Home
เพลงสถาบัน
ติวสอบ
สารจากประธานฯ
กระดานสนทนา
กิจกรรม
ลิงค์
มีฎีกามาบอก
กำหนดการ

อาญามาตรา 209-287

ประเด็นที่ 1 ความผิดฐาน อั้งยี่,ซ่องโจร

อั้งยี่

มาตรา 209 “ผู้ใดเป็นสมาชิกคณะบุคคล เพื่อปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมาย เพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่

ถ้าผู้กระทำความผิด เป็นหัวหน้า ผู้จัดการ หรือผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในคณะบุคคลนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาท”

ข้อสังเกต

  • คณะบุคคล หมายถึง การรวมตัวของบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป โดยมีความมุ่งหมายอย่างเดียวกันและการรวมตัวกันนั้นจะต้องรวมตัวกันในลักษณะถาวร ถ้ารวมตัวกันเป็นครั้งคราวจะไม่ใช่อั้งยี่ แต่อาจเป็นซ่องโจร ตามมาตรา 210
  • ปกปิดวิธีดำเนินการ หมายถึง รู้กันในหมู่สมาชิกไม่เปิดเผยแก่บุคคลอื่น เช่น ใช้นิ้วแสดงเป็นเครื่องหมายลับ โดยรู้กันในหมู่สมาชิก ( คำพิพากษาฎีกาที่ 124/2457,301-303/2470)
  • มีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ไม่จำกัดไว้ว่าต้องเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาเท่านั้น อาจเป็นละเมิดในทางแพ่งก็ได้
  • มาตรานี้ มุ่งหมายเอาผิดในการที่เข้าเป็นสมาชิก ดังนั้นเพียงแต่เข้าเป็นสมาชิกของคณะบุคคลเท่านั้นก็เป็นความผิดสำเร็จทันทีโดยยังไม่จำต้องทำอะไรก็เป็นความผิดตามมาตรานี้แล้ว และถ้ามีการทำตามความมุ่งหมายก็อาจจะมีความผิดอย่างอื่นด้วย คำพิพากษาฎีกาที่1176/2543
  • คำว่า “หัวหน้า” หมายถึง บุคคลผู้นั้นเป็นใหญ่ในหมู่สมาชิก จำเลยชักชวนจัดการให้ราษฎรหลายตำบลสาบานตัวเข้าเป็นสมาชิกในสมาคมซึ่งไม่ได้จดทะเบียนและมีวัตถุประสงค์คอยช่วยเหลือหาพยานเท็จและออกเงินช่วยเหลือในเมื่อสมาชิกต้องหาคดีอาญา มีเครื่องหมายสมาคมรู้กันเฉพาะระหว่างสมาชิกเท่านั้นจำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นหัวหน้าอั้งยี่ ( คำพิพากษาฎีกาที่ 301-303/2479)
  • ความผิดตามมาตรานี้เป็นความผิดต่อรัฐ รัฐเท่านั้นที่เป็นผู้เสียหาย ราษฎรไม่มีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้อง คำพิพากษาฎีกาที่3447/2540

ซ่องโจร

มาตรา 210 ผู้ใด สมคบกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 นี้ และความผิดนั้นมีกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่ 1 ปี ขึ้นไปผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจร

ถ้าเป็นการสมคบกันเพื่อกระทำความผิดที่มีระวางโทษ คือประหารชีวิตจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกอย่างสูงตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 10ปี และปรับตั้งแต่ 4.000 บาท ถึง 20.000 บาท

 

ข้อสังเกต

  • “สมคบ” หมายถึง การประชุมปรึกษาหารือและตกลงใจร่วมกันที่จะกระทำความผิด
  • “สมคบ” ตามพจนานุกรมแปลว่าร่วมกันคบคิด
  • “สมคบ” หมายถึง การแสดงออกซึ่งความตกลงจะกระทำความผิดร่วมกัน ( น่าจะมีความหมายทำนองเดียวกับมาตรา 83 ป.อ. )

คำพิพากษาฎีกาที่ 1103-1104/2496 การประชุมวางแผนการหรือทำพิธีจะไปปล้นเป็นการสมคบกันตามความหมายของมาตรานี้

คำพิพากษาฎีกาที่ 2829/2526,4986/2533 ความผิดฐานฐานซ่องโจรตาม ป.อ. มาตรา 210 ผู้กระทำจะต้องสมคบกันเพื่อกระทำผิด กล่าวคือ ต้องมีการร่วมคบคิดกันหรือแสดงออกซึ่งความตกลงจะกระทำผิดร่วมกันประชุมหรือหารือวางแผนที่จะกระทำผิด

  • การสมคบกันนั้นจะต้องสมคบกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จึงจะเป็นความผิดและไม่จำกัดอายุ หรือ เพศ แต่ การสมคบนั้นต้องมีสภาพเป็นการกระทำร่วมกันกระทำความผิด
  • ตามมาตรา 210 ใช้คำว่า “ สมคบกัน” ส่วนมาตรา 209 ใช้คำว่า “ เป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย” แสดงว่า ซ่องโจรไม่จำเป็นต้องตั้งขึ้นเป็นการถาวรอย่างอั้งยี่

คำพิพากษาฎีกาที่ 521/2539 จำเลยที่ 12 ให้เงินจำเลยที่ 11 เพื่อให้นำไปให้จำเลยที่ 7 และที่ 8 เช่าสถานที่และซื้อไม้มาสร้างโรงรถเพื่อนแยกชิ้นส่วนรถยนต์ โดยไม่ได้สมคบกันเพื่อลักทรัพย์ หรือรับของโจร และเมื่อนับรวมกันแล้วก็มีเพียง 4 คน เท่านั้น ส่วนคนร้ายที่ทำการถอดแยกชิ้นส่วนก็ไม่ปรากฏว่าจำเลย ที่ 12 ได้ร่วมสมคบในการลักทรัพย์ด้วย ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่พอว่าจำเลยที่ 12 สมคบกับคนอื่นตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปเพื่อนทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรอันจะเป็นความผิดฐานรับของโจร

  • ความผิดที่สมคบกันเพื่อกระทำนี้ต้องเป็นความผิดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 แห่งประมวลกฎหมายอาญานี้และความผิดนั้นมีกำหนดโทษอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป แสดงให้เห็นว่ามาตรา 210 ไม่รวมถึงกฎหมายอื่น แต่มาตรา 209ที่ว่า “ การอันมิชอบด้วยกฎหมาย” นั้นรวมถึงกฎหมายอื่นด้วย
  • กำหนดโทษอย่างสูงตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป“ตั้งแต่” = เป็นอัตราโทษขั้นต้น , เริ่มต้น
  • ความผิดฐานนี้ ผิดสำเร็จทันทีที่สมคบกัน แม้ว่าจะยังมิได้ไปลงมือกระทำความผิดตามที่สมคบกันก็ตาม

คำพิพากษาฎีกาที่ 3201/2527 ความผิดฐานซ่องโจร เมื่อได้ประชุมตกลงกันแล้ว แม้จะยังไม่ได้ไปกระทำความผิดตามที่ตกลงกันไว้ ผู้ที่เข้าร่วมประชุมก็มีความผิดฐานเป็นซ่องโจรแล้ว หากมีผู้เข้าร่วมประชุมคนใดไปกระทำความผิด ตามที่ได้ตกลงกันไว้ก็เป็นความผิดขึ้นอีกกระทงหนึ่ง ผู้เข้าร่วมประชุมแม้จะไม่ได้ไปร่วมกระทำผิดด้วยก็ต้องมีความผิดตามมาตรา 213

คำพิพากษาฎีกาที่ 871/2457,116/2471,1341/2521 ความผิดฐานซ่องโจร เมื่อได้ประชุมตกลงกันแล้ว แม้จะยังไม่ได้ไปกระทำความผิดตามที่ตกลงกันไว้ ผู้ที่เข้าร่วมประชุมก็มีความผิดฐานเป็นซ่องโจรแล้ว หากมีผู้เข้าร่วมประชุมคนใดไปกระทำความผิด ตามที่ได้ตกลงกันไว้ก็เป็นความผิดขึ้นอีกกระทงหนึ่ง ผู้เข้าร่วมประชุมแม้จะไม่ได้ไปร่วมกระทำผิดด้วยก็ต้องมีความผิดตามมาตรา 213

คำพิพากษาฎีกาที่ 2429/2528 จำเลยกับพวก 7 คนตกลงกันจะใช้ตลับยาหม่องครอบเหรียญพนันบนรถประจำทาง จำเลยที่1 แลกเงินให้จำเลยอื่นทุกคนเพื่อนำไปแทง ใครได้ใครเสียก็ให้จดไว้ เมื่อเล่นเสร็จแล้วก็ให้คืนเงินกัน จำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 ขึ้นรถประจำทางที่จังหวัดสระบุรี มีจำเลยที่ 5 คนเดียวรอที่สถานีขนส่งจำเลยที่1 กับพวกก็

ดำเนินการตามที่ตกลงคือขึ้นรถเมล์ไปโคราช และให้หน้าม้าแทงคนโดยสารที่นั่งข้างๆ อยากได้เงินขึ้นก็มาร่วมแทงด้วย พอได้เงินก็นัดให้ไปรับแถวๆอำเภอปากช่อง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้จำเลยที่5 จะไม่ได้ไปด้วยบนรถโดยสารพร้อมจำเลยอื่นโดยรออยู่ที่สถานีขนส่งและจะขับรถไปรับเมื่อจำเลยอื่นเลิกเล่นแล้วก็ตาม ถือว่าเป็นการแบ่งหน้าที่ทำเพราะจำเลยที่ 5 ได้เข้าร่วมปรึกษาวางแผนกับจำเลยอื่นแล้ว จำเลยที่ 5 มีความผิดฐานเป็นซ่องโจรด้วย

ตามคำพิพากษาฎีกาเรื่องนี้ อธิบายหลักของมาตรา 210 ว่า การสมคบกันหมายถึง การร่วมปรึกษาวางแผนกันเพื่อกระทำความผิด จำเลยที่ 5 ได้เข้าร่วมปรึกษาวางแผนกับจำเลยอื่น จึงเป็นการสมคบกันเพื่อกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 และความผิดฐานฉ้อโกงมีกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี

  • ความผิดตามมาตรานี้จะเป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดที่ได้กระทำขึ้นตามที่สมคบหรือไม่ ต้องดูเจตนาที่สมคบกัน

คำพิพากษาฎีกาที่ 4548/2540 วินิจฉัยว่า จำเลย 1 ถึงที่ 3 กับพวกรวม 6 คน ร่วมกันวางแผนไปกระทำการปล้นทรัพย์ ของผู้เสียหาย ที่ 2 อันเป็นความผิดตามที่ได้บัญญัติไว้ในภาค 2 แห่งประมวลกฎหมายอาญา จึงเป็นความผิดฐานเป็นซ่องโจร เมื่อจำเลยที่ 4 กับพวกไปปล้นร้านทองของผู้เสียหายที่2 ตามแผนที่ร่วมกันวางไว้ แม้จำเลยที่ 1 ถึง ที่3 จะไม่ได้ไปร่วมในการปล้นร้านทองด้วย จำเลยที่1 ถึงที่ 3 ผู้ร่วมวางแผนย่อมมีความผิดฐานเป็นตัวการปล้นร้านทองร่วมกับจำเลยที่ 4 กับพวกด้วย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 213 และ ความผิดฐานเป็นซ่องโจรกับความผิดฐานปล้นทรัพย์เกี่ยวเนื่องกันกล่าวคือ พวกจำเลยกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจร เพื่อจะไปปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายที่ 2 จึงเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานปล้นทรัพย์ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90

คำพิพากษาฎีกาที่ 1719/2534 จำเลยกับพวกรวม 5 คน ปรึกษากันว่าจะไปปล้นรถจักรยานยนต์ เป็นการสมคบกันเพื่อกระทำความผิด และการกระทำความผิดที่สมคบกันเพื่อจะไปกระทำนั้นเป็นการปล้นทรัพย์อันเป็นความผิดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สิบปีขึ้นไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานซ่องโจร ตามมาตรา 210 วรรคสอง

