรือแก้ไข มีข้อสังเกตคือศาลฎีกาว่าเอกสาร 2 เรื่องนั้นเกี่ยวพันกัน ไม่ใช่ว่าต้องเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน
  • ควรสังเกตว่า บันทึกการชำระหนี้รายนี้บางส่วนนั้นอ้างถึงหนังสือสัญญากู้เงินด้วย ศาลฎีกาจึงเห็นว่า หนังสือทั้งสองเรื่องเกี่ยวพันกัน ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสองก็บัญญติไว้ว่า ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้วหรือแทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว คำว่าแทงเพิกถอนกฎหมายไม่ได้จำกัดว่า ต้องแทงเพิกถอนทั้งหมด อาจแทงเพิกถอนบางส่วนก็ได้ และการแทงเพิกถอนกฎหมายก็ไม่ได้กำหนดรูปแบบไว้ การบันทึกการชำระหนี้บางส่วนก็น่าจะเป็นการแทงเพิกถอนได้

บันทึกการชำระหนี้บางส่วนจึงเป็นได้ทั้งหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมและเป็นการแทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นบางส่วน ถ้าถือว่าเป็นการแทงเพิกถอนหนี้บางส่วนก็เป็นที่เห็นได้ชัดว่า เอกสารทั้งสองฉบับนั้นเกี่ยวพันกัน การลบเอกสารส่วนที่มีความหมายว่าสัญญากู้ถูกแทงเพิกถอนหนี้ไปบางส่วน และทำให้ความหมายในเอกสารสัญญากู้เปลี่ยนแปลงไป ย่อมกระทบกระเทือนสัญญากู้โดยตรง จึงมีผลเป็นการตัดทอนหรือแก้ไขด้วยประการใดๆ ทำให้ข้อความหรือความหมายในสัญญากู้เปลี่ยนแปลงไป เมื่อเป็นผลให้ผู้เห็นหลงเชื่อว่าสัญญากู้มีหนี้อยู่ครบจำนวนตามสัญญากู้เป็นความผิดแต่ถ้าถือว่าข้อความแยกกันมีความสมบูรณ์ในตัวของมันเอง การลงบันทึกก็ไม่เกี่ยวกับสัญญากู้และไม่เป็นความผิด และขอให้เปรียบเทียบกับคำพิพากษาฎีกาที่ 245/2507 วินิจฉัยว่าจำเลยเขียนกากบาทบนข้อความในสมุดบัญชีเงินเชื่อของผู้อื่นโดยมิได้ตัดทอนแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นให้ผิดไปจากข้อความเดิมแม้จะกระทำไปเพื่อให้คนอื่นหลงเชื่อว่าจำเลยชำระหนี้แล้วก็ตามไม่เป็นความผิดตามมาตรา 264

  • อ.ปันโน สุขทรศนีย์ อธิบายว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานปลอมเอกสารตามมาตรา264 ซึ่งไม่มีทางลงโทษเพราะการกระทำของจำเลยไม่มีอะไรที่จำเลยกระทำปลอมให้ผิดไปจากความจริง แม้จะทำให้เข้าใจว่าจำเลยกระทำไปเพื่อนให้คนอื่นหลงเชื่อว่าจำเลยชำระหนี้แล้ว แต่ถ้าฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดตามมาตรา 188 ฐานทำให้เสียหาย ทำลาย หรือไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสารอื่นใดของผู้อื่น มีปัญหาน่าคิดว่าจะผิดหรือไม่มากกว่า แต่ อ.จิตติ ติงศภัทิย์ กลับเห็นว่าถ้าคิดในแง่ที่ว่ากากบาทนั้นเป็นเอกสารอันหนึ่งที่จำเลยทำขึ้นเพื่อให้เห็นว่าเจ้าหนี้เป็นผู้ทำไว้แสดงว่าใช้หนี้แล้ว ก็น่าจะเป็นปลอมเอกสาร

คำพิพากษาฎีกาที่ 584/2508 จำเลยออกบิลขายสินค้า นำสินค้าส่งไปให้ผู้ซื้อ ผู้ซื้อตรวจถูกต้องกับจำนวนที่นำส่งแล้ว ผู้ซื้อลงลายมือชื่อในบิลส่งของแล้ว บิลจึงเป็นหลักฐานแห่งการก่อหนี้ และสิทธิเรียกร้อง จึงเป็นเอกสารสิทธิ การที่จำเลยไปเติมข้อความใบบิลหลังจากผู้ซื้อเซ็นรับของแล้ว แม้จะเป็นเอกสารที่จำเลยทำขึ้นเองก็หมดอำนาจที่จะเติมข้อความได้แล้ว เป็นปลอมเอกสาร

คำพิพากษาฎีกาที่ 230/2497 จำเลยเติมคำว่า “นครสวรรค์” ลงในสลากสุราแม่โขงปลอมเป็นข้อความอันแสดงว่าเป็นสุราที่โรงงานสุราส่งมาจำหน่ายที่นครสวรรค์ เป็นปลอมหนังสือ

คำพิพากษาฎีกาที่ 1651/2532 จำเลยเป็นนายช่างโยธากรุงเทพมหานคร แก้ไขหนังสือมอบอำนาจของผู้บังคับบัญชาที่ให้ดำเนินคดีแก่ผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารจาก มาตรา 70 เป็นมาตรา 65 ซึ่งมีอัตราโทษน้อยกว่าแล้วส่งให้พนักงานสอบสวนเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร เพราะกระทำโดยมีอำนาจและโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

คำพิพากษาฎีกาที่วินิจฉัยว่าไม่เป็นความผิด

คำพิพากษาฎีกาที่ 40/2507 เปลี่ยนรูปถ่ายในใบอนุญาตขับรถยนต์เป็นรูปคนอื่น แก้ชื่อและอายุอีกด้วย เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร แต่ถ้ารูปถ่ายที่ปิดในใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของจำเลย หลุดหายไป จำเลยจึงเอารูปของตนปิดแทนลงไป ดังนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยในฎีกาที่ 790/2483 ว่า ไม่เป็นปลอมเอกสาร เพราะไม่เป็นการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน และฎีกาที่ 213/2539 วินิจฉัยว่า การที่จำเลยนำภาพถ่ายของตนมาปิดทับลงในภาพถ่ายใบอนุญาตขับรถของตนเอง ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ แก่ผู้อื่นหรือประชาชน ไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร (ปัญหานี้เคยออกข้อสอบ)

คำพิพากษาฎีกาที่ 4/2486 ผู้รับมอบอำนาจแปลข้อความในใบมอบอำนาจ ซึ่งทำเป็นภาษาอังกฤษออกเป็นภาษาไทย เติมข้อความในคำแปลลงไปอีกว่า “มอบฉันทะให้ขายที่ดินโดยเร็ว” ดังนี้ แม้ข้อความดังกล่าวไม่มีในต้นฉบับก็ไม่เป็นความผิดเพราะเอกสารคำแปลนั้นเป็นของผู้แปลเอง ผู้ที่เห็นเอกสารนั้นไม่มีใครเข้าใจว่าเป็นใบมอบอำนาจของผู้มอบอำนาจ

คำพิพากษาฎีกาที่ 1137/2462 เติมคำว่า “ของเก่า” ลงในเอกสารไม่ทำให้เอกสารมีความหมายเปลี่ยนไปไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

คำพิพากษาฎีกาที่ 1505/2514 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 910 วรรคท้าย ให้อำนาจผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะจดวันตามที่ถูกต้องแท้จริงลงในตั๋วเงินที่มิได้ลงวันออกตั๋วไว้ได้ฉะนั้น การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบ เขียนเลขเดือนและปีเติมลงในเช็ค แม้จะทำโดยพลการ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยกระทำโดยไม่สุจริตแล้ว ก็ไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

คำพิพากษาฎีกาที่ 197/2509 โจทก์ขอออกโฉนดที่ดิน เจ้าพนักงานทำเสร็จเรียบร้อยและประกาศแจกโฉนดให้ราษฎรแล้ว โจทก์มาขอรับลงชื่อรับและเสียค่าธรรมเนียมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้มอบโฉนดให้โจทก์ไป ต่อมามีผู้มาขออายัดการออกโฉนด จำเลยจึงไม่แจกโฉนดและลบวันเดือนปีและลายมือชื่อซึ่งจำเลยลงชื่อในฐานะเจ้าพนักงานที่ดินเสีย เพราะเกรงว่าจะเป็นโฉนดที่สมบูรณ์ ดังนี้ การที่จำเลยลบวันเดือนปีและลายมือชื่อของตนเช่นนี้ไม่เป็นการปลอมเอกสาร เพราะเมื่อยังไม่ได้มอบโฉนดให้โจทก์ ถือไม่ได้ว่าที่ดินรายนี้ออกโฉนดแล้ว และโฉนดรายนี้ยังเป็นเอกสารที่อยู่ในความยึดถือหรือในความรับผิดชอบของ พนักงานเจ้าหน้าที่ และถือว่ายังอยู่ในระหว่างดำเนินการของเจ้าหน้าที่ เมื่อมีเหตุเปลี่ยนแปลง จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดำเนินการออกโฉนด ย่อมมีอำนาจที่จะแก้ไขได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 1811/2531 โจทก์ยื่นใบสมัครเข้าทำงานโดยกรอกข้อความในใบสมัครเว้นว่างไว้ในช่องเฉพาะเจ้าหน้าที่ด้านหลังใบสมัคร จำเลยซึ่งเป็นผู้อำนวยการบริษัท ได้กรอกข้อความลงในช่องดังกล่าว เมื่อโจทก์ได้รับอนุมัติให้เข้าทำงานแล้ว จำเลยกระทำไปตรงตามเงื่อนไขและข้อตกลงที่ทำไว้กับโจทก์ก่อนยื่นใบสมัครและเป็นไปตามมติที่ประชุมคณะการและระเบียบ ข้อบังคับของบริษัท ดังนี้ เป็นกรณีที่จำเลยกระทำไปโดยได้รับความยินยอมจากโจทก์ ทั้ง ข้อความที่จำเลยกรอกก็ตรงตามที่ได้ตกลงกับโจทก์ จึงไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ไม่ เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

