Home
เพลงสถาบัน
ติวสอบ
สารจากประธานฯ
กระดานสนทนา
กิจกรรม
ลิงค์
มีฎีกามาบอก
กำหนดการ

มีฎีกามาบอก

 หน้า 1

ฎีกาที่ ๙๗๖/๒๕๔๓

แพ่ง ละเมิด (มาตรา ๔๒๐)

แม้โจทก์จะมีชื่อและนามสกุลอย่างเดียวกันกับลูกหนี้ของจำเลย แต่ก็มีภูมิลำเนาต่างกัน ทั้งลูกหนี้ของจำเลยไม่เคยย้ายภูมิลำเนา อีกทั้งเมื่อโจทก์ติดต่อทนายความจำเลยแจ้งว่ามิได้เป็นหนี้ ทนายความจำเลยหรือจำเลยกลับยืนยันว่าเป็นหนี้ ถ้าไม่ชำระหนี้จะฟ้องร้องต่อศาล ทำให้โจทก์เกิดความกลัว จึงได้ไปร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานสอบสวนเป็นเหตุให้โจทก์ถูกหนังสือพิมพ์รายวันลงข่าวเผยแพร่ไปทั่วราชอาณาจักร ทำให้โจทก์ถูกผู้บังคับบัญชาเรียกไปสอบสวนหามูลเหตุของข่าวการเป็นหนี้จำเลย และลงความเห็นว่าถ้าข่าวดังกล่าวเป็นจริงโจทก์จะถูกลงโทษ โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการโทรศัพท์ทางไกลติดต่อญาติพี่น้องเพื่อแจ้งความจริงให้ทราบ และได้จ้างทนายความให้ตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับหนี้ดังกล่าว ดังนี้ กรณีถือได้ว่าจำเลยประมาทเลินเล่อหรือไม่ไยดีต่อผลแห่งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่โจทก์ในภายหลังโดยไม่ใช้ความระมัดระวังตามสมควรทำให้การตรวจสอบเกี่ยวกับตัวลูกหนี้ของจำเลยเสียใหม่ตามที่โจทก์แจ้งให้ทนายความของจำเลยหรือจำเลยทราบแล้วว่าโจทก์ไม่ใช่ลูกหนี้ของจำเลย รวมทั้งจำเลยยังได้ยืนยันที่จะฟ้องร้องโจทก์ต่อศาล จนเป็นเหตุให้โจทก์เกิดความกลัวและนำเรื่องไปร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานสอบสวนจนถูกหนังสือพิมพ์รายวันบางฉบับนำข่าวไปเผยแพร่ทั่วราชอาณาจักร อันเป็นการกระทำต่อโจทก์โดยมิชอบด้วยกฎหมายทำให้โจทก์เสียหาย พฤติการณ์จึงถือได้ว่าจำเลยได้กระทำละเมิดต่อโจทก์อันจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เพื่อการนั้นแล้วครบถ้วนด้วยองค์ประกอบแห่งความผิดเพื่อละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๒o

-------------------------------------------------------

 ฎีกาที่ ๖๒o/๒๕๔๓

แพ่ง การโอนหนี้ วิธีการเฉพาะฝากเงิน สามีภริยา กรรมสิทธิ์รวม (มาตรา ๓o๖ วรรคหนึ่ง,

๖๗๒, ๑๓๕๗, ๑๔๕๗)

 

ฉ. อยู่กินกันฉันสามีภริยากับ ช. โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสและได้ร่วมกันทำมาหากินโดยการปล่อยเงินกู้ ซื้อขายที่ดินและเป็นนายหน้าขายที่ดิน เงินในบัญชีเงินฝากประจำเป็นทรัพย์สินที่ ช. และ ฉ. ทำมาหาได้ร่วมกันในระหว่างอยู่กินกันฉันสามีภริยา ช. และ ฉ. จึงต่างมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในเงินดังกล่าวและต้องแบ่งให้คนละเท่าๆกัน โดยเป็นทรัพย์มรดกของ ช. กึ่งหนึ่ง และเป็นทรัพย์มรดกของ ฉ. กึ่งหนึ่ง

การที่ ฉ. ฝากเงินประจำไว้แก่ธนาคารจำเลยที่ ๒ เงินฝากประจำย่อมตกเป็นของจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ คงมีหน้าที่ต้องคืนเงินฝากประจำให้ครบจำนวนเมื่อถึงกำหนดแก่ ฉ.