  • ถ้าสมคบกันเพื่อทำผิดนอกราชอาณาจักรจะมีความตามกฎหมาย มาตรา 210 หรือไม่ อาจารย์ จิตติ ติงศภัทิย์ อธิบายว่า ตามมาตรา 6 การใช้ , สนับสนุนในราชอาณาจักรให้มีการทำความผิดนอกราชอาณาจักร การใช้, การสนับสนุนนั้นจะถือเป็นการทำความผิดในราชอาณาจักรได้ก็ต่อเมื่อความผิดที่ได้ใช้, สนับสนุน ลงโทษได้ในราชอาณาจักร การสมคบกันตามมาตรา 210 ก็ใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน
  • อ.หยุด แสงอุทัย อธิบายว่า ผู้กระทำไม่จำเป็นต้องรู้ กำหนดโทษของความผิด ก็มีความผิดตามวรรค 2 ได้ ถ้าเข้าหลักเกณฑ์(แต่ต้องรู้ว่าสมคบกับไปทำความผิดอะไร)

มาตรา 211 ผู้ใดประชุมในที่ประชุม อั้งยี่หรือซ่องโจรผู้นั้นกระทำผิดฐานเป็นอั้งยี่หรือซ่องโจร เว้นแต่ ผู้นั้นจะแสดงได้ว่าได้ประชุมโดยไม่รู้ว่าเป็นการประชุมของอั้งยี่หรือซ่องโจร

ข้อสังเกต

  • ความผิดตามมาตรานี้ ถือเอาการเข้าประชุม กับอั้งยี่หรือ ซ่องโจร เป็นข้อสำคัญ โดยไม่คำนึงว่าจะเป็นสมาชิกของอั้งยี่หรือซ่องโจรนั้นหรือไม่ เป็นบทบัญญัติเอาผิดแก่ผู้ที่เข้าประชุมซึ่งเป็นผู้อื่นที่ไม่ใช่สมาชิกหรือผู้ที่สมคบกันเป็นซ่องโจร
  • การเข้าประชุม จะต้องเข้าประชุมโดยเจตนาด้วย คือรู้ว่าการเข้าประชุมนั้น เป็นการประชุมในที่ประชุม อั้งยี่ หรือซ่องโจร ถ้าไม่รู้ก็ไม่เป็นความผิด
  • แต่ อาจารย์ จิตติ ติงศภัทิย์ เห็นว่าการกระทำอันเป็นองค์ประกอบความผิด ซึ่งต้องประกอบด้วยเจตนา มาตรา 59 เฉพาะการกระทำ คือการเข้าร่วมประชุม ไม่ต้องได้ความเลยว่าผู้เข้าประชุมรู้ว่าเป็นการประชุมอั้งยี่หรือซ่องโจรด้วย เพียงแต่มาตรานี้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้เข้าประชุมพิสูจน์ข้อเท็จจริงแก้ตัวได้เท่านั้น
  • และ อาจารย์ หยุด แสงอุทัย เห็นว่า ผู้ที่ประชุมในที่ประชุมอั้งยี่หรือซ่องโจรจะต้องถูกสันนิษฐาน

ไว้ก่อนว่า ได้กระทำความผิดฐานอั้งยี่หรือซ่องโจร

  • อาจารย์สุปัน พูนพัฒน์ และอาจารย์สถิตย์ ไพเราะ การเข้าประชุม จะต้องเข้าประชุมโดยเจตนาด้วย คือรู้ว่าการเข้าประชุมนั้น เป็นการประชุมในที่ประชุม อั้งยี่ หรือซ่องโจร ถ้าไม่รู้ก็ไม่เป็นความผิด

มาตรา 212 ผู้ใด

  1. จัดหาที่ประชุมหรือที่พำนักให้แก่อั้งยี่หรือซ่องโจร
  2. ชักชวนบุคคลให้เข้าเป็นสมาชิกอั้งยี่หรือพรรคพวกซ่องโจร
  3. อุปการะอั้งยี่หรือซ่องโจรโดยให้ทรัพย์หรือโดยประการอื่น หรือ
  4. ช่วยจำหน่ายทรัพย์ที่อั้งยี่หรือซ่องโจรได้มาโดยการกระทำความผิด ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่หรือซ่องโจรแล้วแต่กรณี

ข้อสังเกต

  • “ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ หรือ ซ่องโจรแล้วแต่กรณี” นั้นแสดงว่า การกระทำตามมาตรานี้ไม่ใช่เป็นความผิดฐานเป็นอั้งยี่ หรือความผิดฐานเป็นซ่องโจร กฎหมายเพียงแต่ลงโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่หรือซ่องโจรเท่านั้น ฉะนั้นจึงไม่ทำให้ผู้กระทำตามมาตรานี้มีความผิดฐานเป็นอั้งยี่หรือซ่องโจรด้วย ผลคือ จะนำมาตรา 213 มาใช้แก่ผู้กระทำตามมาตรานี้ไม่ได้
  • ปกติการสนับสนุนมาตรา 86 ระวางโทษ 2 ใน 3 ของโทษที่กำหนดไว้ แต่การสนับสนุนอั้งยี่และซ่องโจร มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนอย่างรุนแรง กฎหมายจึงกำหนดโทษเท่ากับผู้ทำผิดฐานเป็นอั้งยี่หรือซ่องโจร
  • คำว่า “ จัดหาที่ประชุมหรือที่พำนัก” เมื่อได้จัดหา ก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว แม้ยังไม่มีการประชุมหรือพำนักก็เป็นความผิดแล้ว
  • คำว่า “ชักชวนบุคคลให้เข้าเป็นสมาชิก” เมื่อได้ชักชวน แม้ยังไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว
  • อ. หยุด แสงอุทัย อธิบายว่า อนุมาตรา 2นี้ หมายถึง คนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกแต่ได้ชักชวน ให้บุคคลอื่นเข้าเป็นสมาชิก แต่กรณีคนเป็นสมาชิกได้ชักชวนบุคคลนั้นจะผิด อั้งยี่หรือซ่องโจรบทเดียว จะไม่มีความผิดตามอนุมาตรานี้อีก
  • อ.จิตติ ติงศภัทิย์ เห็นว่า แม้ตนเองไม่เป็นสมาชิก ถ้าได้ความว่า ทำการชักชวนผู้อื่นก็เป็นความผิดได้

และการชักชวนอาจทำก่อนมีอั้งยี่หรือซ่องโจรก็ได้ แต่ต้องมีอั้งยี่หรือซ่องโจรอยู่ตามที่ชักชวน และต้องมีผลคือ ผู้ถูกชักชวนเข้าเป็นสมาชิก จึงเป็นความผิดตามมาตรานี้

  • อ.สุปัน พูลพัฒน์ เห็นว่า เพียงแต่ชักชวนผู้ถูกชักชวนจะเป็นสมาชิกหรือไม่ไม่สำคัญ
  • คำว่า “ช่วยจำหน่ายทรัพย์ที่อั้งยี่หรือซ่องโจรได้มาโดยการกระทำความผิด” อาจเป็นความผิดฐานรับของโจรด้วย
  • แต่ อ.หยุด แสงอุทัย กับ อ.สุปัน พูลพัฒน์ เห็นว่าผู้ทำตาม อนุมาตรานี้จะไม่มีความผิดฐานรับของโจรอีก ตามหลักที่ว่า ความผิดพิเศษย่อมมาหน้าความผิดทั่วไป
  • อ. สถิต ไพเราะ เห็นว่า ถ้าใช้มาตรา 90 มาปรับทำได้

มาตรา 213 ถ้าสมาชิก อั้งยี่หรือพรรคพวกซ่องโจรคนหนึ่ง คนใดได้กระทำความผิดตามความมุ่งหมาย ของอั้งยี่หรือซ่องโจรนั้น สมาชิก อั้งยี่หรือพรรคพวกซ่องโจรที่อยู่ด้วย ในขณะกระทำความผิด หรืออยู่ด้วยในที่ประชุมแต่ไม่ได้คัดค้าน ในการตกลงให้กระทำความผิดนั้น บรรดาหัวหน้า ผู้จัดการ หรือผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในอั้งยี่หรือซ่องโจรนั้น ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นทุกคน

  • มาตรา 213 เป็นบทบัญญัติให้บุคคลต้องรับโทษในการกระทำความผิดของบุคคลอื่น ถ้าบุคคลนั้นเป็นสมาชิกอั้งยี่หรือพรรคพวกซ่องโจร และมีสมาชิกอั้งยี่หรือพรรคพวกซ่องโจรคนหนึ่งคนใดไปกระทำความผิดตามความมุ่งหมายของอั้งยี่หรือซ่องโจรนั้น แม้ว่าตัวเองจะไม่ได้เป็นผู้ลงมือกระทำความผิดก็ต้องรับโทษสำหรับความผิดที่สมาชิกอั้งยี่หรือพรรคพวกซ่องโจรได้ไปกระทำ แต่ถ้าสมาชิกคนใดคนหนึ่งได้กระทำผิดขึ้นในระหว่างกระทำการตามความมุ่งหมายของอั้งยี่หรือซ่องโจร อันเป็นเรื่องเฉพาะตัวสมาชิกอั้งยี่หรือพรรคพวกซ่องโจรอื่นๆ ไม่ต้องรับผิดด้วย
  • ความผิดที่ทำต้องเป็นความผิดตามความมุ่งหมายของอั้งยี่หรือซ่องโจรนั้น

คำพิพากษาฎีกาที่ 116/2471 ประชุมบวงสรวงจะไปปล้นบังเอิญมีผู้ผ่านมาพวกซ่องโจรคนหนึ่งยิงผู้นั้นตาย ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าที่ไปยิงเขาตายไม่ใช่ความผิดที่สมคบกันจะทำ คือไม่เกี่ยวกับที่จะไปปล้น พวกซ่องโจรอื่นไม่มีความผิดด้วย

ประเด็นที่ 2 ความผิดฐานมั่วสุมทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง

มาตรา 215 ผู้ใดมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1.000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าผู้กระทำความผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ บรรดาผู้ที่กระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4.000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (เป็นเหตุในลักษณะคดี)

ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นหัวหน้า หรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิดนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10.000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ข้อสังเกต

  • คำว่า “มั่วสุม” คือ ชุมนุมกัน รวมกันเข้ามา การมั่วสุมที่จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ จะต้องเป็นการมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ถ้าต่ำกว่า 10 คน ย่อมไม่เป็นความผิดตามาตรานี้ และการมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไปนั้น ไม่จำเป็นจะต้องชุมนุมพร้อมกันทีเดียว 10 คน อาจจะมาชุมนุมกันทีละคน สองคน จนกระทั่งครบ 10 คนก็ได้ และไม่จำกัดว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ เพศหญิงหรือเพศชาย แต่ข้อสำคัญคือ ผุ้ที่มั่วสุมกันจะต้องมีการตกลงร่วมใจที่จะกระทำความผิดร่วมกัน

คำพิพากษาฎีกาที่ 772/2482 การมั่วสุมไม่จำต้องนัดหมายร่วมกันมาก่อนแต่การกระทำตอนใช้กำลังประทุษร้ายต้องกระทำด้วยความประสงค์ร่วมกันการชุมนุมกันอย่างสงบจะไม่มีความผิดในทางอาญาเพราะเป็นอำนาจที่อาจทำได้ตามรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าเกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองเมื่อใดก็จะเป็นความผิดอาญาตามมาตรา 215 ได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 2387/2536 จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย เข้าไปมีบทบาทในการให้คำปรึกษา แนะนำและสั่งการในการนัดหยุดแรงงานของลูกจ้างประมาณ 300 คน การนัดหยุดงานดังกล่าวมิได้เป็นไปตามขั้นตอนและเงื่อนไข ศาลฎีกาจึงวินิจฉัยว่า การนัดหยุดงานของจำเลยไม่เป็นไปตามขั้นตอนและเงื่อนไข ดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 แต่เพื่อต่อรองบีบบังคับให้นายจ้างรับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างกลับเข้าทำงาน เมื่อปรากฏว่ามีการปะทะและทำร้ายซึ่งกันและกันระหว่างลูกจ้างที่นัดหยุดงานและลูกจ้างที่เข้าไปทำงานในโรงงาน มีการปิด ประตูไม่ให้เข้าออก มีการขว้างก้อนหินเข้าไปในโรงงานและเหตุเกิดริมถนนสาธารณะ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง

คำพิพากษาฎีกาที่ 2034-2041/2537 ชักชวนนักศึกษาประชาชนชุมนุมกล่าวโจมตีผู้ว่าราชการจังหวัด คนเหล่านั้นรวมตัวกันหลายพันคนขว้างปาเผาจวนผู้ว่าราชการจังหวัดคนเหล่านั้นผิด มาตรา 116,215

มาตรา 216 เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 215 ให้เลิกไป ผู้ใดไม่เลิก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

  • คำว่า เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 215 ให้เลิก แสดงว่าการมั่วสุมนั้นยังไม่ เป็นความผิดสำเร็จตามมาตรา 215 ศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ชัดเจนคือ