คำพิพากษาฎีกาที่ 1568/2521 จำเลยแก้ตัวเลขในสลากกินแบ่ง 1 ตัวให้ตรงกับเลขที่ถูกรางวัลแล้ว แล้วเอาไปแสดงหลอกเพื่อนให้เพื่อนเลี้ยงอาหารกลางวัน เมื่อรับเงินแล้วจะเลี้ยงตอบมื้อเย็นเมื่อเลี้ยงอาหารกลางวันจำเลยบอกความจริง หัวเราะกันแล้วจำเลยทิ้งสลากลงถังขยะ คนในบ้านจำเลยเก็บสลากได้ เอาไปขึ้นเงินรางวัลจึงถูกจับ ดังนี้ เป็นการล้อเล่นระหว่างเพื่อนฝูงเป็นปกติไม่เกิดความเสียหายแก่ประชาชนหรือเพื่อนของจำเลย การที่มีผู้นำสลากไปรับรางวัลอยู่นอกเหนือความรู้เห็นของจำเลย ไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

  • จิตติ ติงศภัทิย์ อธิบายว่า องค์ประกอบความผิดโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ไม่ใช่การกระทำหรือเจตนาพิเศษ จึงไม่เกี่ยวกับเจตนา หากเป็นพฤติการณ์ประกอบการกระทำที่น่าจะเกิดความเสียหาย แม้ไม่เกิดขึ้นจริงๆ ก็เป็นความผิด ไม่เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยต้องรู้ตาม ป.อาญา มาตรา 59 วรรคสาม ข้อเท็จจริงที่ว่าโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายเป็นเพียงความเห็นว่า น่าจะเป็นอย่างไร โดยพิจารณาจากความผิดธรรมดาของบุคคลทั่วไปในลักษณะเดียวกับจำเลย ที่ศาลฎีกากล่าวว่าการที่มีคนเก็บสลากที่จำเลยทิ้งแล้วไปขอรับรางวัลเป็นเรื่องนอกเหนือความรู้เห็นของจำเลยนั้น หมายความว่าพิจารณาจากพฤติการณ์ของคนทั่วไปในลักษณะของจำเลย

คำพิพากษาฎีกาที่ 3944-3945/2526 โจทก์เป็นนางพยาบาลลงชื่อและเวลามาทำงานในสมุดลงชื่อมาทำงานของข้าราชการโรงพยาบาล แต่ไม่ได้อยู่ปฏิบัติงานที่โรงพยาบาล การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเสมียนการเงินเขียนข้อความต่อเติมว่า ให้มันยุติธรรมหน่อย และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้อำนวยการมีหน้าที่รับผิดชอบงานของโรงพยาบาลได้แก้ไขโดยขีดฆ่าลายมือมือชื่อและเวลามาทำงานของโจทก์ ดังนี้ไม่เกิดความเสียหายแก่ประชาชนหรือผู้อื่น ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 264,265

คำพิพากษาฎีกาที่ 734/2530 โจทก์จำเลยต่างรับราชการเป็นครูโรงเรียนเดียวกัน วันเกิดเหตุโจทก์ไปถึงโรงเรียนและลงเวลามาทำงาน 8.00 นาฬิกา จำเลยลบเวลาที่โจทก็เขียนไว้แล้วเขียนทับลงไปว่า 7.46 นาฬิกา เป็นการแก้ว่าโจทก์มาทำงานเร็วขึ้นกว่าเดิม เวลาที่โจทก์เขียนไว้เดิมและเวลาที่จำเลยแก้ยังไม่ถึงเวลาปฏิบัติราชการ ไม่เป็นการโกงเวลาราชการ ไม่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ การแก้ไขดังกล่าวไม่ใช่การกระทำของโจทก์ โจทก์ไม่อาจถูกลงโทษทางวินัยได้ โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยให้รับผิดตามมาตรา 265

คำพิพากษาฎีกาที่ 1183/2480 ท.ทำสัญญากู้เงิน ฮ. แต่ไม่มีพยาน ฮ. จึงเอาบุคคลอื่นมาลงลายมือชื่อเป็นพยานในภายหลัง ไม่ได้ความว่าอาจเกิดความเสียหายแก่ ท. หรือสาธารณชน ไม่มีความผิด

คำพิพากษาฎีกาที่ 1126/2505 ทำสัญญากู้เงินกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย แต่ไม่มีพยาน ต่อมาผู้ให้กู้จึงให้ผู้อื่นลงชื่อเป็นพยาน ท้ายสัญญากู้โดยผู้กู้ไม่รู้เห็นด้วย ดังนี้ สัญญากู้ดังกล่าวมีผลสมบูรณ์ ตามกฎหมายแล้วการที่ผู้ให้กู้นำไปให้พยานลงชื่อในภายหลังไม่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ ไม่มีความผิดตาม มาตรา 264

  • การทำลายเอกสารไม่ใช่การปลอมเอกสาร เพราะไม่ใช่เป็นการทำปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด ฯลฯ แต่อาจเป็นความผิดตามมาตรา 142,185,188

คำพิพากษาฎีกาที่ 718/2489 จำเลยไปซื้อปืนเดี่ยวลูกซองจาก ก. ผู้ได้รับอนุญาต แต่จำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืน จำเลยซื้อมาแล้วจึงขูดลบถอนทำลายดวงตราเครื่องหมาย ก.ท. 40777 ซึ่งเจ้าพนักงานได้ประทับไว้ออกเสีย แล้วนำปืนไปขอจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงาน ดังนี้ การขูดลบเครื่องหมายซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำไว้นั้น ไม่ใช่เป็นการทำหนังสือปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด ไม่มีการเติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใดๆ แต่อย่างใดเลยไม่เป็นความผิด

คำพิพากษาฎีกาที่ 381/2475 จำเลยลักเรือพายมาแล้วใสกบลบเลขทะเบียนที่กราบเรือออกหมด ไม่เป็นปลอมเอกสาร

  • ประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอม ขอให้สังเกตว่า การปลอมเอกสารของคนอื่นนั้น คนอื่นไม่จำต้องมีตัวตนอยู่ ฉะนั้นการปลอมลายมือชื่อของคนอื่น ก็ไม่จำเป็นต้องมีตัวตนอยู่จริง เพียงแต่ว่าผู้กระทำต้องมีเจตนาลงลายมือชื่อเพื่อให้ผู้ที่เห็นเอกสารเข้าใจว่าลายมือชื่อนั้นเป็นของคนอื่น
  • คำว่า “ลายมือชื่อ” ตามกฎหมายมาตรา 264 วรรคหนึ่ง นี้ต้องแปลความตามมาตรา 1(10) ซึ่งมีความหมายต่างกว่า ป.พ.พ. มาตรา 9 และมาตรา 900 วรรคสอง กล่าวคือแม้ไม่มีพยานลงลายมือชื่อรับรองก็เป็นลายมือชื่อตามมาตรานี้ การลงลายมือชื่อแทนผู้อื่นนั้นมีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1008 บัญญัติว่าภายในบังคับแห่งบทบัญญัติทั้งหลายในประมวลกฎหมายนี้ เมื่อใดลายมือชื่อในตั๋วเงินเป็นลายมือปลอมก็ดี

เป็นลายมือชื่อลงไว้โดยบุคคลซึ่งอ้างเอาเป็นเจ้าของลายมือชื่อนั้นมิได้มอบอำนาจให้ลง ท่านว่าลายมือชื่อปลอมหรือลงปราศจากอำนาจ เช่นนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้เลย ใครจะอ้างอิงอาศัยแสวงสิทธิ ท่านว่าไม่อาจจะทำได้เป็นอันขาด ฯลฯ แสดงว่าการยินยอมให้ลงลายมือชื่อแทนกันในตั๋วเงินเป็นการชอบด้วยกฎหมายแต่การยินยอมนั้นจะต้องยินยอมนั้นจะต้องยินยอมอย่างชัดแจ้ง เพราะความยินยอมไม่ก่อให้เกิดละเมิด ( VOLUNTI NON FIT INFURIA) จึงต้องชัดแจ้ง และต้องไม่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนจึงจะไม่เป็นความผิด ถ้าความยินยอมไม่ชัดแจ้งและโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนก็ต้องเป็นความผิด เพราะเป็นการกระทำที่เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 264

  • อ. จิตติ ติงศภัทิย์ อธิบายว่า การให้ไปทำกิจกรรมแทนไม่หมายถึงยอมให้ลงลายมือชื่อแทนด้วย แต่ถ้ายอมให้ทำแทนถึงขนาดลงลายมือชื่อแทนด้วย ก็ไม่เป็นปลอมเอกสาร ( เพราะไม่อาจเสียหายแก่ผู้ใด)