ฉ. มีเจตนายกเงินในบัญชีเงินฝากประจำให้แก่จำเลยที่ ๑ และทำหนังสือถึงผู้จัดการจำเลยที่ ๒ ให้เพิ่มชื่อจำเลยที่ ๑ มีสิทธิถอนเงินและปิดบัญชีเงินฝากได้แทนการถอนเงินออกมาฝากในนามจำเลยที่ ๑ เนื่องจากเงินที่ฝากประจำยังไม่ครบกำหนด หากถอนเงินในขณะนั้นจะไม่ได้ดอกเบี้ย ถือได้ว่า ฉ. มีเจตนาโอนสิทธิเรียกร้องของ ฉ. ที่ได้ฝากเงินไว้แก่จำเลยที่ ๒ ให้แก่จำเลยที่ ๑ ในลักษณะการโอนหนี้อันจะพึงชำระแก่เจ้าหนี้โดยเฉพาะเจาะจง เมื่อได้มีการปฏิบัติถูกต้องตาม ป.พ.พ. มาตรา ๓o๖ วรรคหนึ่ง โดย ฉ. ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อและบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้อง การโอนสิทธิเรียกร้องในเงินฝากประจำของ ฉ. ให้แก่จำเลยที่ ๑ เป็นอันสมบูรณ์ สิทธิที่จะได้ชำระหนี้เงินฝากประจำจึงตกเป็นของจำเลยที่ ๑ กรณีไม่ใช่เป็นเพียงมอบอำนาจให้จำเลยที่ ๑ มีสิทธิถอนเงินและปิดบัญชีเงินฝากแทน ฉ. เท่านั้น

---------------------------------------------------------

ฎีกาที่ ๕o๗/๒๕๔๓

อาญา ใช้กำลังประทุษร้าย เจตนา ชิงทรัพย์ (มาตรา ๑ (๖) , ๕๙, ๓๓๔)

วิธีพิจารณาความอาญา ชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน (มาตรา ๒๒๗)

จำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมในทันใดภายหลังเกิดเหตุและให้การวันเดียวกันนั้นว่า จำเลยกับ ต. ตกลงกันว่าหากพบนักศึกษาต่างโรงเรียนก็ให้แย่งเสื้อตัวที่นักศึกษาของสถาบันนั้นมาให้ได้ โดยไม่ปรากฏข้อความใดว่าจำเลยไม่มีเจตนาประสงค์ต่อทรัพย์ ทั้งพฤติการณ์ที่แสดงว่าจำเลยก็มิได้กล่าวอ้างไว้ ตรงกันข้ามจำเลยกลับนำชี้ที่เกิดเหตุและแสดงทำให้เจ้าพนักงานตำรวจถ่ายรูปไว้ประกอบคำรับสารภาพหลังรับทราบข้อกล่าวหาว่ากระทำผิดฐานชิงทรัพย์ ชั้นพิจารณาจำเลยก็มิเคยยกประเด็นขาดเจตนาลักทรัพย์ขึ้นแถลงต่อศาล คำรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยนั้นเชื่อว่าจำเลยทำด้วยความสมัครใจและตามความเป็นจริงเพราะจำเลยถูกจับกุมแทบจะทันใดภายหลังเกิดเหตุ จึงไม่อาจคิดหาข้อแก้ตัวเพื่อหลีกเลี่ยงความผิดได้ทันทั้งตามพฤติการณ์ที่จำเลยจับเสื้อช๊อบของผู้เสียหายไว้ขณะที่พูดขอเสื้อ ครั้นถูกปฏิเสธจำเลยจึงล้วงมีดคัทเตอร์ออกมาจากกระเป๋ากางเกง เมื่อผู้เสียหายถูกพวกของจำเลยต่อย จำเลยก็ชกต่อยผู้เสียหายจนกระทั่งได้เสื้อช๊อบของผู้เสียหายมา เข้าลักษณะเป็นการคุกคามขู่เข็ญให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายแก่กายหากผู้เสียหายไม่ยอมตามที่จำเลยต้องการ ผู้เสียหายถอดเสื้อช๊อบให้จำเลยเพราะกลัวว่าจะถูกทำร้ายอีก จึงมิใช่การให้ทรัพย์ด้วยความสมัครใจแต่เป็นไปเพราะอยู่ใต้อำนาจบังคับของจำเลย จำเลยได้ไปซึ่งเสื้อช๊อบของผู้เสียหายแล้วจึงหยุดขู่เข็ญพร้อมกับลงจากรถโดยสารคันเกิดเหตุ อันเป็นเครื่องแสดงเจตนาว่าจำเลยประสงค์ต่อเสื้อช๊อบเป็นสำคัญ จำเลยจึงมีความผิดฐานชิงทรัพย์ ส่วนที่จำเลยอ้างว่ากระทำไปเพราะต้องการแสดงความกล้าและความสามารถให้รุ่นพี่ของจำเลยเห็นนั้นเป็นเพียงมูลเหตุจูงใจที่ชักนำให้จำเลยตัดสินใจกระทำความผิด ไม่มีผลให้จำเลยพ้นจากความรับผิดไปได้

 

------------------------------------------------------

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๔๘/๒๕๔๓

 

อาญา พยายาม ลักทรัพย์ (มาตรา ๘o, ๓๓๔)

วิธีพิจารณาความอาญา ชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน (มาตรา ๒๒๗)

จำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับในขณะที่กำลังก้มเงยอยู่ข้างประตูด้านคนขับกระบะคันที่เกิดเหตุ โดยมีลูกกุญแจ ๒ ดอก กุญแจล็อคประตูรถกระบะอยู่ในกระเป๋าเสื้อจำเลย ส่วนประตูรถกระบะเปิดได้และพบประแจบล็อก ๓ ทาง กับไขควงวางอยู่ที่เบาะคนขับ ประตูรถด้านคนขับมีร่องรอยงัดแงะตรงช่องกุญแจส่วนกุญแจหายไป จำเลยแจ้งแก่เจ้าพนักงานตำรวจว่าพี่ชายให้มาเอารถแต่ลืมกุญแจจึงงัดรถเข้าไป ส่วนเงิน ๑,ooo บาท ที่จำเลยมีติดตัวอยู่นั้นเตรียมไว้เป็นค่าน้ำมันรถ พฤติการณ์ของจำเลยแสดงให้เห็นว่าจำเลยงัดประตูรถกระบะเข้าไปโดยมีไม้บรรทัดเหล็ก ไขควง ประแจบล็อก ๓ ทาง กุญแจ ๒ ดอก และไฟฉายเป็นอุปกรณ์ ถึงแม้กุญแจ ๒ ดอก ไม่มีเขี้ยวและไม่ปรากฏว่าใช้ไขสตาร์ทรถกระบะได้หรือไม่ก็ตาม แต่ย่อมแสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยแล้วว่าต้องการใช้อุปกรณ์เหล่านั้นเป็นเครื่องมือเพื่อเอารถกระบะไป เมื่อจำเลยสามารถงัดประตูรถกระบะจนเปิดออก และงัดเอากุญแจล็อกประตูรถออกไปได้ ถือได้ว่าเป็นการลงมือเพื่อจะเอารถกระบะไปโดยทุจริตแล้ว เมื่อไม่สามารถเอารถกระบะไปได้จะด้วยเหตุเพราะยังไม่ได้ทำลายกุญแจล็อกเกียร์หรือเพราะมีเจ้าพนักงานตำรวจมาพบการกระทำความผิดของจำเลยเสียก่อนก็ดี การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานพยายามลักทรัพย์