คำพิพากษาฎีกาที่ 1974/2532 ตามมาตรา 216 มุ่งประสงค์จะลงโทษผู้ที่ขัดคำสั่งเจ้าพนักงานที่ไม่ยอมเลิกการมั่วสุมเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 215 ซึ่งเป็นการกระทำที่ยังไม่ถึงขั้นที่ผู้กระทำได้ลงมือใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญ หรือทำให้เกิดความวุ่นวาย อันเป็นความผิดสำเร็จตามมาตรา 215 ดังนั้นมาตรา 216 จึงเป็นความผิดต่างหากอีกบทหนึ่ง ด้วยเหตุนี้หากเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วผู้กระทำไม่เลิกตามคำสั่งของเจ้าพนักงานก็เป็นความผิด และได้กระทำต่อไปจนเป็นความผิดสำเร็จ ตามมาตรา 215 ผู้กระทำย่อมมีความผิดทั้งตามมาตรา 215 และมาตรา 216 อันเป็นการกระทำกรรมเดียวจากเจตนาเดียวกัน จึงต้องลงโทษตามมาตรา 216 ซึ่งเป็นบทหนัก ตามมาตรา 90

คำพิพากษาฎีกาที่ 346/2535

ประเด็นที่3 ความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์

มาตรา 217 ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 1,000 บาท ถึง 14,000 บาท

ข้อสังเกต

  • คำว่า “ทรัพย์” คือ สังหาริมทรัพย์ หรือ อสังหาริมทรัพย์ก็ได้ ( ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 552/2475 )
  • ทรัพย์ที่เผาต้องเป็นของผู้อื่น การเผาเรือนของตนเองไม่เป็นความผิด (คำพิพากษาฎีกาที่ 389/2483) หากเผาทรัพย์ที่ตนเองเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไม่มีความผิดตามมาตรานี้ เพราะไม่ใช่ทรัพย์ของผู้อื่น (คำพิพากษาฎีกาที่ 747/2484) ต่อมามีคำพิพากษาฎีกาที่ 3043/2526 และคำพิพากษาฎีกาที่ 5364/2536,5710/2541 วินิจฉัยอย่างเดียวกัน)
  • ตามมาตรานี้ จำเลยลอบเข้าไปในศาลแล้วเอาสำนวนความแพ่งและอาญาราดน้ำมันเผาไฟเสีย มีผู้จับได้ ยังไม่ทันลุกลามไปไหม้ศาล ดังนี้จำเลยมีความผิดตามมาตรา 217 นี้ (ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 377/2461)
  • แต่ถ้าเจ้าของทรัพย์ยินยอมให้เผาก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้ แต่อาจเป็นความผิดตามมาตรา 220 และมาตรา 358 ได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 533/2484)
  • กฎหมายมาตรานี้ใช้คำว่า “วางเพลิงเผาทรัพย์” ฉะนั้น ทรัพย์จึงต้องติดไฟด้วย จึงจะเป็นความผิดสำเร็จ แต่ไม่จำเป็นต้องไหม้ทั้งหมด เพียงแต่ไหม้บางส่วนก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว

คำพิพากษาฎีกาที่ 495/2479 เผาหลังคาเรือนมีคนดับเสียก่อนเพลิงไหม้ จาก ไป4ตับ เป็นความผิดสำเร็จ

คำพิพากษาฎีกาที่ 66-67/2471 จำเลยขนน้ำมันเบนซินมา 12 ปีบ เทราดน้ำมันนองพื้นกระดาน น้ำมันที่เหลือวางเรียงรายตามพื้นชั้นบนและชั้นล่าง เอากระดาษหนังสือพิมพ์ชุบน้ำมันวางเรียงรายเป็นชนวน จุดธูปปักอยู่ในห่อกระดาษดินปืน ธูปไหม้เหลือเพียงอีกองคุลีจะถึงดินปืน มีผู้พบเห็นเสียก่อนเพลิงจึงไม่ลุกไหม้ ถือเป็นการกระทำความผิดแล้วพ้นขั้นตระเตรียม จำเลยมีความผิดฐานพยายามวางเพลิง

คำพิพากษาฎีกาที่ 5544/2531 การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์นั้นไม่หมายความเพียงว่า เอาเพลิงไปวางเท่านั้น หากต้องเป็นการเผาทำให้เกิดเพลิงไหม้ทรัพย์นั้นติดไฟขึ้นด้วย เพียงแต่ทรัพย์มีรอยเกรียมแต่ยังไม่ไหม้ไฟ ยังถือไม่ได้ว่าเป็นความผิดสำเร็จ คงเป็นความผิดฐานพยายามเท่านั้น

คำพิพากษาฎีกาที่ 2829/2532 การกระทำที่เป็นความผิดสำเร็จฐานวางเพลิงเผาโรงเรือนนั้น ไม่หมายความเพียงเอาเพลิงไปวางเท่านั้น หากต้องเป็นการเผาทำให้เกิดเพลิงไหม้โรงเรือนนั้นลุกติดไฟขึ้นด้วย เพียงแต่ฝาผนังอันเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรือนมีรอยเขม่าดำแต่ยังไม่ไหม้ไฟ ยังถือไม่ได้ว่าเป็นความผิดสำเร็จ แม้จะมีทรัพย์สินอื่นบางรายการ เช่น เครื่องเรือนถูกไฟลุกไหม้ด้วย ก็ถือไม่ได้ว่าทรัพย์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรือนซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยได้ถูกไฟไหม้ด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นเพียงความผิดฐานพยายามวางเพลิงเผาโรงเรือนตามมาตรา 218 , 80 เท่านั้น

คำพิพากษาฎีกาที่ 1004/2531 ต้องเป็นการจุดไฟจนเพลิงติดเชื้อลุกขึ้นแล้ว แม้จะดับทันก็เป็นความผิดสำเร็จตามมาตรา 217

  • การกระทำโดยสำคัญผิดว่าทรัพย์เป็นของตนเองหรือสำคัญผิดว่าเจ้าของยินยอม ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้ (ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 814/2479)

มาตรา 218 ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ดังต่อไปนี้

  1. โรงเรือน เรือ หรือแพที่คนอยู่อาศัย
  2. โรงเรือน เรือ หรือแพอันเป็นที่เก็บหรือทำสินค้า
  3. โรงมหรสพหรือสถานที่ประชุม (ต้องเป็นสถานที่ประชุมถาวร)
  4. โรงเรือนอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เป็นสาธารณสถาน หรือเป็นที่สำหรับประกอบพิธีกรรมตามศาสนา
  5. สถานีรถไฟ ท่าอากาศยานหรือที่จอดรถหรือเรือสาธารณะ
  6. เรือกลไฟ หรือเรือยนต์ อันมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป อากาศยานหรือรถไฟที่ใช้ในการขนส่งสาธารณะ ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี

ข้อสังเกต

  • มาตรา 218 เป็นเรื่องของโทษหนักขึ้นเท่านั้น หลักเกณฑ์ต่างๆก็ต้องใช้มาตรา 217 อยู่นั่นเอง

คำพิพากษาฎีกาที่ 5364/2536 กรณีตามมาตรา 218 ต้องเป็นความผิดตามมาตรา 217 เสียก่อนถ้าไม่เป็นความผิดตามมาตรา 217 แม้จะกระทำต่อทรัพย์ตามมาตรา 218 ก็ไม่เป็นความผิดฐานวางเพลิงตามมาตรา 218

  • คำว่า “โรงเรือน เรือ หรือ แพ ที่ดินอยู่อาศัย” มีความหมายแคบกว่าคำว่าเคหสถาน เพราะคำว่าเคหสถานหมายความรวมถึงบริเวณของที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยนั้นด้วย คำว่าโรงเรือน เรือ หรือ แพ ที่คนอยู่อาศัย ไม่รวมถึงบริเวณที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัย นั้นด้วย การเผาเล้าไก่ เล้าหมูหรือรั้วบ้านจึงไม่มีความผิดตามมาตรา 218

คำพิพากษาฎีกาที่ 114/2531 วินิจฉัยว่า การที่จำเลยจุดไฟเผาที่นอนในห้องของโรงน้ำชา เพราะไม่พอใจหญิงบริการของโรงน้ำชานั้น จำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าเมื่อที่นอนถูกเผาไหม้แล้ว อาจจะลุกลามไหม้เตียงนอนฝาผนังเพดาน จนกระทั่งโรงน้ำชาแห่งนั้นทั้งหมดได้ เมื่อได้ความว่าโรงน้ำชานั้นมีคนอยู่อาศัยด้วย จำเลยจึงต้องมีความผิดฐานวางเพลิงโรงเรือนที่คนอยู่อาศัยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 218(1)

คำพิพากษาฎีกาที่ 6738/2537 วินิจฉัยว่า จำเลยใช้ของเหลวไวไฟเทราดและจุดไฟให้ลุกไหม้ผู้ตาย ขณะอยู่ในห้องทำงานของโจทก์ร่วมที่ 2 บนชั้นสองของตึกแถวที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นโรงเรือนที่พักอาศัยและเป็นโรงเรียนสอนตัดเสื้อ ของโจทก์ร่วมที่ 1 ปรากฏว่า นอกจากไฟจะลุกไหม้ผู้ตายและโจทก์ร่วมที่ 2 แล้วยังลุกไหม้โต๊ะ เก้าอี้ และพื้นห้องของโจทก์ร่วมที่ 1 ดังกล่าวเสียหาย เห็นได้ว่าโดยลักษณะแห่งการกระทำของจำเลยเช่นนี้ จำเลยย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำของจำเลยดังกล่าวได้ว่าไฟต้องลุกไหม้ขึ้นภายในอาคารตึกแถวที่เกิดเหตุ ถือได้ว่าจำเลยกระทำโดยเจตนาวางเพลิงเผาโรงเรือนของโจทก์ร่วมที่ 1 ด้วย

คำพิพากษาฎีกาที่ 115/ 2542 เผารถในโรงรถที่อยู่ติดกับอาคารที่เป็นส่วนหนึ่งของภัตตาคารและเป็นอาคารที่อยู่อาศัยของผู้เสียหายกับพวก จำเลยย่อมเล็งเห็นว่าเพลิงต้องลุกไหม้จึงมีความผิดตามมาตรา 218(1) , 217

คำพิพากษาฎีกาที่ 6666/2542 จำเลยดึงรั้วไม้ไผ่ผ่าซีก ที่ยึดติดเป็นแผง ซึ่งเป็นรั้วบ้านของโจทก์ร่วมที่ 1 แล้วนำไปเผาทำลายนั้น เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตาม ป.อ. มาตรา 358 เพียงบทเดียว มิใช่กระทำผิดหลาย

บท เพราะจำเลยมีเจตนาจะทำลายรั้วไม้ไผ่ที่ปักติดเป็นแผง โดยนำไปเผาให้ใช้การไม่ได้เท่านั้น การเผาแผงไม้ไผ่มิใช่เป็นการวางเพลิงเผาทรัพย์รั้วบ้านของโจทก์ เนื่องจากจำเลยมิได้วางเพลิงเผาแผงไม้ไผ่ในขณะที่มีสภาพเป็นรั้วกั้นขอบเขต เป็นที่อยู่อาศัยของโจทก์ร่วมที่ 1 อันจะต้องด้วยความผิดตาม ป.อ. มาตรา 217 (เนติฯ 54)

  • คำว่า “สาธารณสถาน” คือตามมาตรา 1(3) สถานที่ใดๆ ซึ่งประชาชนมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้ คำว่า สาธารณสถานตามมาตรา 218(4) หมายถึงสาธารณสถานโดยเฉพาะ เช่น ศาลาพักร้อนตามทางเดินไม่หมายถึงสาธารณสถานเฉพาะบางส่วนที่ประชาชนมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้โดยจำกัด เช่น ร้านค้า

มาตรา 219 ผู้ใดตระเตรียม เพื่อกระทำความผิดดังกล่าวในมาตรา 217 หรือมาตรา 218 ต้อง ระวางโทษเช่นเดียวกับพยายามกระทำความผิดนั้นๆ