คำพิพากษาฎีกาที่ 561/2509 จำเลยไม่ใช่นายช่วง มาอ้างว่าเป็นนายช่วงเข้าเบิกความในฐานะนายช่วง เมื่อศาลจดคำให้การเสร็จแล้วก็ลงชื่อว่านายช่วง ดังนี้ เป็นการลงลายมือชื่อปลอมตามมาตรา 264 เท่านั้นไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารราชการตามมาตรา 265 เพราะศาลเป็นผู้จดข้อความเอง และผู้พิพากษาผู้จดก็ลงชื่อไว้เอง จำเลยเพียงแต่ลงชื่อปลอมเท่านั้นไม่เป็นความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงาน (ศาล) ผู้มีหน้าที่จดข้อความเท็จลงในเอกสารตามมาตรา 267 เพราะเมื่อจำเลยเบิกความศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจจดข้อความตอนใดหรือไม่จดก็ได้ไม่ใช่เรื่องพยานแจ้งให้ศาลจดข้อความ

คำพิพากษาฎีกาที่ 658/2513 ล.ก.พ. รู้เห็นยินยอมให้ผู้อื่นลงลายมือชื่อในใบแต่งทนายความเพื่อยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง จำเลยเอาใบแต่งทนายความไปให้ทนายความยื่นคำร้องต่อศาล ความเสียหายที่จะมีแก่ ล.ก.พ. จึงไม่มี ล.ก.พ. ไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมาย

ศาลฎีกาวินิจฉัยในปัญหาเรื่องเอกสารปลอมว่า ที่จำเลยฎีกาว่าผู้เสียหายรู้เห็นยินยอมให้เซ็นชื่อแทนได้เพื่อเอาไปร้องต่อศาลขอให้มีการเลือกตั้งใหม่นั้น เห็นว่าแม้ผู้เสียหายยินยอมให้เซ็นชื่อแทนได้ ก็ต้องถือว่าเป็นลายเซ็นปลอมอยู่นั่นเอง

แต่เมื่อจำเลยนำใบแต่งทนายความไปให้ทนายความยื่นคำร้องต่อศาล จึงเป็นการที่เห็นว่าน่าจะเกิดความเสียหายแก่ศาลในการรับคำร้องนั้นไว้พิจารณา จำเลยต้องมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอม

คำพิพากษาฎีกาที่ 1020/2517 ลงลายมือชื่อไม่มีกฎหมายให้เซ็นแทนกันได้ แม้จะมอบอำนาจก็เซ็นแทนกันไม่ได้ จำเลยเซ็นชื่อสามีจำเลยลงในสัญญามัดจำซื้อขายที่ดิน จึงเป็นการลงลายมือชื่อปลอมแต่ความผิดฐานปลอมเอกสารจะต้องมีลักษณะที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนด้วย เมื่อผู้เสียหายรู้จักชื่อและตัวสามีจำเลยผู้เป็นเจ้าของที่ดิน และรู้จักจำเลยซึ่งเป็นภริยาอยู่แล้วด้วยยังสมัครใจเข้าทำสัญญากับจำเลย และรู้เห็นว่าจำเลยลงชื่อสามีจำเลยในช่องผู้ให้สัญญาในขณะทำสัญญา พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าผู้เสียหายไม่ได้หลงผิดหรือหลงเชื่อจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะอ้างว่าได้รับความเสียหาย สามีจำเลยก็ไม่เสียหายเพราะเป็นผู้มอบอำนาจให้จำเลยไว้ จำเลยจึงไม่เป็นความผิด

ควรสังเกตว่า ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าไม่เป็นความผิดเพราะการกระทำของจำเลยไม่ได้กระทำเพื่อให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ไม่เป็นกรณีที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน จึงไม่เข้าองค์ประกอบ

ความผิดตามมาตรา 264 แต่ที่วินิจฉัยว่า ลายมือชื่อนั้นไม่มีกฎหมายให้เซ็นแทนกันได้แม้จะมอบอำนาจก็เซ็นแทนก็ไม่ได้นั้น อาจจะไม่ตรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1008

คำพิพากษาฎีกาที่ 1526/2525 ลายมือชื่อไม่มีกฎหมายให้อำนาจลงลายมือชื่อแทนกันได้ แม้เจ้าของลายมือชื่ออนุญาตหรือให้ความยินยอม ก็ลงลายมือชื่อแทนกันไม่ได้ จำเลยทำหนังสือถึงผู้จัดการสหกรณ์แจ้งให้ทราบว่า น้องสาวโจทก์เดินทางไปติดต่อต่างประเทศและขอลาออกจากสหกรณ์โดยใช้ชื่อโจทก์และลายมือชื่อโจทก์ จึงเป็นการลงลายมือชื่อปลอมในเอกสารตามมาตรา 264 แต่เมื่อจำเลยทำหนังสือดังกล่าวโดยความยินยอมของโจทก์ โจทก์จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะได้รับความเสียหายและสหกรณ์ก็ไม่ได้รับความเสียหาย จำเลยจึงไม่มีความผิดตามมาตรา 264 (ดูฎีกาที่ 1020/2517)

คำพิพากษาฎีกา 1403/2536 จำเลยกรอกข้อความและลงลายมือชื่อในช่องพนักงานเก็บเงินของกรุงเทพมหานคร และลงลายมือชื่อปลอมพร้อมประทับตราของบุคคลอื่นลงในใบเสร็จรับเงิน เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงโดยปราศจากอำนาจ จึงเป็นการปลอมเอกสาร

คำพิพากษาฎีกาที่ 102/2472 จำเลยกับ ก. เป็นครูโรงเรียนเดียวกัน เคยผลัดเปลี่ยนกันให้อีกฝ่ายหนึ่งเบิกเงินเดือนของตนไปใช้เพื่อให้ได้เงินรวมคราวละมากๆ การผลัดเปลี่ยนกันนี้ต่างฝ่ายได้ทำใบมอบฉันทะให้แก่กัน คราวเกิดเหตุนี้จำเลยทำใบมอบฉันทะปลอมขึ้นลงชื่อ ก. เอาเอง แล้วนำไปรับเงินเดือนโดยถือวิสาสะว่าถึงแม้ ก. จะรู้ก็ไม่ว่ากระไร และ ก. มาเบิกความเป็นพยานว่า หากรู้ว่าจำเลยได้เบิกเงินเดือนของตนไป ก. จะไม่เบิกซ้ำอีก ดังนี้ ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง เพราะไม่มีเจตนาทุจริต แต่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร เพราะจำเลยมีเจตนากระทำแล้ว (และน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน)

  • อ.จิตติ ติงศภัทิย์ อธิบายว่า ตามกฎหมายมาตรานี้ หากทำโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้หลงว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ไม่ต้องถึงกับทุจริต เหตุนี้แม้จะทำโดยวิสาสะ แม้เจ้าของลายมือชื่อก็ไม่ว่าอะไร ก็ยังเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

คำพิพากษาฎีกาที่ 167/2517 จำเลยกู้เงินผู้เสียหายแล้วทำหนังสือสัญญากู้ลงลายมือชื่อผู้อื่นในช่องผู้กู้ ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้กู้ การกระทำของจำเลยเป็นการทุจริต เพื่อจะให้ได้เงินที่กู้ไปแต่มิให้ผู้เสียหายใช้สัญญากู้นั้นเป็นหลักฐานฟ้องเรียกคืนจากจำเลย ทำให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหาย จำเลยจึงมีความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิเมื่อจำเลยได้มอบสัญญากู้ให้ผู้เสียหายยึดถือไว้ จำเลยจึงมีความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมอีกกระทงหนึ่ง

คำพิพากษาฎีกาที่ 6966/2537 จำเลยกับพวกหลอกลวงโจทก์ร่วมว่า พวกของจำเลยคือผู้มีชื่อและขอกู้ยืมเงินโจทก์ร่วม โดยทำสัญญากู้ยืมเงินกับมอบโฉนดที่ดินที่ผู้มีชื่อดังกล่าวเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ให้โจทก์ร่วมยึดถือไว้ โดยมีเจตนาทุจริตเพื่อให้ได้เงินจากโจทก์ร่วม และมิให้โจทก์ร่วมใช้สัญญากู้เงินนั้นเป็นหลักฐานฟ้องเรียกเงินคืน จึงมีความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ เมื่อจำเลยกับพวกมอบสัญญากู้ยืมเงินให้โจทก์ร่วม จึงมีความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิอีกกระทงหนึ่ง

คำพิพากษาฎีกาที่ 613/2540 จำเลยเป็นผู้ปลอมลายมือชื่อของ ส. ในใบคำขอใช้บริการบัตร เอ.ที.เอ็ม แล้วนำมายื่นต่อโจทก์ร่วม เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมออกบัตรกรุงศรี เอ.ที.เอ็ม. ส่งมาให้ธนาคารโจทก์ร่วม สาขา ท.