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๒๕/๒๕๔๓

 

อาญา เจตนา พยายาม สนับสนุน ฆ่าผู้อื่น (มาตรา ๕๙, ๘o, ๘๖, ๒๘๘)

วิธีพิจารณาความอาญา ชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน (มาตรา ๒๒๗)

จำเลยที่ ๒ เป็นคนส่งมีดพร้าให้จำเลยที่ ๑ ฟันทำร้ายพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ ๒ ซึ่งหลังจากที่จำเลยที่ ๒ ส่งมีดพร้าให้จำเลยที่ ๑ แล้วก็ไม่ได้ทำอะไรอีกเลยแม้ว่าตอนที่จำเลยที่ ๑ วิ่งตามผู้เสียหายที่ ๒ ไปนั้น จำเลยที่ ๒ ได้วิ่งตามไปด้วยก็ดี หรือขณะที่ผู้เสียหายที่ ๑ จะเข้าไปช่วยเหลือผู้เสียหายที่ ๒ จำเลยที่ ๒ ก็ได้พูดห้ามปรามว่า อย่ารุมก็ดี ยังไม่อาจรับฟังได้ว่า จำเลยที่ ๒ ตั้งใจจะร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ ๑ เนื่องจากขณะที่ผู้เสียหายที่ ๑ ใช้ไม้ตีมือจำเลยที่ ๒ จนอาวุธปืนสั้นหลุดจากมือ จำเลยที่ ๒ ก็มิได้ใช้มีดพร้าฟันผู้เสียหายที่ ๑ หรือผู้เสียหายที่ ๒ เสียเอง อันพอจะเป็นการแสดงให้เห็นได้ว่าตั้งใจจะเข้าไปช่วยเหลือนใลักษณะเข้ารุมทำร้ายผู้เสียหายที่ ๒ ตามสภาพอาวุธของตนที่มีอยู่ ฉะนั้นการที่จำเลยที่ ๒ เพียงแต่ส่งมีดพร้าให้จำเลยที่ ๑ โดยมิได้เข้าร่วมใช้มีดพร้าฟันทำร้ายผู้เสียหายที่ ๒ เสียเอง จึงถือไม่ได้ว่ามีเจตนาเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ ๑ ในการกระทำความผิดดังกล่าว แต่มีลักษณะเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ ๒ ในการกระทำผิดก่อนกระทำความผิด อีกทั้งการที่จำเลยที่ ๑ ทำร้ายผู้เสียหายที่ ๑ ในตอนแรก จำเลยที่ ๒ ยังมิได้ดำเนินการอะไรให้เห็นว่ามีเจตนาจะร่วมทำร้ายผู้เสียหายที่ ๑ ส่วนการที่จำเลยที่ ๑ ถืออาวุธปืนสั้นมายังที่เกิดเหตุโดยที่จำเลยที่ ๒ ถือมีดพร้ามาด้วยนั้น พฤติการณ์พอถือได้ว่าต่างคนต่างเจตนาจะครอบครองอาวุธของตนเองตามลำพัง เมื่อจำเลยที่ ๒ ไม่เจตนาจะร่วมกันกระทำความผิดกับจำเลยที่๑ จำเลยที่ ๒ จึงมิได้ร่วมกับจำเลยที่ ๑ มีและพาอาวุธปืนดังกล่าวทำร้ายผู้เสียหายที่ ๑ และพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ ๑ การกระทำของจำเลยที่ ๒ จึงเป็นเพียงผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย

--------------------------------------

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๗๔๓/๒๕๔๓

 อาญา บันดาลโทสะ พยายาม ฆ่าผู้อื่น (มาตรา ๗๒, ๘o, ๒๘๘)