คำพิพากษาฎีกาที่ 557/2475 จำเลยใช้ให้ลูกจ้างเปิดปีบน้ำมันก๊าด 10 ปีบ จำเลยเอาผ้าห่มยัดใส่ปีบ แล้วให้ลูกจ้างนำไปวางหลังเรือนผู้อื่นซึ่งติดอยู่กับเรือนจำเลย และให้ ฮ. คอยดูคนที่ถนน พอขนน้ำมันได้ 3 ปีบ ฮ. แกล้งมาบอกตำรวจมา จำเลยสั่งให้เลิกและขนน้ำมันกลับไปตามเดิม ต่อมาอีก 2, 3 วัน จำเลยก็ทำเช่นเดียวกันอีก ฮ. ก็แกล้งบอกว่าตำรวจมาอีก จำเลยก็ขนน้ำมันกลับไปอีก ดังนี้จำเลยเป็นเพียงตระเตรียมการจะวางเพลิง เหตุใกล้ชิดอันจะทำให้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นยังไม่มี ยังไม่เป็นความผิดฐานพยายาม แต่ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 219

คำพิพากษาฎีกาที่ 204/2475 เอาน้ำมันเบนซินราดบนเครื่องใช้จนเปียกโชก โดยเจตนาจะวางเพลิงโดยจำเลย มีไม้ขีดไฟที่แขวนไว้ในกระเป๋าเสื้อที่แขวนไว้ แต่ชาวบ้านพังประตูเข้าไปขัดขวาง ผิดฐานพยายามวางเพลิง (พ้นขั้นตระเตรียมการแล้ว)

มาตรา 220 ผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใดๆ แม้เป็นของตนเองจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษไม่เกินเจ็ดปีและปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท

ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในวรรคแรก เป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้แก่ทรัพย์ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 218 ผู้กระทำต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 218

ข้อสังเกต

  • กฎหมายใช้คำว่า วัตถุใดๆ แม้เป็นของตนเองไม่ใช้คำว่าทรัพย์หรือทรัพย์สิน ก็เพราะกฎหมายไม่ได้คำนึงถึงว่ามีเจ้าของหรือไม่ จะมีราคาและอาจยึดถือเอาได้หรือไม่ ถ้าเป็นวัตถุที่ไหม้ไฟได้ก็เพียงพอแล้วที่จะมีความผิดตามมาตรา 220 นี้
  • คำว่า “จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น หรือทรัพย์ของผู้อื่น” กล่าวคือ ไม่จำต้องเกิดอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่นเพียงแต่น่าจะเป็นอันตรายก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว (เป็นพฤติการณ์ประกอบการกระทำ)

คำพิพากษาฎีกาที่ 36/2461 จำเลยเอาเพลิงจุดเผากอไผ่ในไร่ของจำเลย ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 2 เส้น เวลานั้นลมพัดจัด มีผู้ห้ามจำเลย จำเลยก็ไม่ฟังขืนจุด ลมพัดเอาลูกไฟปลิวไปตกไหม้บ้านลุกลาม ไป 70 หลัง เป็นความผิดตามมาตรา 220

คำพิพากษาฎีกาที่ 703/2500 จำเลยจุดไฟเผากิ่งไม้แห้งในไร่จำเลยไฟได้ไหม้ต้นมะพร้าว ต้นกล้วยของผู้เสียหายแต่ดับได้ก่อนไหม้โรงข้าว เป็นความผิดตามมาตรา 220 วรรคแรกไม่เป็นความผิดตามมาตรา 220 วรรคสอง

คำพิพากษาฎีกาที่ 1048/2494 จำเลยจุดไฟเผาป่าไผ่ขณะที่ลมแรง ที่ที่จำเลยจุดไฟมีป่าไผ่ติดต่อกันอยู่เป็นพืด 200 กอ แห้งบ้างสดบ้าง ใกล้ๆกันนั้น มีบ้านเรือนราษฎรอยู่หลายหลัง เมื่อมีผู้มาห้ามจำเลยจำเลยก็ไม่ฟัง ขืนจุดจนได้เป็นเหตุให้ไฟไหม้กอไผ่ขึ้นแล้วลูกไฟปลิวไปตกไหม้บ้านเรือนผู้เสียหายหมด ดังนี้การกระทำของจำเลยเป็นการจุดไฟเผากอไผ่ที่น่าจะเป็นอันตรายต่อผู้อื่นเป็นความผิดตามมาตรา 220

คำพิพากษาฎีกาที่ 504/2494 จำเลยจุดไฟเผากอไผ่ของจำเลย ขณะนั้นมีลมพัดแต่เพียงเล็กน้อย ตามธรรมดาของฤดูกาลในเวลานั้น ภายหลังเกิดลมกล้าขึ้น พัดเอาลูกไฟไปไหม้เรือนของผู้อื่น ซึ่งอยู่ห่างออกไป 5 เส้น เห็นได้ว่าจำเลยไม่อาจคาดคิดเห็นได้ ในขณะจุดไฟเผากอไผ่ จะถือว่าจำเลยจุดเผากอไผ่ในลักษณะอันน่ากลัวว่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่นไม่ได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 1715/2527,1285/2529 การกระทำของจำเลยเป็นไปตามปกติธรรมดาของชาวสวนชาวไร่ทั่วไป ซึ่งบุคคลในขณะจุดไฟย่อมไม่คาดคิดถึงผลการกระทำของตนว่า เพลิงจะลุกลามไปจนน่าจะเป็นอันตรายแก่ทรัพย์ของผู้อื่น ตามมาตรา 218 นี้ คำว่า น่าจะเกิดอันตรายต่างกับ เจตนาย่อมเล็งเห็นผลว่าจะเกิดอันตราย คือเพียงแต่น่าเกิดอันตรายยังไม่เป็นการเล็งเห็นผลว่าจะเกิดอันตรายขึ้นแน่ๆ อันจะกลายเป็นเจตนาต่อผลอันเป็นอันตรายที่เกิดขึ้นนั้นเสียทีเดียว

คำพิพากษาฎีกาที่ 2190/2531 จำเลยทั้งสองจุดไฟเผาไม้ในที่ดินของตน จนน่าจะเป็นอันตรายแก่สวนยางพาราของผู้อื่น กับมิได้เตรียมป้องกันมิให้เพลิงลุกไหม้สวนยางข้างเคียง เพียงแต่ใช้ไม้ตีให้ดับเท่านั้น ไม่เป็นการระมัดระวังอย่างเพียงพอ เมื่อดับไฟไม่ได้ และไฟได้ลุกลามไปไหม้สวนยางของผู้เสียหาย จึงเป็นความผิด มาตรา 220 วรรคหนึ่งและมาตรา 225

  • ตามวรรคสอง มีความหมายเพียงแต่ว่า ให้ผู้กระทำต้องระวางโทษตาม มาตรา 218 เท่านั้น ไม่ได้หมายความว่า การกระทำเป็นความผิดตามมาตรา 218 ฉะนั้นหากมีคนตาย จะนำมาตรา 224 มาลงโทษผู้กระทำไม่ได้ เพราะมาตรา 218 เป็นการกระทำโดยเจตนา

ถ้อยคำในวรรค 2 แสดงว่าเป็นผลที่ทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้น จึงต้องเป็นไปตามมาตรา 63 ความ

รับผิดในผลธรรมดาที่ย่อมเกิดขึ้นได้ตามมาตรา นี้ เป็นความรับผิดในผลที่เกิดขึ้นเกินกว่าที่ผู้กระทำมีเจตนาให้

เกิดผลตามมาตรานี้ ยังไม่ถึงขนาดเป็นผลที่ผู้กระทำย่อมเล็งเห็นผลตามมาตรา 59

มาตรา 221 ผู้ใดกระทำให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น

ข้อสังเกต

  • คำว่า “ ระเบิด” หมายความว่า ปะทุแตกออกไป ทำให้ปะทุแตกออกไป กระทำให้เกิดระเบิดจึงหมายความว่า การทำให้ปะทุแตกออกไปจากสภาพวัตถุเดิมด้วยกำลังแรงของระเบิดนั้น

คำพิพากษาฎีกาที่ 210/2498 การกระทำที่เป็นความผิดตามมาตรา 221 ต้องเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นโดยเจตนาถ้าเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นโดยประมาทจะไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้

มาตรา 222 ผู้ใดกระทำให้เกิดระเบิดจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ทรัพย์ดังกล่าวใน มาตรา 217,218 ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ

ข้อสังเกต

  • คำว่า “เกิดอันตรายแก่ทรัพย์” นั้นไม่ว่าจะเกิดทั้งหมดหรือบางส่วนก็ต้องถูกลงโทษตาม มาตรานี้

คำพิพากษาฎีกาที่ 605/2521 ห้องแถว 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นร้านขายของ ชั้นบนเป็นห้องนอน ถือได้ว่าใช้อยู่อาศัยทั้งชั้นบนชั้นล่าง จำเลยขว้างระเบิด ทำให้ฝาบ้าน ประตู กระจกช่องลมชั้นล่างเสียหาย เป็นความผิดตามมาตรา 222,218

คำพิพากษาฎีกาที่ 234/2528 ระเบิดเป็นอาวุธร้ายแรง เมื่อถอดสลักแล้วย่อมต้องระเบิดขึ้นทำอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินได้ จำเลยทำให้เกิดระเบิดโดยเจตนาฆ่าตัวตาย เป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย จึงเป็นความผิดตามมาตรา 222

มาตรา 224 ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในมาตรา 217 ,218,221,222 เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษประหารชีวิต,จำคุกตลอดชีวิต

ถ้าเป็นเหตุให้บุคคลอื่นรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษ ประหาร จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 10ปี ถึง 20 ปี

  • มาตรานี้ ผลที่เกิดคือความตายและหรืออันตรายสาหัส ต้องเป็นผลที่ตามธรรมดาย่อมเกิดขึ้น ตาม มาตรา 63 คำพิพากษาฎีกาที่ 1412/2504 (ป) การเข้าไปช่วยดับไฟเป็นเหตุให้ หมู ตาย เพราะการกระทำของหมูเองไม่ใช่ตายเพราะการวางเพลิง หมึกจึงไม่ต้องรับโทษตามมาตรานี้
  • มาตรานี้ไม่ได้บัญญัติถึง มาตรา 220 ด้วย ฉะนั้นหากผู้กระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใดๆ แม้เป็นของตนเอง เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตายหรือรับอันตรายสาหัส จะนำมาตรานี้มาใช้ไม่ได้

มาตรา 225 ผู้ใดทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาท และเป็นเหตุให้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียหาย หรือการกระทำโดยประมาทนั้นน่าจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตของบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหรือปรับไม่เกิน หนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 225 แยกการกระทำความผิดเป็น 2 กรณี คือ 1.ทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาท และเป็นเหตุให้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียหาย กรณีหนึ่ง หรือ

2.ทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาทและน่าจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตของบุคคลอื่น (แสดงว่าต้องตาย) อีกประการหนึ่ง

มีข้อสังเกต เกี่ยวกับมาตรา 225 คือ

  1. ทำให้เกิดเพลิงไหม้ ไม่จำกัดว่าจะต้องทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่ทรัพย์หรือวัตถุใดๆ อาจเป็นทรัพย์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือทรัพย์ที่ไม่มีเจ้าของก็ได้
  2. โดยประมาท เป็นการกระทำโดยไม่มีเจตนา แต่การทำโดยปราศจากความระมัดระวังตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคสี่
  3. กระทำให้เกิดเพลิงไหม้มี 2 ลักษณะ คือ
    1. อาจจะเป็นกรณีที่เพลิงยังไม่มีอยู่แล้วไปกระทำให้เกิดเพลิงไหม้ขึ้น หรือ
    2. อาจเป็นกรณีที่มีเพลิงไหม้อยู่ก่อนแล้ว และกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้เพลิงลุกลามไหม้ต่อไป
  4. เป็นเหตุให้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียหาย กรณีที่จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ทรัพย์ที่เสียหาย จะต้องเป็นทรัพย์ของผู้อื่นเท่านั้น เช่นเดียวกับมาตรา 217,218 ถ้าเป็นทรัพย์ของตนเองหรือทรัพย์ที่ผู้อื่นเป็น
  5. เจ้าของรวมอยู่ด้วยไม่เป็นความผิดหรือถ้าทรัพย์ของผู้อื่นไม่เสียหาย เพียงแต่น่าจะเสียหายก็ไม่เป็นความผิดเช่นเดียวกัน
  6. น่าจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตของผู้อื่น ตามกรณีนี้เพียงแต่น่าจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตของผู้อื่นก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว และต้องเป็นกรณีเกี่ยวกับชีวิตเท่านั้น ถ้าเป็นอันตรายแก่กายไม่เป็นความผิด หรือน่าจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตของตนเองก็ไม่เป็นความผิดเช่นเดียวกัน