แล้วจำเลยลักบัตรนั้นรวมทั้งซองบรรจุรหัสเพื่อใช้กับบัตรกรุงศรี เอ.ที.เอ็ม. ในชื่อของ ส. ไป ต่อจากนั้นจำเลยได้นำบัตรกรุงศรี เอ.ที.เอ็ม. ดังกล่าวไปถอนเงินของโจทก์ร่วมที่เป็นนายจ้างของจำเลยจากเครื่องฝาก-ถอนอัตโนมัติครั้งละ 10,000บาท รวม 16 ครั้ง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 264 วรรคแรก,268 วรรคแรก,335(11) วรรคสอง

  • เอกสารที่แท้จริงหากนำไปใช้ผิดที่หรือติดผิดที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 264 วรรคแรกหรือไม่ โปรดสังเกตคำพิพากษาศาลฎีกาต่อไปนี้ วินิจฉัยว่า ไม่เป็นความผิดเพราะจำเลยไม่ได้กระทำปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด ไม่ได้เติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริงไม่ได้ประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสารนั้น จึงขาดองค์ประกอบที่สำคัญ ตามมาตรา 264 วรรคแรก แม้จะนำไปใช้โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน หรือเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงก็ไม่เป็นความผิด

คำพิพากษาฎีกาที่ 728/2509 จำเลยเอาหลักเขตที่ดินของทางราชการสำหรับที่ดินของจำเลยไปปักที่ ที่ดินอีกแปลงหนึ่ง เพื่อหลอกให้ผู้ซื้อเข้าใจว่าที่ดินแปลงนั้นเป็นของจำเลย ดังนี้ไม่ผิดฐานปลอมเอกสาร เพราะหลักเขตดังกล่าวไม่ใช่หลักเขตปลอม ผิด มาตรา 141

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาเฉพาะฎีกาโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานใช้เอกสารปลอมหรือไม่เท่านั้น ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ไม่เป็นความผิดฐานใช้เอกสารปลอมและเพียงแต่จำเลยเอาหลักเขตดังกล่าวซึ่งไม่ใช่หลักเขตที่ดินโฉนดที่ 8996 มาปักลงในที่ดินโฉนดที่ 8996 จะถือว่าหลักเขตนั้นปลอมและการกระทำเป็นความผิดฐานใช้เอกสารปลอมดังฎีกาโจทก์ไม่ได้ แต่เหตุผลที่ชัดแจ้งก็คือ จำเลยไม่ได้ทำปลอมขึ้นทั้งฉบับ เติมหรือตัดทอนข้อความ ฯลฯ หรือลงลายมือปลอมจึงไม่เป็นความผิด แม้จะนำไปใช้โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน และเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นหลักเขตที่แท้จริงก็ไม่มีความผิด

******เรื่องการปลอมแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์, รถจักรยานยนต์ มีข้อสังเกตดังนี้******

ประการแรก ถ้าเป็นแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ที่แท้จริงที่ทางราชการออกให้ไม่ใช่ป้ายทะเบียนปลอม แม้จะนำไปใช้กับรถคันอื่นที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือเป็นรถผิดกฎหมายก็ไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร และใช้เอกสารปลอม เหตุผลก็คือการปลอมเอกสารแผ่นป้ายทะเบียนนั้น ต้องเป็นการทำแผ่นป้ายทะเบียนขึ้น โดยมีเจตนาให้ผู้พบเห็นเชื่อว่าเป็นแผ่นป้ายทะเบียนที่แท้จริงที่ทางราชทำขึ้น

สำหรับความผิดฐานใช้เอกสารปลอมนั้น ส่วนที่จะทำให้เกิดความผิดก็คือตัวเอกสารนั้นจะต้องเป็นเอกสารปลอมเสียก่อน

คำพิพากษาฎีกาที่ 1141/2523 จำเลยเอาป้ายทะเบียนรถยนต์หมายเลข ส.ฎ.00890 ของรถยนต์ยี่ห้อเฟียตมาติดใช้กับรถยนต์ของกลาง เมื่อป้ายทะเบียนรถยนต์ดังกล่าวเป็นเอกสารแท้จริงที่ราชการทำขึ้น ไม่ใช่เอกสารปลอม จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสาร และการที่จำเลยนำป้ายทะเบียนนั้นมาใช้กับรถยนต์ของกลาง

เพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่ารถยนต์ของกลางเป็นรถยนต์หมายเลขทะเบียน ส.ฎ. 00890 จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอม

คำพิพากษาฎีกาที่ 510/2530 จำเลยตัดเลขหมายประจำคัสซีรถคันสีแดงมาติดที่รถคันสีฟ้า คือตัดเป็นแผ่นไม่ได้แก้ตัวเลขมาต่อเพื่อแสดงว่าเป็นคัสซีที่ถูกต้อง เมื่อเลขหมายประจำคัสซีเป็นหมายเลขที่แท้จริง แม้จะนำไปติดกับรถยนต์คันอื่นก็ไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสาร

คำพิพากษาฎีกาที่ 367/2520 รถยนต์ของจำเลยยังไม่ได้นำไปจดทะเบียนและเสียภาษีตามพระราชบัญญัติรถยนต์ และป้ายทะเบียนรถยนต์ของกลางไม่ใช่ป้ายของเจ้าพนักงานที่จัดไว้กับตัวรถเป็นป้ายทะเบียนปลอม จำเลยไม่มีสิทธิที่จะใช้ป้ายเลขทะเบียนรถซึ่งแสดงว่าได้มีการจดทะเบียนและเสียภาษีต่อทางราชการตำรวจแล้วกับรถยนต์ของจำเลย จำเลยจึงมีความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอม

  • อ. จิตติ ติงศภัทิย์ อธิบายว่า ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ให้เจ้าพนักงานทำป้ายทะเบียนขึ้น ป้ายทะเบียนจึงเป็นเอกสารราชการ มาตรา 264 บัญญัติว่า ถ้าได้กระทำให้ผู้อื่นผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารแท้จริงจึงเป็นความผิด การที่คนทำป้ายขึ้นแทน (ป้าย) ของเจ้าพนักงาน ถ้าไม่ใช่ทำขึ้นให้หลงเชื่อว่าเป็นป้ายอันเดิมที่เจ้าพนักงานทำขึ้น ไม่ทำให้เป็นว่าป้ายที่แท้จริง จึงไม่เป็นปลอมเอกสาร เอกสารปลอมกับเอกสารเท็จต่างกับเอกเท็จอาจไม่ปลอม เอกสารปลอมอาจไม่เท็จหรือเป็นเอกสารทั้งปลอมทั้งเท็จแล้วแต่เรื่อง

คำพิพากษาฎีกาที่ 317/2521 จำเลยเขียนหมายเลขทะเบียนรถจักรยานยนต์ของผู้อื่นลงไว้ในแผ่นป้ายเหล็กท้ายรถจักรยานยนต์ของกลาง แม้จะเขียนหมายเลขดังกล่าวด้วยตนเองโดยมีลักษณะขนาดตัวหนังสือและตัวเลขไม่เหมือนกับป้ายหมายเลขทะเบียนที่แท้จริง ซึ่งกรมตำรวจจัดทำขึ้น แต่เมื่อจำเลยกระทำด้วยเจตนาทำเทียมเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง และโดยลักษณะที่อาจเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนแล้ว ก็เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร เมื่อจำเลยใช้รถที่ปิดป้ายดังกล่าวขับขี่จึงเป็นความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอมด้วย

ข้อสังเกตประการที่ 2 การทำแผ่นป้ายทะเบียนรถขึ้นเอง โดยมีลักษณะตัวเลขและตัวอักษรเหมือนกับเอกสารที่แท้จริงทางราชการทำขึ้น ถือว่าเป็นการปลอมแต่จะเป็นความผิดฐานปลอมต้องพิจารณาว่ามีลักษณะที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือไม่ ถ้าไม่มีลักษณะที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นแล้วก็ไม่เป็นความผิด

คำพิพากษาฎีกาที่ 2241/2523 แผ่นป้ายทะเบียนหมายเลข ต.ร. 01839 ของกลางเป็นหมายเลขทะเบียนที่ทางราชการออกให้กับรถยนต์ของจำเลยที่ถูกชนพังใช้การไม่ได้ แม้แผ่นป้ายดังกล่าวจำเลยเป็นผู้กระทำขึ้นเพื่อใช้แทนแผ่นป้ายอันแท้จริงซึ่งทางราชการต้องเป็นผู้ทำและมอบให้เจ้าของรถก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติหากทางราชการยังไม่มีแผ่นป้ายทะเบียนให้ ก็อนุโลมให้ถือว่าเป็นแผ่นป้ายทะเบียนโดยชอบแต่จะนำป้ายทะเบียนของกลางไปใช้กับรถยนต์คันอื่นไม่ได้ การที่จำเลยนำแผ่นป้ายหมายเลขทะเบียนดังกล่าวไปติดเพื่อใช้กับรถยนต์ของกลางโดยมีเจตนาแสดงให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่ารถยนต์คันของกลางซึ่งเป็นรถที่ผิดกฎหมายเป็นรถที่มีทะเบียนถูกต้อง จึงเห็นได้ว่าแผ่นป้ายทะเบียนหมายเลข ต.ร.ที่จำเลยทำขึ้นมานั้นหาได้นำไปใช้กับรถยนต์คันของตนที่ได้รับอนุญาตไม่ หากนำไปใช้เป็นหมายเลขทะเบียนปลอมของรถยนต์ของกลางโดยประการที่น่าเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนให้หลงเชื่อว่าแผ่นป้ายหมายเลขทะเบียนนั้นเป็นเอกสารอันแท้จริงที่ทางราชการออกให้ใช้กับรถยนต์คันของกลาง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอม

  • อ.จิตติ ติงศภัทิย์ อธิบายว่า ข้อน่าคิดคือถ้าคนหนึ่งเอาป้ายของทางราชการสำหรับรถยนต์คันหนึ่งไปติดรถยนต์อีกคันหนึ่งจะเป็นปลอมเอกสารหรือไม่