ผู้เสียหายถูกจำเลยใช้มีดขอฟันที่หน้าผากอย่างแรงและเป็นการเลือกฟันส่วนที่สำคัญของร่างกายขนาดของมีดขอมีใบมีดยาว ๑๒ นิ้ว และด้ามยาว ๗ นิ้ว นับว่าเป็นมีดขอขนาดใหญ่ที่อาจใช้เป็นอาวุธฟันทำอันตรายบุคคลอื่นถึงแก่ความตายได้บาดแผลที่ศีรษะผู้เสียหาย หากมีการติดเชื้ออาจเป็นฝีที่สมองและผู้เสียหายอาจถึงแก่ความตายได้ แม้จำเลยจะฟันถูกผู้เสียหายเพียงครั้งเดียว จำเลยก็ต้องเล็งเห็นผลได้ว่าผู้เสียหายอาจถึงแก่ความตายได้ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาพยาบาลจากแพทย์ทันท่วงที การกระทำของจำเลยจึงถือได้ว่า เป็นการกระทำโดยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายเมื่อผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตายสมดังเจตนาของจำเลย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย

การกระทำโดยบันดาลโทสะที่ผู้กระทำความผิดจะได้รับความปราณีจากศาลให้ลงโทษน้อยกว่าที่กฏหมายกำหนดตาม ป.อ. มาตรา ๗๒ ได้นั้น จะต้องปรากฏว่า ผู้กระทำความผิดถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุไม่เป็นธรรมจึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ก่อนเกิดเหตุ ผู้เสียหายได้พูดจาหยาบคายก้าวร้าวจำเลยโดยพูดให้ของลับแก่จำเลยขณะที่ผู้เสียหายเดินผ่านหน้าจำเลย แม้ผู้เสียหายพูดอีกว่า “จับผัวมันไว้ ปล่อยเมียมันมา” ก็ไม่ได้ความว่ามีความหมายอย่างไรหรือผู้เสสสียหายจะกระทำอย่างไรตามที่ตนพูด การกระทำของผู้เสียหายจึงน่าจะเป็นการยั่วโทสะจำเลยด้วยความคะนองปากตามประสาคนเมาสุราเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอที่จะถือว่าเป็นการข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุไม่เป็นธรรม การที่จำเลยมีความโกรธแค้นและทำร้ายผู้เสียหายในขณะนั้น จำเลยจะมาอ้างว่าเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะตามกฎหมายไม่ได้

--------------------------------------------

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๕๖๓/๒๕๔๓

 อาญา เจตนา ฆ่าผู้อื่น

จำเลยถอดกางเกงเดินเข้าไปเพื่อข่มขืนกระทำชำเราผู้ตายในขณะที่ผู้ตายไม่ได้สวมกางเกงและยืนพิงลูกกรงระเบียงอาคารซึ่งสูงเพียงระดับสะโพก โดยผู้ตายมิได้ยินยอม จำเลยย่อมเล็งเห็นได้ว่าหากผู้ตายหลบหลีกขัดขืนมิให้ข่มขืนกระทำชำเราแล้วอาจจะตกจากระเบียงอาคารถึงแก่ความตายได้ เมื่อผู้ตายดิ้นรนขัดขืนเพื่อมิให้จำเลยข่มขืนกระทำชำเราจนผู้ตายพลัดตกไปจากระเบียงอาคารจนได้รับบาดเจ็บและตายในเวลาต่อมา จึงเป็นผลที่เกิดขึ้นโดยตรงจากการกระทำของจำเลยอันเป็นการกระทำโดยเจตนาฆ่าผู้ตาย

---------------------------------------------

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๘๒๙/๒๕๔๒

 อาญา ริบทรัพย์ ขอคืนของกลาง (มาตรา ๓๕, ๓๖)