คำพิพากษาฎีกาที่ 1285/2529 จุดไฟเผาฟางข้างในนาของตนเองมีลักษณะน่าจะเป็นอันตรายต่อทรัพย์สินของบุคคลอื่น เช่น กำลังมีลมพัดแรงซึ่งเป็นที่คาดเห็นได้ว่าเพลิงจะลามไปไหม้นาตลอดจนโรงเรือนซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับบริเวณที่จุดไฟ แต่จำเลยยังขืนจุดไฟจนลุกลามไปไหม้ทรัพย์สินของผู้เสียหาย ดังนี้จำเลยจึงจะมีความผิดตามมาตรา 220 แต่เมื่อระยะเวลาที่จำเลยจุดไฟจนถึงเวลาที่บ้านผู้เสียหายถูกเพลิงไหม้ห่างกันหลายชั่วโมง แสดงว่าไม่มีลักษณะที่น่ากลัวจะเป็นอันตรายต่อทรัพย์สินของบุคคลอื่น ตามมาตรา 220 แต่เป็นเพราะจำเลยประมาทไม่ควบคุมดูและให้เพลิงไหม้อยู่ภายในขอบเขตจำกัด การกระทำของจำเลยจึงเป็นเรื่องขาดความระมัดระวังจนก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของผู้อื่นอันเป็นความผิดตามมาตรา 225 คำพิพากษาฎีกาที่ 2090/2526 แม้ก่อนจะจุดไฟเผาสวนของจำเลย จำเลยได้ถางต้นไม้เพื่อกันมิให้ไฟลุกลามไปติดสวนของผู้อื่น แล้วไฟที่จำเลยจุดมิได้ลุกลามติดสวนของผู้เสียหายในทันทีก็ตาม แต่การที่จำเลยมิได้ใช้ความระมัดระวังตรวจตราดูแลดับไฟที่จำเลยจุดเผาสวนไว้ก่อนเกิดเหตุ 3 ถึง 4 วัน ให้หมดไป ปล่อยให้ติดคุขอนไม้จนเป็นเหตุให้ลุกลามไปไหม้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาทและเป็นเหตุให้ทรัพย์ของผู้เสียหาย จำเลยมีความผิดตามมาตรา 225

คำพิพากษาฎีกาที่ 1211/2530 (ป) ปั้มติ๊ก

ประเด็นที่ 4 ใช้ยานพาหนะรับจ้างโดยสารจนน่าจะเป็นอันตราย

มาตรา 233 ผู้ใดใช้ยานพาหนะรับจ้างขนส่งโดยสารเมื่อยานพาหนะนั้นมีลักษณะหรือมีการบรรทุก จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในยานพาหนะนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ข้อสังเกต

  • คำว่า “ ยานพาหนะ” จะเป็นรถ หรือ เกวียน แพ หรืออากาศยานก็ไม่จำกัด
  • คำว่า “รับจ้าง” มาตรานี้จะเป็นความผิดก็ต่อเมื่อเป็นการใช้ยานพาหนะรับจ้าง ถ้าไม่รับจ้างก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรา นี้ การรับจ้างต้องเป็นการกระทำเพื่อบำเหน็จค่าจ้าง การขนส่งโดยไม่มีบำเหน็จจึงมิใช่การรับจ้างตามมาตรา 233
  • ยานพาหนะนั้น มีลักษณะหรือมีการบรรทุกจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในยานพาหนะนั้น เช่น พวงมาลัยรถยนต์หลวม ห้ามล้อชำรุด ยางไม่ดี หรือบรรทุกจนเพียบเกินขนาดหรือสูงเกินไป เป็นต้น เป็นข้อเท็จจริงที่ผู้กระทำต้องรู้ แต่สภาพเช่นนั้นน่าจะเป็นอันตรายหรือไม่เป็นข้อเท็จจริง ต้องพิจารณาจากความรู้ของคนทั่วไป อัตราที่กำหนดในใบอนุญาต เป็นเพียงเหตุผลประกอบการวินิจฉัยไม่ถือว่าถ้าเกินอัตรานั้นแล้วยานพาหนะนั้นจะต้องอยู่ในลักษณะน่าจะเป็นอันตรายไปในตัว เพียงแต่บรรทุกคนในเรือโดยสารเกินอัตรา แต่ไม่เพียงผิดธรรมดายังไม่เป็นความผิดฐานนี้ (ฎ. 1073/2464)

คำพิพากษาฎีกาที่ 1281-1282/2538 วินิจฉัยอธิบายว่า คำว่าน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในยานพาหนะไม่ใช่ผลของการกระทำ เมื่อจำเลยใช้เรือบรรทุกโดยสารจนมีลักษณะน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในเรือนั้นแม้ยังไม่มีความเสียหายก็เป็นความผิดสำเร็จ

คำพิพากษาฎีกาที่ 153/2506 (ป) รถยนต์สาธารณะบรรทุกเกินกำหนดในใบอนุญาตถึงกับเกาะข้างและท้ายรถ ขึ้นนั่งบนหลังคาซึ่งมีก้อนน้ำแข็งใหญ่กว่า 10 ก้อนเป็นการบรรทุกจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในยานพาหนะนั้น มีความผิดตามมาตรานี้

  • “ยานพาหนะรับจ้างขนส่งโดยสาร” หมายถึงเฉพาะผู้ใช้ยานพาหนะรับจ้างขนส่งคนโดยสารเท่านั้น มาตรานี้ ประสงค์จะลงโทษแต่เฉพาะผู้ใช้ยานพาหนะรับจ้างขนส่งคนโดยสารไม่รวมถึงรับจ้างขนของ , ผู้ที่ไม่ได้รับจ้าง
  • ตามมาตรานี้บุคคลที่น่าจะได้รับอันตรายเป็นบุคคลในยานพาหนะนั้นมิใช่บุคคลภายนอกยานพาหนะ

คำพิพากษาฎีกาที่ 1073/2464 จำเลยเป็นเจ้าของเรือกลไฟ วันเกิดเหตุจำเลยนำเรือไปใช้รับส่งคนโดยสารบรรทุกเกินอัตราในใบอนุญาต ต่อมาเรืออับปางและล่มจมลงคนโดยสารจมน้ำตายหลายคน ข้อเท็จจริงที่ศาลฎีกาวินิจฉัยคือ เหตุที่เรืออับปางจมลงนั้นได้ความว่าถูกพายุพัดจัด อย่างนี้จำเลยไม่มีความผิด เพราะคดีได้ความแต่เพียงว่าจำเลยนำเรือกลไฟมารับคนโดยสารโดยบรรทุกเกินอัตราเท่านั้น โจทก์ไม่ได้นำสืบให้ปรากฏที่เรืออับปางจมลงเป็นเพราะอะไร เช่น บรรทุกเพียบเกินขนาดหรือไม่ กลับปรากฏเพราะพายุจึงจมลง เพียงแต่จำเลยรับคนโดยสารเกินขนาดไม่พอชี้ขาดลงโทษจำเลยตามมาตรานี้ได้ แสดงให้เห็นข้อเท็จจริงที่ว่าน่าจะเป็นอันตรายจะดูแต่เพียงว่าบรรทุกเกินอัตราไม่พอ แต่การบรรทุกเกินอัตราเป็นเหตุประกอบอันหนึ่งที่ศาลจะวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดหรือไม่

  • คำว่า “ น่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในยานพาหนะ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 233 เป็นพฤติการณ์ประกอบการกระทำไม่ใช่ผลของการกระทำ เมื่อเรือนั้นมีลักษณะหรือมีการบรรทุกจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในเรือ แม้ยังไม่มีความเสียหายก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว

คำพิพากษาฎีกาที่ 1281-1282/2538 จำเลยที่ 2 ถึง จำเลยที่ 4 ตกลงเป็นหุ้นส่วนซื้อเรือเอี้ยมจุ้นมาต่อเติมดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันในกิจการท่องเที่ยว โดยจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ไปติดต่อขอซื้อเรือของกลางและ เรือที่

พลิกคว่ำ จำเลยที่ 3 มีหน้าที่ในการออกแบบและต่อเติมเรือทั้งสองลำให้เป็น 2 ชั้น และได้จ้างจำเลยที่ 1 ขับเรือของกลาง ซึ่งมีลักษณะน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในเรือไปในการรับจ้างขนส่งคนโดยสารด้วยการบรรทุกจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในเรือนั้น จึงเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสี่ร่วมกระทำความผิดด้วยกันตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 (เนติฯ53)

ประเด็นที่ 5 ความผิดฐานปลอมปน

มาตรา 236 ผู้ใดปลอมปนอาหาร ยาหรือเครื่องอุปโภคบริโภคอื่นใด เพื่อบุคคลอื่นเสพหรือใช้และการปลอมปนนั้นน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่สุขภาพหรือจำหน่าย หรือเสนอขายสิ่งเช่นว่านั้น เพื่อบุคคลเสพหรือใช้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ข้อสังเกต

  • ปลอมปน มีความหมายว่า ทำให้ไม่บริสุทธิ์โดยเอาของอื่นผสมลงไปไม่ได้หมายความว่าต้องทำให้หลงว่าเป็นของแท้
  • การปลอมปนนั้นต้องทำเพื่อให้คนอื่นเสพหรือใช้ จึงจะผิดตามมาตรานี้ การปลอมปนเพื่อตนเองเสพ หรือใช้ ไม่เป็นความผิด แต่ถ้าปลอมปนเพื่อตนเองและผู้อื่นเสพด้วยกันก็เป็นการปลอมให้ผู้อื่นเสพด้วยอยู่ในตัวจึงมีความผิด คำพิพากษาฎีกาที่ 64/2465

คำพิพากษาฎีกาที่ 2143/2536 จำเลยเอายาเบื่อหนูใส่ในโอ่งน้ำดื่มของผู้เสียหายโดยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย ผู้เสียหายทราบเสียก่อนไม่ยอมดื่มน้ำดังกล่าว ผู้เสียหายจึงไม่ถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยเข้าลักษณะเป็นการปลอมปนเครื่องอุปโภคบริโภคเพื่อบุคคลอื่นเสพหรือใช้และการปลอมปนนั้นน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่สุขภาพ จำเลยจึงมีความผิดตามมาตราประมวลกฎหมายอาญามาตรา 236 และมาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 กรณีเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามมาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 ซึ่งเป็นบทหนักตามมาตรา 80

  • การปลอมปนต้องมีพฤติการณ์ประกอบการกระทำ คือ ต้องถึงขนาดที่น่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่สุขภาพ เช่น ทำให้เกิดอาการร้อนคอ อาเจียน อ่อนเพลีย หรือวิงเวียน เป็นต้น พฤติการณ์ที่น่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่สุขภาพนี้มิใช่เป็นผลของการกระทำ ดังนั้น แม้ว่าจะยังไม่เกิดผลคือ อันตรายแก่สุขภาพการกระทำดังกล่าวก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว

คำพิพากษาฎีกาที่ 59/2459 จำเลยนำพลูจีบใส่สารหนูให้เขากินเขากินแล้วไม่ตาย แพทย์ตรวจแล้วรู้ว่ามีสารหนูแต่ไม่รู้ว่ามีสารหนูมากน้อยเท่าใด อันสารหนูถ้ากินมากก็ตายกินน้อยไม่ตาย ดังนี้เป็นความผิดฐานปลอมปนอาหารตามมาตรานี้แล้ว

คำพิพากษาฎีกาที่ 312/2460 จำเลยเป็นลูกจ้างได้ลอบนำยาเบื่อมาเจือลงในหม้อข้าวที่หุงให้นายจ้างรับประทานรู้สึกมึนเมาและวิงเวียนศรีษะมีความผิดตามมาตรานี้

  • คำว่า “จำหน่าย” = ขาย แจก แลกเปลี่ยน เอาออก

คำว่า “ขาย” = เอาของแลกเงินตรา

  • จะเห็นได้ว่า “จำหน่าย” มีความหมายกว้างกว่า “ขาย” ฉะนั้น หากจำเลยแจก,แลกเปลี่ยน ก็อาจเป็นการจำหน่าย ส่วนขายถ้าจำเลยเสนอขายก็เป็นความผิด แต่ถ้าเสนอแจก เสนอแลกเปลี่ยน ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้
  • คำว่า “ผู้ใดปลอมปนเพื่อบุคคลอื่นเสพหรือใช้และการปลอมปนนั้นน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่สุขภาพ” กฎหมายมุ่งเอาผิดเฉพาะกรณีที่จำเลยมีเจตนาปลอมปนเพื่อให้บุคคลอื่นเสพ หรือ ใช้โดยน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่สุขภาพเท่านั้น หากปลอมปนเพื่อจะฆ่าจำเลยจะมีความผิดฐานเจตนาฆ่า (คำพิพากษาฎีกาที่ 884/2471 )