คำตอบก็คือไม่มีความผิดตาม คำพิพากษาฎีกาที่ 1141/2523, 3078/2524, 510/2530 เพราะป้ายทะเบียนดังกล่าวเป็นป้ายหรือเอกสารที่แท้จริงของทางราชการ จำเลยไม่ได้ทำป้ายหรือปลอมเอกสารขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด ไม่ได้เติม หรือตัดทอนข้อความ ไม่ได้แก้ไขด้วยประการใด ๆ ในป้ายหรือเอกสารที่แท้จริง ไม่ได้ประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอม จึงขาดองค์ประกอบความผิด เป็นการตีความอย่างแคบ แต่ถ้าตีความอย่างกว้างว่า เมื่อจำเลยมีเจตนาไม่สุจริตกระทำโดยมีเจตนาจะให้ผู้ที่เห็นป้ายและรถยนต์แล้วเข้าใจว่ารถยนต์คันดังกล่าวได้จดทะเบียนเสียภาษีถูกต้องและได้หมายเลขทะเบียนดังที่ปรากฏในป้ายจึงเป็นการทำปลอมเอกสารทั้งฉบับก็อาจลงโทษได้

โปรดสังเกตด้วยว่า คำพิพากษาฎีกาที่ 367/2520 , 317/2511, 2241/2523 ,2457/2517 ป้ายทะเบียนที่จำเลยนำมาติดไม่ใช่ป้ายที่ทางราชการทำขึ้น ศาลฎีกาจังลงโทษเพราะถือว่าเป็นการปลอมทั้งฉบับและกระทำโดยเจตนาเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นป้าย (เอกสาร) ที่แท้จริงครบองค์ประกอบความผิด

คำพิพากษาฎีกาที่ 2457/2524 แผ่นป้ายทะเบียนหมายเลข 7 ข-9993 ของกลางไม่ใช่แผ่นป้ายที่กองทะเบียนกรมตำรวจให้มา จำเลยนำแผ่นป้ายนี้ไปติดไว้กับรถจักรยานยนต์คันที่จำเลยครอบครองและใช้ขับขี่แทนแผ่นป้ายทะเบียนรถเดิมซึ่งมีหมายเลขทะเบียนไม่ตรงกัน เพื่อปิดบังไม่ให้ผู้ให้เช่าซื้อมายึดเอารถคืนไป ดังนี้ เป็นการกระทำในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น มีความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอม

  • อ.จิตติ ติงศภัทิย์ อธิบายว่า เอกสารที่แท้จริงกับการแสดงข้อความเท็จมีความหมายต่างกันไกล เอาเอกสารที่แท้จริงไปใช้แสดงความที่เป็นเท็จ จะเป็นใช้เอกสารปลอมได้อย่างไร

โปรดสังเกตว่าตามฎีกาที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยมีความผิดนั้น เพราะป้ายทะเบียนเป็นป้ายที่เอกชนทำขึ้นไม่ใช่ป้ายที่ทางราชการทำขึ้นจึงไม่ใช่เอกสารที่แท้จริง แม้ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 2241/2523 จะเป็นป้ายที่ทางราชการอนุโลมให้ทำขึ้นเองเพราะทางราชการทำให้ไม่ทันก็ยังเป็นป้ายที่เอกชนทำขึ้น ไม่ใช่ป้ายที่ทางราชการทำขึ้น ป้ายดังกล่าวจึงไม่ใช่เอกสารที่แท้จริง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้นำป้ายดังกล่าวไปติดที่รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์เพื่อแสดงให้คนที่เห็นป้ายดังกล่าวเข้าใจว่ารถยนต์คันดังกล่าวเป็นรถยนต์ที่จดทะเบียนและเสียภาษีโดยชอบแล้วก็ดี เขียนหมายเลขทะเบียนรถจักรยานยนต์ของผู้อื่นลงไว้ที่แผ่นเหล็กท้ายรถจักรยานยนต์เพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่ารถจักรยานยนต์คันดังกล่าวเป็นรถที่ได้จะทะเบียนถูกต้องตามหมายเลขทะเบียนที่เขียนไว้นั้นก็ดี เพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่ารถยนต์คันดังกล่าวเป็นรถผิดกฎหมาย เป็นรถที่มีทะเบียนถูกต้อง (ตามกฎหมาย) ก็ดี หรือเพื่อให้ผู้ที่พบเห็นเข้าใจว่ารถจักรยานยนต์คันดังกล่าวมีหมายเลขทะเบียนตามป้ายทะเบียนนั้นเพื่อปิดบังไม่ให้ผู้ให้เช่าซื้อมายึดรถจักรยานยนต์คืนไปก็ดี จึงเป็นการกระทำที่ปลอมป้ายทะเบียน (เอกสาร) ทั้งฉบับ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน และได้

กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงจึงเข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 264 วรรคแรก

คำพิพากษาฎีกาที่ 2995/2537 ป้ายทะเบียนรถยนต์หมายเลข กท-9ง-9999 ที่แท้จริงเป็นเอกสารราชการที่ทางราชการได้ทำขึ้นและอนุญาตให้ใช้แก่รถจักรยานยนต์ฮอนด้าของผู้อื่น จำเลยได้นำแผ่นกระดาษซึ่งเขียนข้อความให้เหมือนแผ่นป้ายทะเบียนหมายเลข กท- 9ง -9999 ดังกล่าวแล้วนำไปใส่กรอบโลหะติดไว้กับรถจักรยานยนต์ของจำเลยซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการขอหมายเลขทะเบียนจากทางราชการ ดังนี้ แผ่นป้ายทะเบียนดังกล่าวเป็นเพียงแผ่นกระดาษ แม้จะพิมพ์ข้อความและตัวเลขว่า กท-9ง-9999 ก็ตาม แต่ไม่ได้ทำขึ้นเช่นโลหะเช่นของทางราชการ ทั้งยังปรากฏข้อความอย่างอื่นอยู่ในแผ่นกระดาษนั้น กล่าวคือ มีคำว่าคุ้มครองป้ายทะเบียน และ ห.จ.ก. รวมการช่าง ผู้ถือสิทธิบัตรเลขที่ 1091 อยู่ด้วย อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าเป็นป้ายที่ใช้เป็นตัวอย่างในการโฆษณาการจัดทำป้ายทะเบียนรถจักรยานยนต์เพื่อจำหน่ายของห้างร้านผู้จัดจำหน่าย กรณีจึงไม่ใช่ทำปลอมเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง เอกสารดังกล่าวจึงไม่เป็นเอกสารปลอม แม้จำเลยจะนำไปติดไว้กับรถจักรยานยนต์ของจำเลย จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานใช้เอกสารปลอม

ขอให้สังเกตว่า ตามคำพิพากษาฎีกาฉบับนี้คนที่เห็นแผ่นป้ายของกลางแล้วเข้าใจได้ว่าไม่ใช่ป้ายที่แท้จริงของทางราชการ ศาลฎีกาจึงฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่มีเจตนา “ทำเอกสารปลอมเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง” จึงขาดองค์ประกอบความผิด ต่างกับฎีกาก่อนๆ ซึ่งวินิจฉัยว่า จำเลยนำป้ายดังกล่าวไปติดที่รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์โดยมีเจตนาให้คนที่เห็นป้ายดังกล่าวเข้าใจว่ารถยนต์หรือรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวเป็นรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่จะทะเบียนและเสียภาษีแล้ว และได้รับหมายเลขทะเบียนโดยชอบแล้ว ข้อเท็จจริงในคำพิพากษาฎีกาตามที่ศาลฎีกาวินิจฉัยต่างกัน ดังนั้น การวินิจฉัยข้อกฎหมายจึงต่างกันไปด้วย

***สรุปแนวคำพิพากษาฎีกาเกี่ยวกับแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ ***

  1. ป้ายทะเบียนรถที่ทางราชการทำและออกให้แต่นำไปใช้ติดกับรถยนต์คันอื่นโดยมีเจตนาให้หลงเชื่อว่าเป็นรถที่มีป้ายทะเบียนดังกล่าว ไม่ผิดฐานปลอมหรือใช้เอกสารทางการปลอมเพราะป้ายทะเบียนรถนั้นเป็นเอกสารที่แท้จริงไม่ใช่เอกสารปลอม
  2. ป้ายทะเบียนรถที่ไม่ใช่ทางราชการออกให้ถ้านำไปใช้ติดกับรถคันที่เป็นของตนตรงตามทะเบียนนั้น ไม่ผิดฐานปลอมหรือใช้เอกสารราชการปลอม เพราะไม่เกิดความเสียหายแก่ประชาชนหรือผู้อื่น ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสาร
  3. ป้ายทะเบียนรถที่ไม่ใช่ทางราชการออกให้ถ้านำไปใช้ติดกับรถคันอื่นไม่ตรงตามหมายเลขทะเบียนที่แท้จริงในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนหรือผู้อื่น ผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอม

คำพิพากษาฎีกาที่ 2384/2534 พ. เจ้าของใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ยอมให้จำเลยเปลี่ยนภาพถ่ายของตนในใบขับขี่ดังกล่าวเป็นของคนอื่นไปแสดงระหว่างกันเองเพื่อพนันหาเจ้ามือเลี้ยงสุรากัน พ. จึงไม่ได้รับความเสียหายทั้งไม่น่าก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด เมื่อจำเลยมิได้แสดงออกเพื่อให้ผู้ที่พบเห็นหลงเชื่อว่าตนคือ พ. ผู้ได้รับอนุญาตขับขี่ดังกล่าว จึงไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารราชการ

  • คำว่า “โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย” นั้น อ.จิตติ ติงศภัทิย์ อธิบายว่า จะต้องเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะข้อความแห่งเอกสารนั้น ไม่ใช่เพราะทำเอกสารขึ้นหลายฉบับ เช่นพิมพ์หนังสือละเมิดลิขสิทธิ์ ความเสียหายในกรณีเช่นนี้ไม่ได้เกิดเพราะข้อความที่พิมพ์ขึ้น แต่เสียหายเพราะจำนวนที่พิมพ์ขึ้นโดยไม่มีสิทธิ ทำให้เจ้าของ ลิขสิทธ์เสียหาย แต่ถ้าพิมพ์ให้ผิดจากต้นฉบับเดิมเพื่อให้เข้าใจว่าเป็นข้อความที่ผู้แต่งเขียนไว้ดังที่พิมพ์ให้ผิด หรือแก้ไขข้อความเสีย ทำให้เข้าใจว่าเป็นข้อความของผู้แต่งเดิม เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

คำพิพากษาฎีกาที่ 466/2478 พิมพ์คัดลอกหนังสือนิวเมทแอร์ครัดเดอร์ ขึ้นทั้งฉบับไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร (เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากข้อความแห่งเอกสารนั้น)

คำพิพากษาฎีกาที่ 3732/2525 โจทก์ฟ้องว่า จำเลยร่วมกันปลอมอำนาจของเจ้าของที่ดินขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ พนักงานเจ้าหน้าที่หลงเชื่อใบมอบอำนาจได้รังวัดไต่สวนแล้วออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทับที่ดินพิพาทของโจทก์ ทำให้โจทก็เสียหาย ดังนี้ ผู้ได้รับความเสียหายมีอำนาจฟ้องคือเจ้าของที่ดิน เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นสำหรับความผิดฐานปลอมเอกสารต้องเป็นความเสียหายที่เกิดจากการเสียที่ดินเป็นเรื่องของการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่มีการนำชี้ทับที่ดินของโจทก์เป็นคนละกรณีกับการปลอมใบมอบอำนาจ

คำพิพากษาฎีกาที่ 96/2523 จำเลยพิมพ์ปกหนังสือแบบเรียน ก.ไก่ อนุบาล ซึ่งโจทก์ร่วมมีลิขสิทธิ์เป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าเป็นการกระทำส่วนหนึ่งของการพิมพ์คัดลอกหนังสือแบบเรียน ก.ไก่ อนุบาล ของโจทก์ร่วมขึ้นใหม่ทั้งเล่ม เพื่อขายอันเป็นเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งมีกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดไว้โดยเฉพาะไม่ใช่ลักษณะของการปลอมเอกสารตามมาตรา 264 แต่การที่จำเลยเอาเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมมาพิมพ์ไว้ที่ปกหนังสือของกลาง แสดงว่าเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าหนังสือที่ใช้ปกดังกล่าวเป็นสินค้าของโจทก์ร่วมเป็นความผิดตามมาตรา 272

โปรดสังเกตว่า เหตุที่ไม่เป็นความผิดก็เพราะความเสียหายเกิดขึ้นจากการที่จำเลยพิมพ์โดยไม่มีสิทธิเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่ได้เกิดจากข้อความในเอกสาร เหตุผลที่ศาลฎีกาอ้างไม่ตรงตามตัวบทมาตรา 264

คำพิพากษาฎีกาที่ 1784/2513 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานปลอมและใช้เอกสารปลอมแต่ไม่ได้ระบุว่าการที่จำเลยปลอมเอกสารขึ้นนั้นน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน และแม้จะอ่านคำบรรยายฟ้องโจทก์โดย ตลอดก็ไม่อาจทราบความหมายนี้ได้ ฟ้องโจทก์ไม่ครบองค์ความผิดตามกฎหมายที่โจทก์ขอให้ลงโทษ

คำพิพากษาฎีกาที่ 618-619/2539 ตามคำฟ้องของโจทก์ฐานปลอมเอกสาร โจทก์บรรยายฟ้องมีใจความสำคัญแต่เพียงว่า จำเลยกับพวกร่วมกันปลอมเอกสารซึ่งเป็นหนังสือมอบอำนาจรวม 2 ฉบับ โดยกรอกข้อความลงในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวซึ่งมีลายมือชื่อของนาย ย. โดยไม่ได้รับความยินยอมเท่านั้น มิได้บรรยายว่าจำเลยกระทำเพื่อนำเอาเอกสารไปใช้ในกิจการที่อาจเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชนจึงขาดองค์ประกอบความผิด

ขอให้สังเกตว่าฎีกาทั้งสองฉบับนี้อธิบายชัดเจนว่า คำว่าโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนเป็นองค์ประกอบความผิดที่สำคัญของความผิดฐานปลอมเอกสาร ต้องบรรยายมาในฟ้อง

  • คำว่า “น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน” นั้น อ. จิตติ ติงศภัทิย์ อธิบายว่า เป็นพฤติการณ์ประกอบการกระทำมิใช่ผลที่ต้องเกิดจากการกระทำ เพียงแต่น่าจะเกิดแต่ไม่เกิดก็เป็นความผิดสำเร็จ ถ้าไม่น่าจะเกิดความเสียหายก็ไม่เป็นความผิด แม้ในฐานพยายามก็ไม่เป็นความผิด เมื่อไม่ใช่ผลของการกระทำก็ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ของเจตนาว่าประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลข้อเท็จจริงประกอบองค์ความผิดประการหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 769/2540 วินิจฉัยว่า ข้อความที่ว่าโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ตามข้อ มาตรา 264 นั้น ไม่ใช่การกระทำโดยแท้ และไม่ใช่เจตนาพิเศษจึงไม่เกี่ยวกับเจตนา แต่เป็นพฤติการณ์ที่ประกอบการกระทำที่น่าจะเกิดความเสียหายได้ แม้จะไม่เกิดความเสียหายขึ้นจริง ก็เป็นองค์ประกอบความผิดที่พิจารณาได้จากความคิดธรรมดาของบุคคลทั่วไปในลักษณะเดียวกับจำเลย ส่วนคำว่าผู้หนึ่งผู้ใดในข้อความที่ว่า ได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงนั้น แสดงว่านอกจากเป็นการกระทำโดยเจตนาแล้วยังต้องมีเจตนาพิเศษในการกระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง โดยมิได้เจาะจงผู้ที่ถูกกระทำให้หลงเชื่อไว้โดยเฉพาะว่าจะต้องเป็นผู้ใด ดังนั้น การที่จำเลยมีเจตนากระทำเอกสารปลอมขึ้นเพื่อให้ ค. หลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงก็เป็นความผิดแล้ว แม้จำเลยยังไม่ได้นำเอกสารดังกล่าวไปใช้แสดงต่อ ค. ก็ตาม

คำพิพากษาฎีกาที่ 41217/2536 การที่จำเลยที่ 2 นำใบรับเงินปลอมไปอ้างต่อพนักงานสอบสวนว่าโจทก์ได้รับเงินตามใบรับเงินดังกล่าว เป็นการกระทำอันเป็นเหตุที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์แล้วไม่ว่าพนักงานสอบสวนจะเชื่อว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่แท้จริงหรือไม่ก็ตาม

ใบรับเงินเป็นเอกสารสิทธิตามมาตรา 265 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 268 ประกอบมาตรา 264 เป็นการปรับบทลงโทษไม่ถูกต้อง เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความจะไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามมาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วย มาตรา 225 แต่โจทก์ไม่ได้ฎีกาขอให้เพิ่มโทษจำเลย ศาลฎีกาคงมีอำนาจปรับบทให้ถูกต้องเท่านั้น

คำพิพากษาฎีกาที่ 5932/2538 การที่โจทก์แก้ไขจำนวนเงินในสัญญากู้โดยการขีดฆ่าตัวเลขและตัวอักษรจากจำนวน 25,700 บาท เป็นจำนวน 20,200 บาทและลงชื่อกำกับไว้เพื่อให้ตรงกับความจริงไม่น่าจะเกิดความเสียหายแก่จำเลย เพราะโจทก์แก้ไขจำนวนเงินกู้ให้ลงลงจากเดิมเป็นประโยชน์แก่จำเลย สัญญากู้จึงไม่เป็นเอกสารปลอม รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 403/2526 การ์ดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเป็นเอกสารที่ธนาคารจัดทำขึ้นเป็นหลักฐานของธนาคารเอง แสดงการเป็นลูกหนี้เจ้าหนี้ที่มีต่อเจ้าของบัญชีตามรายการที่แสดงไว้ การที่จำเลยที่ 2 ผู้รักษาการในตำแหน่งสมุห์บัญชีและจำเลยที่ 3 ผู้จัดการธนาคารแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนเงินฝากในการ์ดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของโจทก์ที่ธนาคาร โดยโจทก์มิได้นำเงินเข้าบัญชีตามรายการนั้น การแก้ไขรายการเช่นนี้มิได้ทำให้โจทก์เสียสิทธิที่มีต่อธนาคาร โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาฎีกาที่ 204/2505 โจทก์ทำสัญญาซื้อที่ดินกับผู้อื่นและให้มัดจำไว้แล้ว ต่อมาจำเลยทำสัญญาขึ้นฉบับหนึ่งแบบเดียวกับที่โจทก์ทำซึ่งเป็นเท็จว่า จำเลยเป็นผู้ซื้อที่ดินรายดังกล่าวและให้เงินมัดจำไว้แล้ว และนำสัญญาซื้อขายและโฉนดที่ดินซึ่งโจทก์มอบให้จำเลยไว้ไปแสดงเพื่อขอกู้เงินกับผู้อื่น ดังนี้ เอกสารที่จำเลยทำขึ้นถ้าจะ