ทรัพย์สินซึ่งศาลพิพากษาให้ริบจะตกเป็นของแผ่นดินตาม ป.อ. มาตรา ๓๕ ก็ต่อเมื่อคดีถึงที่สุด แม้ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ จะมีคำพิพากษาให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางแต่เมื่อมีการฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๑ ในข้อดังกล่าว และคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา รถจักรยานยนต์ของกลางดังกล่าวจึงยังหาตกเป็นของแผ่นดินไม่ ดังนั้น เจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถจักรยานยนต์ของกลางย่อมโอนกรรมสิทธ์ให้ผู้ร้องได้ เพราะไม่มีกฎหมายใดบัญญัติห้ามโอนกรรมสิทธิ์กันไว้ ผู้ร้องจึงเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ของกลางที่แท้จริง และมีสิทธิ์ยื่นคำร้องขอคืนรถจักรยานยนต์ของกลางหลังจากศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วภายในกำหนด ๑ ปีได้

------------------------------------------

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๔๗o/๒๕๔๓

 อาญา เจ้าพนักงานใช้อำนาจตำแหน่งโดยมิชอบ เจ้าพนักงานเรียกรับทรัพย์สินโดยมิชอบ เจ้า

พนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต กรรโชก

(มาตรา ๑๔๘, ๑๔๙, ๑๕๗, ๓๓๗)

วิธีพิจารณาความอาญา ข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์สืบสมแต่อ้างฐานความผิดผิด (มาตรา ๑๙๒ วรรคห้า)

จำเลยทั้งสามเป็นเจ้าพนักงานตำรวจตำแหน่งลูกแถว กองกำกับการอารักขาและรักษาความปลอดภัย กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษกองบัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจหน้าที่สืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดอาญา เมื่อได้พบและกล่าวหาว่าผู้เสียหายให้ที่พักอาศัยแก่คนต่างด้าวโดยไม่ปฏบัติตามกฎหมาย อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. คนเข้าเมืองฯจึงไม่ใช่การกลั่นแกล้งกล่าวหาว่าผู้เสียหายกระทำความผิดอาญาโดยไม่มีมูลความผิดการที่จำเลยทั้งสามปฏิบัติการไปตามหน้าที่ดังกล่าวโดยชอบแล้ว กลับไม่จับกุมแต่ขู่เข็ญเรียกร้องเอาเงิน แล้วละเว้นไม่จับกุมผู้เสียหายการกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๑๔๘ แต่การที่จำเลยทั้งสามขู่เข็ญเรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหายภายหลังเช่นนี้ย่อมเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับทรัพย์สินในตำแหน่งโดยมิชอบด้วยหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา ๑๔๙ คดีนี้โจทก์มิได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตาม ป.อ. มาตรา ๑๔๙ อันเป็นบทเฉพาะมาด้วย แต่โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าเมื่อพบการกระทำผิดซึ่งจำเลยทั้งสามมีหน้าที่จับกุมผู้กระทำผิด แต่กลับร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตโดยข่มขืนใจผู้เสียหายให้มอบเงินดังกล่าว อันเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบคำบรรยายฟ้องดังกล่าวจึงเข้าองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. ๑๔๙ แม้คำขอท้ายฟ้องโจทก์จะอ้างโจทก์มาตราความผิดตามบทเฉพาะตาม ป.อ. มาตรา ๑๔๙ แต่เมื่อคำบรรยายฟ้องและข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดตามบทเฉพาะตาม ป.อ. มาตรา ๑๔๙ แล้ว จึงถือว่าโจทก์อ้างฐานความผิดหือบทมาตราผิด ฐานมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙๒ วรรคห้า

จำเลยทั้งสามร่วมกันขู่เข็ญเรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหาย เพื่อที่จะละเว้นไม่จับกุมผู้เสียหายไปดำเนินคดี จนผู้เสียหายกลัวว่าจะถูกจับกุมอันจะเป็นอันตรายต่อเสรีภาพของตน จึงยอมจะให้เงินแก่จำเลยทั้งสามนั้น เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตาม ป.อ. มาตรา ๑๕๗ ซึ่งเป็นบททั่วไปและฐานกรรโชกตาม ป.อ. มาตรา ๓๓๗ วรรคแรก ด้วย หาใช่เป็นเรื่องที่เมื่อเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๑๔๙ แล้วจะไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๑๕๗ และมาตรา ๓๓๗ ด้วยไม่ เพียงแต่เมื่อเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๑๔๙ ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้วแล้วก็ไม่จำเป็นต้องปรับบทตาม ป.อ. มาตรา ๑๕๗ ซึ่งเป็นบททั่วไปอีกเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๕๓๒/๒๕๔๓