มาตรา 237 ผู้ใดเอาของที่มิพิษหรือสิ่งอื่นที่น่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพเจือลงในอาหารหรือน้ำซึ่งอยู่ในบ่อ สระ หรือที่น้ำขังใดๆ และอาหารหรือน้ำนั้นได้มีอยู่หรือจัดไว้เพื่อประชาชนบริโภค

ข้อสังเกต

  • คำว่า “ของที่มีพิษ” คือของทุกชนิดที่มีพิษที่น่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพ
  • คำว่า “น้ำซึ่งอยู่ในบ่อสระหรือขังน้ำใดๆ” คือ ไม่ใช่น้ำที่ไหลไปตามแนวทางเรื่อย ๆ น้ำที่ขังไว้ในโอ่งในขวด เป็นน้ำที่ขังไว้ตามความในมาตรานี้
  • คำว่า “ประชาชน” คือบุคคลทั่วๆไป ไม่จำกัดดังเช่น มาตรา 236 ที่กำหนดว่า เพื่อบุคคลอื่นเสพ
  • มาตรานี้ อ.สุปัน พูลพัฒน์ อธิบายว่า เอายาพิษโรยลงในอาหารหรือน้ำแล้วเป็นความผิดสำเร็จทันที ไม่จำต้องมีประชาชนมาบริโภค แต่ ถ้ามีประชาชนมาบริโภคแล้วตายหรือได้รับอันตรายสาหัส ก็จะมีความผิดตามมาตรา 238
  • การจะลงโทษได้ผู้กระทำจะต้องรู้ว่าเป็นของที่มีพิษหรือสิ่งอื่นนั้นน่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพและต้องรู้ด้วยว่าอาหารหรือน้ำที่เอาของมีพิษหรือสิ่งอื่นเจือลงนั้น ได้มีอยู่หรือจัดไว้เพื่อประชาชนบริโภคด้วย ถ้าไม่รู้ผิดเพียงมาตรา 236 เท่านั้น

มาตรา 238 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 226 -237 เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตายผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 5 ปีถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000บาท ถึง 40,000

ถ้าเป็นเหตุให้คนอื่นรับอันตรายสาหัสต้องระวางโทษ จำคุกตั้งแต่หนึ่งถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท

ข้อสังเกต

  • มาตรานี้เป็นบทหนักขึ้นกว่ามาตรา 226-237 ฉะนั้นความตายหรืออันตรายสาหัส จะต้องเป็นผลโดยตรงมาจากการกระทำความผิดและเป็นผลตามธรรมดาย่อมเกิดขึ้นได้ตามมาตรา 63 ถ้าเป็นผลมาจากเหตุอื่นผู้กระทำความผิด ไม่มีความผิดตามมาตรานี้

คำพิพากษาฎีกาที่ 153/2506 ก. ขับรถยนต์โดยสารที่บรรทุกคนและของในรถจนน่ากลัวอันตรายเป็นความผิดตาม มาตรา 233แต่ก็ขับไปโดยปลอดภัยถึงสามสิบกิโลเมตร ก. ขับเร็วเกินอัตรามากยางล้อหลังด้านซ้าย

ระเบิด รถแฉลบ ตกถนนลงคูตะแคงคนโดยสารตาย 1 คนบาดเจ็บหลายคน ข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่ารถคว่ำคนตายเพราะขับรถเร็ว ไม่ใช่เพราะบรรทุกจนน่าอันตราย ไม่เป็นความผิดที่ต้องลงโทษ หนักขึ้นตามมาตรานี้ ศาลฎีกาอธิบายว่า จำเลยมีความผิดตามมาตรา 238 ต่อเมื่อการกระทำตามมาตรา 233 เป็นเหตุให้คนโดยสารถึงแก่ความตายหรือรับอันตรายสาหัสเท่านั้น ข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความว่า เหตุที่รถคว่ำเพราะจำเลยขับรถเร็วอันเป็นการประมาทเป็นเหตุให้คนตายและได้รับอันตรายสาหัส หาใช่เนื่องจากเหตุบรรทุกคนโดยสารจนน่าจะเป็นอันตรายตามมาตรา 233 ไม่ จึงลงโทษตาม 238 ไม่ได้ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้คนตายและได้รับอันตรายสาหัสตามมาตรา 291 และมาตรา 230

ประเด็นที่ 6 ความผิดฐานปลอมแปลงเงินตรา

ปลอมเงินตรา มาตรา 240 ผู้ใดทำปลอมขึ้นซึ่งเงินตรา ไม่ว่าจะปลอมขึ้นเพื่อให้เป็นเหรียญกษาปณ์ ธนบัตรหรือสิ่งอื่นใด ซึ่งรัฐบาลออกใช้หรือให้อำนาจให้ออกใช้หรือทำปลอมขึ้นซึ่งพันธบัตรรัฐบาลหรือใบสำคัญสำหรับรับดอกเบี้ยพันธบัตรนั้น ๆ ผู้กระทำความผิดฐานปลอมเงินตรา ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบปี ถึง ยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท

ข้อสังเกต

  • ตาม พ.ร.บ. เงินตรา พ.ศ. 2501 มาตรา 6 เงินตราคือ เหรียญกษาปณ์และธนบัตร
  • คำว่า “รัฐบาล” หมายถึงรัฐบาลไทย
  • เงินตราที่ปลอมเป็นความผิดต้องมีเงินตราจริงออกใช้และยังไม่ได้เลิกใช้
  • คำว่า “ทำปลอม” คือ กระทำโดยตั้งใจให้เหมือนของจริง คือดูที่เจตนาของผู้กระทำไม่ได้ดูที่ผลว่าเหมือนของจริงมากน้อยเพียงใด

คำพิพากษาฎีกาที่ 744/2521 วินิจฉัยว่าการปลอมผิดจากของจริงที่ตั้งใจทำให้เหมือนมากน้อยเพียงใดไม่สำคัญ เส้นสีแดงที่กระดาษของกลางต่างกับของแท้ ไม่จำเป็นต้องให้เหมือนกับของแท้ หรือของปลอมก็เป็นความผิดตามมาตรานี้

คำพิพากษาฎีกาที่ 3493/2532 ทดลองทำเหรียญ 50 สตางค์ปลอม แต่ยังไม่เหมือนของจริงต้องทดลองทำอีก ดังนี้เป็นความผิดสำเร็จแล้ว

คำพิพากษาฎีกาที่ 1394/2522 เหรียญห้าบาทปลอมของกลางมีแร่เหล็กและสังกะสีผสมอยู่ทำให้ด้านไม่ขึ้นเงา จำเลยใช้น้ำยาขัดเหรียญเท่านั้น ไม่พอฟังว่าจำเลยปลอมเหรียญกษาปณ์ เพราะจำเลยไม่ได้ร่วมในการทำเหรียญปลอมมาตั้งแต่ต้น เป็นแต่เพียงได้เหรียญปลอมมาแต่เหรียญไม่ขึ้นเงา จำเลยจึงมาขัดให้ขึ้นเงา

  • อ. จิตติ ติงศภัทิย์ เห็นว่าการทำเหรียญปลอมต้องเริ่มต้นหลอมโลหะ ให้เป็นรูปไปจบตรงที่ปัดให้ขึ้นเงา การขัดให้ขึ้นเงาเป็นส่วนหนึ่งของการปลอม
  • การทำปลอมเมื่อทำขึ้นแล้ว ไม่จำต้องนำออกใช้หรือนำออกแสดงให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นของแท้ก็เป็นความผิดสำเร็จ

คำพิพากษาฎีกาที่ 216/2478 อนึ่งที่จำเลยเถียงว่าเงินและสตางค์ปลอมนี้ใช้ไม่ได้โดยไม่มีใครเชื่อนั้น ฟังไม่ขึ้น เพราะเงินและสตางค์รายนี้เมื่อตามสภาพเป็นของปลอมแล้วก็อาจมีการหลงได้

  • การทำปลอมอาจทำได้หลายวิธี การเอาเหรียญบาทที่แท้จริงแต่บุบสลายใช้ชำระหนี้ ตามกฎหมายไม่ได้ มีเครื่องหมายว่าบุบสลายแล้วในเหรียญนั้น การทำเป็นไม่ได้มีรอยบุบสลายเป็นการปลอมเงินตรา (ฎ.5/2477)ธนบัตรที่ฉีกใช้ชำระหนี้ไม่ได้ตามกฎหมาย นำมาต่อกันจะผิดหรือถูกก็ไม่เป็นธนบัตรที่ใช้ชำระหนี้ได้เป็นธนบัตรชำรุดตาม พ.ร.บ. เงินตรา ไม่เป็นเงินตราที่ผู้ที่ได้มานำไปแลกไม่เป็นการปลอมเงินตรา
  • กฎหมายใช้คำว่า “ทำปลอม ฯลฯ เพื่อให้เป็น...” จึงต้องมีเจตนาพิเศษคือ เพื่อให้เป็นเหรียญกษาปณ์ ธนบัตร หรือสิ่งอื่นใดซึ่งรัฐบาลออกใช้หรือให้อำนาจออกใช้

คำพิพากษาฎีกาที่ (ร.ศ.)574/127 วินิจฉัยว่า จำเลยนำเงินกลมเหมือนเงินบาทของรัฐบาลแต่ใหญ่กว่า ประทับตราแต่ไม่ใช่ตราของรัฐบาลแล้วนำไปหลอกขายคนอื่นว่าเป็นเงินตราสมัยเก่าเพิ่งขุดได้ ผู้อื่นหลงเชื่อ จึงซื้อไว้ดังนี้จำเลยผิดฐานฉ้อโกง ไม่ผิดฐานปลอมเงินตรา เพราะเจตนาอย่างอื่นไม่ใช่เจตนาปลอมเพื่อให้เป็นเงินตรา

มาตรา 241 ผู้ใดแปลงเงินตรา ไม่ว่าจะเป็นเหรียญกษาปณ์ ธนบัตร หรือสิ่งอื่นใด ซึ่งรัฐบาลออกใช้หรือให้อำนาจให้ออกใช้ หรือแปลงพันธบัตรรัฐบาล หรือใบสำคัญสำหรับดอกเบี้ย พันธบัตรนั้นๆ ให้ผิดไปจากเดิม เพื่อให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีมูลค่าสูงกว่าจริง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานแปลงเงินตรา

ข้อสังเกต

  • การกระทำความผิดตามมาตรานี้ต้องมีเจตนาพิเศษคือเพื่อให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีมูลค่าสูงกว่าจริงและต้องกระทำต่อเงินตราที่แท้จริง
  • คำว่า “มีมูลค่าสูงกว่าจริง” นี้กฎหมายไม่ได้บัญญัติว่าเป็นมูลค่าเงินตราชนิดที่สูงขึ้นจึงไม่ต้องมีเงินตราที่ออกใช้เงินตามค่าที่แปลงนั้นก็ได้ เช่น แปลงจาก 10 เป็น 15 ก็เป็นความผิดตามมาตรานี้ได้
  • การแปลงเงินตราต้องแปลงมูลค่า ถ้าแปลงรูปเป็นอย่างอื่นไม่มีความผิดตามมาตรานี้
  • การกระทำตามมาตรานี้ ต้องทำต่อเงินตราโดยตรงและมีผลเป็นการแปลงให้เชื่อว่ามีมูลค่าสูงกว่าจริงในตัวเงินตรานั้นเอง การทำให้ตัวเลขให้เลอะเลือนเพื่อไม่ให้รู้ราคาว่าเท่าใด ไม่เป็นการแปลง
  • เมื่อแปลงแล้วเป็นความผิดสำเร็จโดยไม่ต้องนำออกใช้หรือมีผู้อื่นเชื่อว่ามีมูลค่าสูงกว่าจริง

มาตรา 242 ผู้ใดกระทำโดยทุจริตให้เหรียญกษาปณ์ ซึ่งรัฐบาลออกใช้มีน้ำหนักลดลง

ผู้ใดนำเข้าในราชอาณาจักร นำออกใช้หรือมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งเหรียญกษาปณ์ที่มีผู้กระทำโดยทุจริตให้

น้ำหนักลดลงตามความในวรรคแรก ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน

ข้อสังเกต

  • ต้องทำแก่เหรียญกษาปณ์โดยเฉพาะไม่เกี่ยวกับเงินตราชนิดอื่น
  • คำว่า “ซึ่งรัฐบาลออกใช้” คือ ต้องเป็นเหรียญกษาปณ์ที่ใช้หมุนเวียนอยู่ตามกฎหมาย
  • ค่าว่า “ กระทำให้มีน้ำหนักลดลง” นั้นไม่ว่ากระทำด้วยวิธีใดๆ หากน้ำหนักลดลงแล้วก็เป็นความผิดสำเร็จ แต่ถ้าทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นไม่มีความผิดตามมาตรานี้ ( ฎ.599/2476 )
  • การกระทำผู้กระทำต้องมีเจตนาทุจริต ถ้าเจาะทำเครื่องประดับไม่ใช้อย่างเงินตรา ไม่เป็นการทุจริตผิดมาตรานี้
  • การกระทำจะเป็นความผิดตามมาตรา 242 วรรค 2 นั้น การนำเข้าจะผิดสำเร็จเมื่อนำเข้ามา

การนำออกใช้หรือมีไว้เพื่อนำออกใช้ต้องมีเจตนาพิเศษคือ การนำออกใช้และเพื่อนำออกใช้ และต้องใช้อย่างเงินตรา ไม่ใช่ใช้เป็นตัวอย่างหรือสะสมเป็นของเก่า

ความผิดฐานนำเข้าเงินตราปลอมแปลง

มาตรา 243 ผู้ใดนำเข้าในราชอาณาจักรซึ่งสิ่งใดๆ อันเป็นของปลอมตามมาตรา 240 หรือของแปลงตามมาตรา 241 ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ

ข้อสังเกต

  • กฎหมายมาตรานี้ใช้คำว่า สิ่งใดๆ อันเป็นของปลอม คำว่าสิ่งใดๆ ในที่นี้หมายถึงเงินตรา เงินตราก็คือเหรียญกษาปณ์ ธนบัตร หรือสิ่งอื่นใดซึ่งรัฐบาลออกใช้หรือให้อำนาจออกใช้ พันธบัตรรัฐบาลหรือใบสำคัญรับดอกเบี้ย ความผิดสำเร็จเมื่อนำเข้ามาในอาณาเขตของประเทศไทย

มาตรา 244 ผู้ใดมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งสิ่งใดๆอันตนได้มาโดยรู้ว่าเป็นของปลอมตามมาตรา 240 หรือของแปลงตามมาตรา241

ข้อสังเกต

  • คำว่า “โดยรู้ว่าเป็นของปลอมหรือของแปลง” นั้นต้องเป็นการรู้แต่แรก หากรู้ภายหลังไม่ผิดตามมาตรานี้ แต่อาจเป็นความผิดตามมาตรา 245

คำพิพากษาฎีกาที่ 153/2527 จำเลยนำธนบัตรปลอมฉบับละ 500 บาทออกใช้ 2 ฉบับ และค้นพบธนบัตรปลอมจากจำเลยอื่นอีก 5 ฉบับ พฤติการณ์เช่นนี้ ทำให้เชื่อได้ว่าจำเลยทราบดีว่าธนบัตรทั้งหมดเป็นธนบัตรปลอม จึงมีความผิดตามมาตรา 244

  • คำว่า “มีไว้” หมายถึงการยึดถือหรือครอบครอง ไม่ต้องมีกรรมสิทธิ์
  • คำว่า “เพื่อนำออกใช้” คือ เมื่อแรกได้มาโดยรู้ว่าเป็นเงินปลอมหรือแปลงแต่ยังไม่คิดจะใช้ แต่ต่อมาเปลี่ยนความคิดว่าจะนำออกใช้ก็เป็นความผิดขณะนั้นจนกว่าจะเลิกคิดเลิกเจตนา

คำพิพากษาฎีกาที่ 311/2463 จำเลยนำธนบัตรของกลางไปซื้อตั๋วรถไฟพนักงานเห็นว่า เป็นธนบัตรปลอมจึงไม่รับไว้ จำเลยจึงนำธนบัตรชนิดใบละ 1 บาท อีก 3 ใบ ออกมาซื้อตั๋วรถไฟอีกแต่ก็เป็นธนบัตรปลอมเจ้าพนักงานจึงจับกุมจำเลย ข้อเท็จจริงปรากฏว่าธนบัตรของกลางสังเกตได้ยาก เป็นข้อเท็จจริงที่เพิ่มขึ้นมา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า

ธนบัตรของกลางเป็นของสังเกตได้ยกเว้นแต่จะดูอย่างพินิจพิเคราะห์จึงจะรู้ได้ และธนบัตรของกลางมีผู้นำมาใช้ให้จำเลย การที่จำเลยนำไปซื้อตั๋วแสดงว่าจำเลยไม่รู้ จึงไม่มีความผิดมาตรานี้

คำพิพากษาฎีกาที่ 4103/2541

คำพิพากษาฎีกาที่ 1655/2503 จำเลยมีธนบัตรไว้และนำออกไปขาย ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าต้องรู้ว่าเป็นของปลอมเพราะตามปกติไม่มีใครขายกัน นำธนบัตรไปขายก็แสดงว่าเป็นของปลอม

คำพิพากษาฎีกาที่ 143/2527 จำเลยนำธนบัตรฉบับละ 500 ออกใช้สองฉบับได้เงินทอนมา 850 บาท และยังนำอีกหนึ่งฉบับไปซื้อของ เมื่อถูกจับเจ้าพนักงานค้นธนบัตรได้อีก 5 ฉบับ ศาลฎีกา วินิจฉัยว่าจำเลยทราบดีว่าธนบัตรเป็นธนบัตรปลอม

ความผิดฐานนำออกใช้ซึ่งเงินตราปลอมหรือแปลง

มาตรา 245 ผู้ใดได้มาซึ่งสิ่งใดๆ โดยไม่รู้ว่า เป็นของปลอม ตามมาตรา 240 หรือของแปลงตามมาตรา 241 ถ้าต่อมารู้ว่าเป็นของปลอมหรือของแปลงเช่นว่ามานั้นยังขืนนำออกใช้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ข้อสังเกต

  • การรู้ข้อเท็จจริงว่าเป็นของปลอมหรือแปลงนั้นจะต้องรู้ก่อนนำออกใช้ ถ้าใช้โดยไม่รู้ว่าเป็นของแปลงหรือของปลอมไม่มีความผิด

คำพิพากษาฎีกาที่ 210/2467 จำเลยแต่งงานก็มีคนนำธนบัตรปลอมมาให้เป็นของขวัญ จำเลยก็เก็บไว้และนำไปเล่นไพ่ ก็มีคนบอกว่าเป็นเงินปลอม จำเลยก็เก็บไว้ มีคนไปบอกตำรวจมาจับ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตอนที่จำเลยนำมาเล่นไพ่ก็เป็นการใช้เงินอย่างหนึ่ง แต่การที่จำเลยนำมาเล่นและมีคนบอกว่าเป็นเงินปลอม จำเลยก็เก็บไว้พฤติการณ์เช่นนี้แสดงให้เห็นว่าขณะที่จำเลยนำมาเล่น นั้นจำเลยไม่รู้ และเงินนี้จำเลยก็ได้มาจากของขวัญที่เขามาให้ในงานแต่งงาน น่าเชื่อว่าจำเลยไม่ ทราบว่าเป็นธนบัตรปลอม เมื่อรู้แล้วก็เก็บไม่ได้ขืนนำออกใช้จึงไม่เป็นความผิด

ความผิดฐานทำหรือมีไว้ซึ่งเครื่องมือสำหรับปลอมแปลงเงินตรา

มาตรา 246 ผู้ใดทำเครื่องมือหรือวัตถุสำหรับปลอมหรือแปลงเงินตราไม่ว่าจะเป็นเหรียญกษาปณ์ ธนบัตร หรือสิ่งใดๆ ซึ่งรัฐบาลออกใช้หรือให้อำนาจให้ออกใช้ หรือสำหรับปลอมแปลงพันธบัตรรัฐบาลหรือใบสำคัญรับดอกเบี้ยพันธบัตรนั้นๆ หรือมีเครื่องมือหรือวัตถุเช่นว่านั้นเพื่อใช้ในการปลอมแปลง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสามหมื่นบา

ข้อสังเกต

  • คำว่า “เครื่องมือ” หมายถึงสภาพของเครื่องมือหรือวัตถุที่ใช้ในการปลอมหรือแปลงโดยเห็นได้ในตัวเอง
  • ส่วนคำว่า “มี” เครื่องมือหรือวัตถุเช่นว่านั้นหมายถึงมีไว้ในความยึดถือหรือครอบครอง

คำพิพากษาฎีกาที่ 1969/2505 การรับฝากเครื่องมือสำหรับทำเหรียญกษาปณ์ปลอมไว้ถือว่าเป็นการมีไว้เพื่อใช้ในการปลอมเป็นความผิดตามมาตรานี้

  • จะต้องมีเจตนาพิเศษคือมีไว้เพื่อใช้ในการปลอมหรือแปลงจึงจะมีความผิด ถ้ามีไว้เพื่อเจตนาอย่างอื่นก็ไม่เป็นความผิด

คำพิพากษาฎีกาที่ 210/2490 จำเลยมีธนบัตรใบละ 100 บาท 199 ฉบับ เป็นธนบัตรที่รัฐบาล ไทยสมั้ยนั้นสั่งทำมาจากประเทศญี่ปุ่นแต่ยังใช้ไม่ได้เพราะไม่มีลายมือชื่อของรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลัง จำเลยมีไว้โดยเจตนาอย่างไรไม่ปรากฏ เจ้าพนักงานผู้จับเบิกความเป็นพยานว่าจำเลยมีไว้เพื่อประทับลายเซ็นปลอมขึ้นภายหลังและนำออกจำหน่ายอย่างธนบัตรที่สมบูรณ์หรืออาจมีไว้เพื่อจำหน่ายในสภาพเดิมก็ได้ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการมีวัตถุเช่นนั้นไว้หมายความว่ามีไว้ด้วยเจตนาจะใช้ในการปลอมหรือแปลงเงินตรา โจทก์จะต้องนำสืบให้ได้ความว่าจำเลยมีธนบัตร 199 ใบ เพื่อจะใช้ในการปลอมหรือแปลง เมื่อข้อเท็จจริงไม่ได้ความว่าจำเลยมีธนบัตรไว้ด้วยเจตนา เช่นนั้น จะถือว่าจำเลยมีวัตถุเพื่อใช้ในการปลอมหรือแปลงเงินตราหาได้ไม่ จำเลยจึงไม่มีความผิด

คำพิพากษาฎีกาที่ 744/2521 จำเลยมีเครื่องพิมพ์โดยเจตนาที่จะใช้พิมพ์ธนบัตรแม้ขาดอุปกรณ์บางตัว ถ้ามีอุปกรณ์ครบก็ใช้พิมพ์ได้ จึงเป็นความผิดตามมาตรานี้

 

ประเด็นที่ 7 ความผิดฐานปลอมเอกสาร

***** มาตรา 264 ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสารโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใด หลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้ใดกรอกข้อความลงในกระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม หรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้นั้น ถ้าได้กระทำเพื่อนำเอาเอกสารนั้นไปใช้ในกินการที่อาจเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน ให้ถือว่าผู้นั้นปลอมเอกสารต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน

ข้อสังเกต

  • คำว่า “เอกสาร” ตามมาตรา 1(7) หมายความว่า กระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งได้ทำให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษรตัวเลข ผัง หรือแผนแบบอย่างอื่นจะเป็นโดยวิธีพิมพ์ ถ่ายภาพหรือวิธีอื่นใดอันเป็นหลักฐานแห่งความหมายนั้น
  • “วัตถุอื่นใด” เช่น เครื่องหมายตัวอักษรและเลขที่พานท้ายปืน , หลักเขตที่ดิน ,ป้ายทะเบียนรถยนต์และเลขหมายที่เครื่องของรถยนต์ ,เครื่องหมายที่ทำไว้ที่ตัวสัตว์

คำพิพากษาฎีกาที่ 1530/2522 ตัวเองไม่ได้สำเร็จวิชาแพทย์ก็อยากจะให้คนอื่นเชื่อว่าตนเองสำเร็จแพทย์ก็นำรูปคนอื่นที่รับปริญญาแพทย์ศาสตร์บัณฑิตมาและตัดรูปตนเองโดยเฉพาะใบหน้าแปะเข้าไปแล้วก็ไปถ่ายขยายติดไว้ที่บ้าน ใครที่เห็นก็คิดว่าสำเร็จแพทย์ ดังนี้เป็นภาพที่ไม่ได้ทำให้ปรากฏความหมาย ด้วยตัวอักษร ตัวเลข ผังหรือแผนแบบ อย่างอื่นๆ ตามความหมายมาตรา 1 (7) ส่วนตัวเลข พ.ศ. ก็ไม่ปรากฏความหมายในตัวเองไม่เป็นเอกสารปลอมและใช้เอกสารปลอม