เกิดความเสียหายก็จะเกิดแก่ผู้ที่จำเลยไปกู้เงิน โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายแต่ประการใด สัญญาที่จำเลยทำก็ไม่ได้ปลอมชื่อโจทก์ กรณีไม่เกี่ยวกับโจทก์ โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้อง

ขอให้สังเกตว่าเอกสารนั้นเป็นเอกสารปลอมทั้งฉบับ แต่ศาลไม่ลงโทษจำเลยเพราะโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ซึ่งเป็นปัญหาในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4), 28(2)

  • การกระทำความผิดตามมาตรานี้ต้องมีเจตนาพิเศษ คือ กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง อ.จิตติ ติงศภัทิย์ อธิบายว่า ทำศิลาจารึก ไม่ลวงให้เข้าใจว่าเป็นของแท้ไม่เป็นปลอมเอกสาร ข้อความตามมาตรา 264 เปลี่ยนมาจากมาตรา 223 แห่งกฎหมายลักษณะอาญาเดิมที่ว่า ได้ปลอมใช้เป็นหนังสือที่แท้จริง ซึ่งศาลฎีกาตีความว่าต้องมีการใช้จึงจะเป็นความผิดตามกฎหมายใหม่นี้ หากทำโดยเจตนาพิเศษเพื่อให้หลงว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง แม้ยังไม่ได้ใช้ก็เป็นความผิด เจตนาให้หลงว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงไม่ต้องถึงกับทุจริต เหตุนี้แม้จะทำโดยถือวิสาสะ แม้เจ้าของลายมือชื่อที่แท้จริงรู้ไม่ว่ากล่าวเอาความ ไม่เป็นเจตนาทุจริตก็ยังเป็นความผิดได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 398/2484 กำนันลงลายมือชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือลูกบ้านในตั๋วพิมพ์รูปพรรณกระบืออันเป็นลายมือปลอม โดยกำนันเชื่อว่าเป็นลายมือชื่อที่แท้จริง ไม่มีความผิดฐานนี้

คำพิพากษาฎีกาที่ 1115/2480 เสมียนเทศบาลเขียนชื่อว่าห่วงลงในบัญชีจำหน่ายสลากกินแบ่งไม่ได้เจตนาปลอมให้หลงว่านายห่วงลงชื่อไว้เอง ไม่เป็นความผิด

คำพิพากษาฎีกาที่ 70/2489 ผู้คุมทำบัญชีไม่เรียบร้อย จึงแก้บัญชีต่อหน้าพัศดีไม่มีเจตนาปลอมให้หลงว่าแก้ไว้แต่เดิม ไม่มีความผิด

คำพิพากษาฎีกาที่ 1079/2491 แก้บัญชีที่ตนเองทำขึ้นไม่มีอำนาจแก้แต่การแก้หยาบๆ ไม่เจตนาพรางตาว่าเป็นข้อความจริงแต่เดิม ไม่เป็นความผิด

คำพิพากษาฎีกาที่ 1654/2503 ทำประกาศนียบัตรปลอมเอามาให้ดูเป็นตัวอย่างไม่ลวงให้ผู้ซื้อหลง ก็เป็นการทำขึ้นเพื่อให้ใครคนหนึ่งหลงว่าเป็นของแท้ แม้ผู้ที่จะถูกลวงให้หลงนั้นยังไม่ได้เห็นประกาศนียบัตรนั้นก็เป็นเอกสารปลอม

คำพิพากษาฎีกาที่ 769/2540 วินิจฉัยว่า คำว่าผู้หนึ่งผู้ใดในข้อความที่ว่า “ได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง” นั้น แสดงว่านอกจากเป็นการกระทำโดยเจตนาแล้วยังต้องมีเจตนาพิเศษในการกระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงด้วย โดยมิได้เจาะจงผู้ที่ถูกกระทำให้หลงเชื่อไว้โดยเฉพาะว่าจะต้องเป็นผู้ใด ดังนั้น การที่จำเลยเจตนากระทำเอกสารปลอมขึ้นเพื่อให้ ด. หลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงก็เป็นความผิดแล้ว แม้จำเลยยังมิได้นำเอกสารดังกล่าวไปใช้แสดงต่อ ด. ก็ตาม ทั้งบุคคลที่จะถูกทำให้หลงเชื่อว่านี้กฎหมายมิได้กำหนดว่าจำต้องเกี่ยวโยงเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกับบุคคลที่น่าจะเกิดความเสียหาย เพราะการกระทำของจำเลยอาจเป็นบุคคลใดบุคคลหนึ่งก็ได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 1731-1732/2514 จำเลยเอาสำเนาบันทึกข้อตกลงกรรมสิทธิ์รวมที่ดินไปมอบให้โจทก์ร่วมโดยจำเลยรู้ว่าเป็นเอกสารปลอม และจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วม แม้เอกสารนั้นเป็นสำเนา แต่เป็นสำเนาที่ทำขึ้นเพื่อให้เชื่อว่ามีต้นฉบับเช่นนั้น การกระทำของจำเลยเป็นการใช้เอกสารปลอม

  • ปลอมเอกสารที่เป็นโมฆะ เป็นความผิดหรือไม่ ?

คำพิพากษาฎีกาที่ 1313/2531 สัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งศาลพิพากษาเป็นโมฆะแล้วมีผลเท่ากับสัญญาไม่มีผลมาตั้งแต่ต้น แม้จำเลยทั้งสองจะร่วมกันเติมข้อความลงในช่องว่างที่เว้นไว้ในสัญญาให้ผิดไปจากข้อตกลงและเบิกความยืนยันข้อความนั้นต่อศาล ก็ไม่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายแต่ประการใด โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยฐานปลอมเอกสารและเบิกความเท็จ

  • ปัญหาอีกข้อหนึ่งก็คือ การปลอมเอกสารปลอมจะเป็นความผิดหรือไม่ ?

ข้อนี้ อ.จิตติ ติงศภัทิย์ อธิบายว่า การปลอมโดยเติม ตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใดๆ ในเอกสารที่แท้จริงให้เข้าใจว่ามีการแก้ไขตกเติมตัดทอนมาแต่เดิม หมายความว่า มีเอกสารแท้จริงอยู่แล้ว ผู้ปลอมได้กระทำต่อเอกสารที่แท้จริงนั้น บทบัญญัติว่ากระทำแก่เอกสารที่แท้จริงแสดงว่าทำต่อเอกสารที่แท้จริงเป็นความผิด มิได้หมายความว่าทำต่อเอกสารปลอมไม่เป็นความผิด การกระทำต่อเอกสารปลอมก็เป็นการทำปลอมส่วนหนึ่งของเอกสารเป็นความผิดอยู่นั่นเอง เอกสารที่แท้จริงอาจเป็นเอกสารของผู้ปลอมเองถ้าแก้ไข ตัดทอน ตกเติมโดยไม่มีอำนาจก็เป็นการปลอมเอกสาร

ตามวรรคสอง กรอกข้อความลงในแผ่นกระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่น โดยไม่ได้รับความยินยอม หรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้อื่นนั้นจะต้องทำโดยมีเจตนาจะนำเอกสารนั้นไปใช้ ในกิจการที่อาจเกิดเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน

  • กฎหมายใช้คำว่า “ผู้ใดกรอกข้อความลงในแผ่นกระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่น” แสดงว่า ลายมือชื่อนั้นต้องลงอยู่แล้วในกระดาษการกระทำความผิดตามวรรคสองกับวรรคหนึ่งในบางกรณีที่ใกล้ชิดกันจนยากจะแยกออกได้ คำว่าลายมือชื่อหมายความรวมถึงนามสกุลด้วยหรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 769/2486 ผู้เสียหายลงชื่อในกระดาษเฉพาะชื่อให้จำเลยไปแสดงต่อเจ้าของโรงสีเพื่อให้เห็นว่าผู้เสียหายได้ขายข้าวให้จำเลยแล้วเจ้าของโรงสีจะได้จ่ายเงินให้แก่จำเลย และจำเลยจะได้นำเงินมาชำระให้ผู้เสียหาย จำเลยนำกระดาษดังกล่าวไปเขียนข้อความว่า ผู้เสียหายได้รับเงินไปจากจำเลย 1,360 บาท และสัญญาจะจ่ายข้าวให้จำเลยภาพใน 15 วัน โดยจำเลยเติมนามสกุลผู้เสียหายต่อท้ายลายมือชื่อผู้เสียหาย ดังนี้ เป็นความผิดฐานปลอมหนังสือ (ซึ่งตรงกับมาตรา 264 วรรคหนึ่ง)

คำพิพากษาฎีกาฉบับนี้ตัดสินตามกฎหมายลักษณะอาญา อ.จิตติ ติงศภัทิย์ อธิบายว่าตามประมวลกฎหมายอาญาน่าจะถือว่าแม้เติมนามสกุลก็ยังเป็นการเติมในกระดาษที่ลงลายมือชื่อไว้แล้วตามวรรคสองนั่นเอง

การลงลายมือชื่อไม่ว่าโดยสมัครใจหรือถูกหลอกลวงขู่เข็ญเป็นความผิดตามมาตรานี้

คำพิพากษาฎีกาที่ 463/2500 จำเลยขอให้โจทก์พิมพ์ลายนิ้วมือลงในใบมอบอำนาจโดยบอกว่าจะนำไปชำระภาษีแทนโจทก์ แล้วจำเลยกลับไปกรอกข้อความโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ดังนี้เป็นความผิดตามวรรคสอง