 อาญา ความผิดหลายบท เจ้าพนักงานเรียกทรัพย์สินโดยมิชอบ เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการ

ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ (มาตรา ๙o, ๑๔๙, ๑๕๗,

๑๖๑ ประกอบ (๑))

จำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รับคำขอต่างๆ เกี่ยวกับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ดินทุกประเภท รวมทั้งงานในด้านเกี่ยวกับการเงินและบัญชี โดยมีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องการกรอกข้อความในเอกสารต่างๆที่เกี่ยวข้องของหนังสือแสดงกรรมสิทธิในที่ดิน แล้วนำเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น ทั้งได้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวมาก่อนเกิดเหตุนานประมาณ ๗ ปี จำเลยย่อมทราบและคำนวณค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนที่ดินในพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบเป็นอย่างดี การที่จำเลยเรียกหรือรับเงินจำนวน ๗,๘oo บาทไว้แล้วนิ่งเฉยเสีย โดยแสดงชัดแจ้งว่าจำเลยมีเจตนาเรียกหรือรับเอาเงินส่วนที่เกินไว้สำหรับตนเองโดยมิชอบเพื่อกระทำการในตำแหน่ง จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๑๔๙

จำเลยพร้อมที่จะเสนอเรื่องราวขอจดทะเบียนขายที่ดินระหว่าง น. กับ ส. ต่อเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินเพื่อดำเนินงานต่อไปตามอำนาจหน้าที่ แต่จำเลยกลับละเว้นไม่ดำเนินการนับแต่วันดังกล่าวเป็นต้นมา ดังนั้น ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ป.อ. มาตรา ๑๕๗ จึงเป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับหรือยอมจะรับทรัพย์สินสำหรับตนเองโดยมิชอบเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งตาม ป.อ. มาตรา ๑๔๙ เมื่อปรับบทลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา ๑๕๗ อันเป็นบททั่วไปอีก

เมื่อจำเลยได้กรอกข้อความลงในใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓) ตามความเป็นจริง ตรงตามเจตนาของผู้ซื้อผู้ขายที่ดินทุกประการ และตราประทับของกระทรวงมหาดไทยก็ถูกต้อง เพียงแต่ยังไม่มีลายมือชื่อนายอำเภอและยังมิได้ลงวันที่และเดือนที่ออกใบแทนฯเท่านั้น เอกสารดังกล่าวจึงมิใช่เอกสารที่จำเลยจัดทำขึ้นโดยมีเจตนาจะลอกเลียนแบบหรือปลอมเอกสารต้นฉบับฯหนึ่งฉบับใด เป็นเพียงแต่เอกสารยังลงรายการไม่ครบถ้วนบริบูรณ์ตามระเบียบของทางราชการเท่านั้น และการที่นายอำเภอในฐานะเป็นเจ้าพนักงานที่ดินยังมิได้ลงชื่อรับรองเอกสารกับการที่ยังมิได้ลงวันเดือนปีที่ออกเอกสาร ก็ไม่มีเหตุที่จะทำให้ผู้พบเห็นเอกสารจะหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่ถูกต้องแท้จริงที่ทางราชการออกให้ไปได้ การกระทำของจำเลยไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสาร จึงไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการตาม ป.อ. มาตรา ๑๖๑ ประกอบด้วยมาตรา ๒๖๖ (๑)

-----------------------------------------

ไปหน้า    2       3          (ขณะนี้มีทั้งหมด 3 หน้า)