  • อ.จิตติ ติงศภัทิย์ อธิบายว่า ภาพถ่ายคดีนี้มีความหมายแสดงชัดเจนว่าได้รับพระราชทานปริญญาบัตร เป็นแพทย์ศาสตร์บัณฑิตโดยการสวมชุดครุยถ่ายรูป จึงชัดแจ้งเป็นความหมายทำให้ปรากฏโดยภาพถือเป็นเอกสารที่ทำขึ้นด้วยวิธีถ่ายภาพการรับและการสวมครุยปริญญาถ่ายภาพก็แสดงให้ใครๆรู้ว่า ตนเป็นบัณฑิตผู้ได้รับปริญญา ตัวเลข พ.ศ. ก็บอกอยู่ในตัวว่าได้รับเมื่อใดจะถือว่าไม่เป็นเอกสารไม่ได้
  • อ.สถิตย์ ไพเราะ เห็นว่า คดีนี้ตามที่ศาลฎีกาวินิจฉัยน่าจะเป็นว่าภาพถ่ายเดิมเป็นภาพที่ระลึก ไม่ประสงค์เป็นหลักฐานแห่งความหมายใดๆ ผู้ทำปลอมแปลงก็ทำเพื่อแสดงว่าตนเองได้รับปริญญาไม่เป็นเอกสารของผู้อื่นทำขึ้น แต่เป็นเอกสารเท็จไม่ใช่เอกสารปลอม
  • คำว่า “ทำให้ปรากฏจะต้องเป็นการทำให้ปรากฏโดยบุคคลเป็นผู้ทำ” เช่น ปรอทที่ทำขึ้นเป็นองศาเซลเซียสปรากฏเองโดยคนไม่ได้ทำ จึงไม่เข้าตามความหมายของคำว่าเอกสาร หรือนาฬิกาเดินเองไม่ได้ทำให้ปรากฏด้วยตัวบุคคล เพราะฉะนั้นนาฬิกาก็ไม่เป็นเอกสาร ตัวเลขมิเตอร์วัดระยะทางวิ่งไปเองโดยเราไม่ได้ทำให้ปรากฏจึงไม่เป็นเอกสาร
  • คำว่า “ปรากฏด้วยความหมาย” ในที่นี้หมายความว่าจะต้องเป็นความหมายที่แสดงความคิดของผู้ทำเอกสาร ผู้อื่นจะเข้าใจหรือไม่ไม่สำคัญ แต่ว่าจะต้องเป็นการแสดงความคิดของผู้ทำเอกสาร คำว่าความหมายจะต้องมีความหมายแสดงความคิดของผู้ทำ เช่น ดาราภาพยนตร์ลงลายมือชื่อให้กับผู้ชมภาพยนตร์ที่ไปขอ ไม่ใช่เอกสารเพราะไม่ได้แสดงความคิดอะไรเพียงแต่ลงลายมือชื่อให้เป็นที่ระลึกเท่านั้น รอยขีดที่จดเป็นคะแนนเป็นเอกสาร เพราะทำให้ปรากฏความหมาย
  • คำว่า “อันเป็นหลักฐานแห่งความหมายนั้น” หมายถึงว่าหลักฐานนั้นจะต้องปรากฏอยู่ชั่วขณะหนึ่ง เช่นเขียนข้อความลงบนพื้นทรายก็ปรากฏข้อความอยู่ชั่วระยะหนึ่ง
  • การปลอมเอกสารนั้น มาตรา 264 ใช้คำว่า “ ทำปลอมขึ้น” ฉะนั้นการทำเอกสารปลอมไม่จำต้องมีเอกสารที่แท้จริง
  • อ.จิตติ ติงศภัทิย์ เห็นว่า การปลอมเอกสารไม่ต้องมีเอกสารที่แท้จริงอยู่ก่อนและไม่ต้องทำให้เหมือนจริงก็เป็นปลอมเอกสาร เหตุที่อธิบายเช่นนี้เพราะว่าเอกสารปลอมเป็นเรื่องของ “ ข้อความ” ในเอกสาร ไม่ใช่แบบฟอร์มว่ามีรูปร่างอย่างไร

คำพิพากษาฎีกาที่ 1470/2496 จำเลยทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับ แม้จะไม่มีต้นฉบับเอกสารที่แท้จริง ก็เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 1733/2514 จำเลยทำเอกสารมีข้อความเท็จทั้งสิ้นแล้วลงนามรับรองว่าเป็นสำเนาถูกต้อง แม้ต้นฉบับที่แท้จริงไม่มีก็เท่ากับปลอมแปลงขึ้นทั้งฉบับ เพื่อให้ เห็นว่าตนคัดมาจากต้นฉบับที่แท้จริงถือว่าเป็นการปลอมเอกสาร

  • คำว่า “เอกสารที่แท้จริง” ไม่ได้หมายความว่า เอกสารแท้จริงนั้นเป็นจริง เอกสารแท้จริงอาจมีข้อความเป็นเท็จก็ได้ เอกสารมิได้เกิดขึ้นได้เองต้องมีผู้ทำขึ้นและตัวเอกสารนั้นย่อมแสดงว่าผู้ใดทำขึ้นไม่จำเป็นว่าผู้ที่เอกสารแสดงว่าเป็นผู้ทำนั้นต้องมีตัวจริง อาจปลอมเอกสารของบุคคลที่ไม่มีตัวตนก็ได้
  • คำว่า “เอกสารปลอม” หมายถึงเอกสารที่ทำขึ้นโดยบุคคลผู้ไม่มีอำนาจ
  • คำว่า “เอกสารเท็จ” เอกสารที่มีข้อความไม่ตรงกับความจริง

คำพิพากษาฎีกาที่ 275/2461 จำเลยเป็นปลัดอำเภอจ้าง ก. กับ ข. ถ่อเรือจากอำเภอโพนพิสัยไปจังหวัดหนองคายโดยถ่อไปตามลำน้ำโขงตามที่นายอำเภอสั่งไปกลับ ค่าจ้าง 4 บาท แต่เวลาทำใบสำคัญเบิกค่าเดินทางจำเลยแจ้งจำนวนเงินค่าจ้างว่าไปกลับ 10 บาท จำเลยเอาเงินไว้ 6 บาท โจทก์มาฟ้องว่าจำเลยปลอมเอกสารใบสำคัญเบิกเงินค่าเดินทาง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ใบสำคัญเบิกค่าเดินทางเป็นเอกสารที่ทำขึ้นจริงโดยมี ก. ลงชื่อไว้จริงแม้มีข้อความเป็นเท็จก็ไม่ใช่เอกสารปลอม จำเลยไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสาร

คำพิพากษาฎีกาที่ 2179/2524 วินิจฉัยว่า จำเลยเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายบัญชีมีหน้าที่ควบคุมดูแลบัญชีกระแสรายวัน ได้กรอกข้อความในแบบพิมพ์ใบนำฝากเงินเข้าบัญชีกระแสรายวันว่ามีการนำเช็คเงินสดมาเข้าบัญชีลูกค้าของธนาคาร และลงชื่อในช่องลายเซ็นชื่อผู้มีอำนาจท้ายแบบพิมพ์ เอกสารที่จำเลยทำขึ้นนั้นจำเลยทำในหน้าที่ของจำเลยเอง จำเลยไม่ได้ทำขึ้นเพื่อให้เห็นว่าเป็นเอกสารของผู้อื่นแม้ข้อความในเอกสารจะไม่เป็นความจริงโดยไม่มีเช็คมาเข้าบัญชี ก็เป็นเพียงจำเลยทำหนังสือของจำเลยเองอันมีข้อความเป็นเท็จเท่านั้น จำเลยยังไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิแม้จำเลยจะนำไปใช้ก็ไม่เป็นความผิดฐานใช้เอกสารปลอม

คำพิพากษาฎีกาที่ 728-729/2501 จำเลยหลอกเอาสินค้าไปจากร้านโดยบอกกับพนักงานร้านว่ามีผู้ต้องการซื้อ แล้วทำใบรับของ ใบผลัดใช้เงินและเช็คโดยประทับตราลงชื่อห้างร้านที่จำเลยสมมุติขึ้นมามอบให้ไว้ อย่างนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารเพราะว่าเมื่ออ่านเอกสารแล้วเข้าใจว่าร้านที่จำเลยสมมุติขึ้นมาเป็นผู้ซื้อ ก็ไปเข้าองค์ประกอบที่ว่า เพื่อให้ผู้อื่นเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงของร้านที่สมมุติขึ้นเป็นผู้ซื้อ

คำพิพากษาฎีกาที่ 151/2507 จำเลยใช้ชื่อปลอมในการเปิดบัญชีฝากเงินและออกเช็คเบิกเงินจากบัญชีดังกล่าวตามแผนที่วางไว้เพื่อฉ้อโกง ดังนี้ ไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร เพราะเป็นการกระทำของตนเอง เป็นแต่ไม่ใช่นามจริงเท่านั้น ( มี ฎ.ที่ 613/2540 วินิจฉัยแนวเดียวกัน) โดยได้กล่าวต่อไปว่าการกระทำดังกล่าวมิได้เป็นการกระทำที่ทำให้ธนาคารเสียหายด้วย

คำพิพากษาฎีกาที่ 2379/2540 จำเลยเป็นพนักงานบัญชีของธนาคารพิมพ์ตัวเลขจำนวนเงิน 190,000 บาท ลงในช่องการ์ดบัญชี ซึ่งตนมีหน้าที่ควบคุมการ์ดดังกล่าว แม้ความจริงจะไม่มีการนำเงินเข้าฝากเลยก็เป็นการลงข้อความอันเป็นเท็จ ไม่ใช่เป็นการปลอมเอกสารเพราะไม่ได้ทำปลอมเอกสารอันแท้จริงของผู้ใด

  • อ.จิตติ ติงศภัทิย์ อธิบายว่า คดีนี้ จำเลยมีหน้าที่กรอกจำนวนเงินในการ์ดเงินฝาก แม้จำเลยจดจำนวนเงินเท็จลงไป ก็เป็นเอกสารที่แสดงว่าจำเลยเป็นผู้กรอกข้อความ ไม่ได้หลอกว่าเป็นเอกสารที่ผู้อื่นเป็นผู้ทำ จึงเป็นเอกสารเท็จไม่ใช่เอกสารปลอม เป็นการใช้เอกสารเท็จหลอกธนาคาร แต่ผู้ทำเอกสารอาจปลอมเอกสารที่ตนมีหน้าที่ทำก็ได้ ถ้าเอกสารนั้นพ้นจากหน้าที่ที่ตนจะกรอกข้อความแล้ว ยังไปแก้ไขหรือกรอกข้อความ ทำให้เข้าใจว่ามีมาแต่เดิม หรือทำขึ้นมาใหม่เพื่อให้เข้าใจว่าเป็นเอกสารอีกฉบับหนึ่ง

คำพิพากษาฎีกาที่ 34/2491 เสมียนทำใบขายสินค้าเงินสด ในหน้าที่แสดงว่ารับเงินสดแล้ว แต่ความจริงเอาของไปขาย เป็นแต่เพียงเอกสารเท็จ ไม่เป็นปลอมเอกสาร

คำพิพากษาฎีกาที่ 484/250 จำเลยเป็นผู้จัดการร้านขายรถจักรยาน เขียนใบส่งสินค้าขึ้นเองหรือสั่งให้คนในร้านทำขึ้นตามหน้าที่ของผู้จัดการ ไม่ได้ปลอมลายมือชื่อของผู้ใด เพียงแต่จำเลยทำเป็นหนังสือของจำเลยเอง อันมีข้อความเท็จเท่านั้น จึงไม่ผิดฐานปลอมหนังสือ

คำพิพากษาฎีกาที่ 1343/2508 จำเลยทำบัญชีเท็จโดยไม่ลงรายการรับชำระหนี้ในบัญชีเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่มีข้อความเท็จ บัญชีเหล่านั้นเป็นของจำเลยทำขึ้นเองทั้งฉบับ ไม่ได้ปลอมเอกสารอันแท้จริงของผู้ใด จึงไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร หรือใช้เอกสารปลอม

คำพิพากษาฎีกาที่ 7/2516 จำเลยเป็นกรรมการมัสยิด ได้จัดทำบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ เอกสารดังกล่าวจำเลยมีอำนาจกระทำได้ ไม่ผิดฐานปลอมเอกสาร

กลับไปหน้าเดิม          หน้าถัดไป