คำพิพากษาฎีกาที่ 203/2505 ภริยาโจทก์มอบแบบสัญญาเช่าที่โจทก์ลงชื่อไว้ในช่องผู้ให้เช่าจำเลยยืมไปให้คนอื่นดู จำเลยกลับไปกรอกข้อความว่าโจทก์ให้จำเลยเช่าห้องโดยโจทก์ไม่ได้รู้เห็นยินยอมด้วย เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

คำพิพากษาฎีกาที่ 1109/2511 หลอกลวงเขาให้ลงลายพิมพ์นิ้วมือในกระดาษแล้วไปกรอกข้อความเป็นว่า เข้าได้รับชำระหนี้จากตนแล้วเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

คำพิพากษาฎีกาที่ 874/2522 กรอกข้อความลงในเอกสารที่มีชื่อของโจทก์ โดยโจทก์มิได้ยินยอมให้กรอกแล้วนำมาฟ้องเรียกเงินกู้เป็นการปลอมเอกสารตามมาตรา 264 วรรคสอง

คำพิพากษาฎีกาที่ 1734-1735/2523 โจทก์ลงชื่อในแบบพิมพ์สัญญากู้ให้จำเลยที่ 1 ไปโดยยังไม่ได้กรอกข้อความ จำเลยทั้งสองร่วมกันกรอกข้อความลงไปในสัญญากู้ว่าโจทก์กู้เงินจำเลยที่ 1 จำนวน 92,000 บาท เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2504 มีความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ

คำพิพากษาฎีกาที่ 1171/2533 โจทก์ลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่าให้ภริยาจำเลยที่ 1 ไว้ จำเลยทั้งสามร่วมกันกรอกข้อความว่า โจทก์รับฝากเงินจากจำเลยที่ 1 เพื่อนำไปซื้อเครื่องรับโทรทัศน์สีและเครื่องวีดีโอโอนให้จำเลยที่ 1 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ เป็นการปลอมเอกสารสิทธิ จำเลยที่ 1 นำเอกสารดังกล่าวไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าโจทก์ยักยอกทรัพย์เป็นความผิดฐานใช้เอกสารปลอม

คำพิพากษาฎีกาที่ 7/2508 จำเลยกรอกข้อความลงในเอกสารที่มีผู้ลงลายมือชื่อให้ไว้โดยเชื่อว่ากรอกตรงตามข้อความที่ผู้ลงลายมือชื่อมอบหมายให้กรอกไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้ เพราะไม่ได้ทำเพื่อนำไปใช้ในกิจการที่อาจเกิดความเสียหายแก่ผู้ใด

คำพิพากษาฎีกาที่ 2481/2528 วินิจฉัย การกรอกข้อความลงในเอกสารซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอมหรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้อื่นจะถือว่าเป็นการปลอมเอกสารก็ต่อเมื่อได้กระทำเพื่อนำเอกสารนั้นไปใช้ในกิจการที่อาจเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน เจ้าของหุ้นมีหุ้นอยู่ 2,000 หุ้น สั่งไปขาย 1,000 หุ้น ได้จัดให้คืนหุ้นให้โจทก์ภายหลังและมีการจ่ายเงินปันผลให้โจทก์ตามสิทธิของผู้ถือหุ้นครบถ้วน ดังนี้ ไม่เกิดความเสียหายเพราะเป็นทางปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของหุ้นเองไม่เป็นความผิด

คำพิพากษาฎีกาที่ 163/2490 พ.ผู้เสียหายไปสมัครเป็นตำรวจโดยนำใบสุทธิ ป.3 ไปแสดง แต่ทางการตำรวจไม่รับอ้างว่าไม่จบประโยคประถม พ. จึงไปปรึกษาจำเลย จำเลยแนะนำให้เปลี่ยนใบสุทธิเป็นประถม 4 แต่ต้องเสียเงิน 60 บาท จึงจะได้ พ. ตกลง จำเลยให้ พ. ลงชื่อในกระดาษเปล่าอ้างว่าเพื่อจะนำไปใช้เป็นคำร้องขอใบสุทธิ จำเลยให้ผู้อื่นกรอกข้อความในกระดาษว่า พ. รับเงินจากจำเลย 150 บาท ให้นาฬิกายึดไว้เป็นประกัน ดังนี้การที่จำเลยไปกรอกข้อความ ผิดจากความประสงค์ เป็นความผิดฐานยักยอกลายมือชื่อ

คำพิพากษาฎีกาที่ 368/2521 สมุห์บัญชีเขียนข้อความเท็จลงในบัญชีฝากประจำของผู้ฝากเงินไม่เป็นปลอมเอกสาร และไม่เป็นการกรอกข้อความลงในเอกสารที่มีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยผู้นั้นไม่ยินยอม

คำพิพากษาฎีกาที่ 2302/2523 จำเลยที่ 2 เป็นสารวัตรกำนันปฏิบัติหน้าที่แทนกำนันเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ออกสำเนาทะเบียนบ้านว่าย้ายออกและมีหน้าที่ กรอกข้อความลงในมรณะบัตรตามอำนาจหน้าที่โดยลงชื่อ จำเลยที่ 2 ในช่องนายทะเบียนผู้รับแจ้งมรณะบัตรและสำเนาทะเบียนบ้านดังกล่าว เป็นเอกสารที่แท้จริงที่จำเลยที่ 2 ทำขึ้น แม้ข้อความในมรณะบัตรและสำเนาบ้านไม่ตรงกับความจริงที่ไม่ทำให้เป็นเอกสารปลอมตามมาตรา 161 แต่ผิดตามมาตรา 162

โปรดสังเกตว่าการกระทำของสมุห์บัญชีและของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 264 วรรคสอง เพราะไม่ได้กรอกข้อความลงในแผ่นกระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอมหรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งผู้นั้น

  • ควรสังเกตด้วยว่า การกระทำที่เป็นความตามวรรค 2 นี้ต้องได้ทำเพื่อนำไปใช้ในกิจการที่อาจเกิดความเสียหาย ซึ่งเป็นเจตนาพิเศษ ส่วนเจตนาพิเศษตามวรรคหนึ่งนั้นต้องทำเพื่อให้หลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง

คำพิพากษาฎีกาที่ 618-619/2539 โจทก์บรรยายฟ้องมีใจความว่าจำเลยกับพวกร่วมกันปลอมเอกสารซึ่งเป็นหนังสือมอบอำนาจรวม 2 ฉบับ โดยกรอกข้อความลงในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวซึ่งมีลายมือชื่อของนาย ย. โดยไม่ได้รับความยินยอมเท่านั้น ไม่ได้บรรยายว่าจำเลยกระทำเพื่อนำเอกสารนั้น ไปใช้ในกิจการที่อาจเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน ไว้ด้วย ฟ้องโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิดตาม ป.วิ. อ. มาตรา 158(5)

คำพิพากษาฎีกาที่ 6898/2539 จำเลยที่ 2 และผู้เสียหายทราบแล้วว่า ย. ถึงแก่ความตาย แต่จำเลยที่ 2 ยังนำหนังสือมอบอำนาจซึ่งยังมิได้กรอกข้อความ คงมีแต่ลายพิมพ์นิ้วมือของ ย. ในช่องผู้มอบอำนาจเรียบร้อยแล้วมาบอกให้ ส. กรอกข้อความ ส. กรอกข้อความว่า ย. มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ขายที่ดินแทน การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการกระทำโดยพลการ เพื่อให้จำเลยที่ 1 ทำหนังสือมอบอำนาจไปใช้ในการทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกับผู้เสียหาย แม้เป็นการกระทำที่ตรงกับความประสงค์ของ ย.ก็ตาม แต่การมอบอำนาจยังไม่สมบูรณ์ เมื่อผู้มอบอำนาจถึงแก่ความตาย การมอบอำนาจก็สิ้นผล แต่จำเลยที่ 2 กลับทำให้การมอบอำนาจซึ่งยังไม่ได้เกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ดูเสมือนเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ด้วยการกรอกข้อความการกระทำดังกล่าวแม้ผู้เสียหายจะไม่เสียหายจะไม่เสียหายแต่ก็อาจเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน จำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดตามมาตรา 264 วรรคสอง

  • การกรอกข้อความ ที่เป็นความผิด มักจะเป็นเรื่องกรอกข้อความลงในลักษณะที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นข้อความของเจ้าของลายชื่อ เช่น ก.กรอกข้อความลงในกระดาษที่มีลายมือชื่อของ ข. มอบอำนาจให้ ก. ไปทำนิติกรรมจดทะเบียนโอนขายที่ดินของ ข. โดย ข. ไม่เคยทำหนังสือมอบอำนาจให้ ก. กระทำการเช่นนั้นเลย (ฎ. 1764/2506) จะเห็นได้ว่า ก. กรอกข้อความลงในกระดาษที่มีลายมือชื่อ ข. ในลักษณะที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นข้อความของ ข. ที่ทำขึ้นจริง เป็นต้น หรือกรณีจำเลยหลอกยืมแบบสัญญาเช่าซึ่งผู้ให้เช่าลงลายมือชื่อไว้แล้วแต่ยังมิได้กรอกข้อความใดๆ มากรอกข้อความเป็นผู้ให้เช่ายอมให้จำเลยเช่าที่ดิน (ฎ.203/2505) เหล่านี้ล้วนเป็นความผิดตามวรรคสองทั้งสิ้น

กลับไปหน้าเดิม                            หน้าถัดไป