Home
เพลงสถาบัน
ติวสอบ
สารจากประธานฯ
กระดานสนทนา
กิจกรรม
ลิงค์
มีฎีกามาบอก
กำหนดการ

มาตรา 265 ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิหรือเอกสารราชการ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท

*** เอกสารราชการ มาตรา 1 ( 8 ) หมายความว่า เอกสารซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ และให้หมายความรวมถึงสำเนาเอกสารนั้นๆ ที่เจ้าพนักงานได้รับรองในหน้าที่ด้วย เอกสารที่เจ้าพนักงานได้ทำขึ้นเช่น บัตรประจำตัวประชาชน (ฎ.317/2521) ใบเสร็จรับเงินค่าภาษีรถยนต์ (ฎ.1831/2522) ใบประกาศนียบัตร (ฎ.2479/2522)บัตรประจำตัวข้าราชการ (ฎ.2999/2522) ทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนบ้าน (ฎ.100/2523) แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ (ฎ.2241/2523,4492/2536) สำเนาป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถยนต์ (ฎ.1824/2529,3195/2536)

หนังสือเดินทางของกระทรวงการต่างประเทศ (ฎ.3942/2529) ใบสำคัญทะเบียนทหาร สำเนาทะเบียนคนเกิด (ฎ.5969/2530) หนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก) เป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ (ฎ. 2684/2531) ใบอนุญาตขับรถยนต์ ( ฎ.4772/2536)หลักเขตที่ดิน( ฎ. 7362/2538) คู่มือการจดทะเบียนรถยนต์ (ฎ.3325/2530) หนังสือรับรองราคาที่ดิน( ฎ.2684/2530)

*** เอกสารสิทธิ มาตรา 1(9) หมายความว่า เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอนสงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ เช่น หนังสือสัญญากู้ยืมเงิน สัญญาจะซื้อขาย สัญญาเช่า ใบรับหรือใบมอบฉันทะให้รับเงินฝากธนาณัติ หนังสือสัญญาจะจ่ายเงินสินบนนำจับให้แก่ผู้รับสินบน ใบเสร็จรับเงินของห้างร้าน แบบแจ้งการครอบครอง ส.ค. 1 บิลส่งของซึ่งผู้รับของลงชื่อรับของแล้ว สลากกินแบ่งรัฐบาล ตั๋วแลกเงินตั๋วสัญญา ใช้เงินเช็ค

เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งสิทธิจะต้องเป็นเอกสารที่แสดงให้เห็นสิทธินั้นโดยตรงในตัวเอกสารนั้นเอง (ฎ.2346/2527) เช่นโฉนดที่ดิน สัญญาเช่าซื้อ ตั๋วเงิน ทะเบียนสมรสเป็นเพียงเอกสารที่รับรองสถานะของบุคคลเท่านั้น ในตัวเอกสารนั้นไม่ได้ก่อตั้งสิทธิขึ้นมา จึงไม่เป็นเอกสารสิทธิ

**บัตรประจำตัวประชาชน (ฎ.4766/38) หนังสือเดินทาง ใบสำคัญต่างด้าวก็ เป็นเอกสารที่แสดงถึงฐานะบุคคล เป็นการแสดงข้อเท็จจริงว่าเราชื่ออะไร เราเป็นคนต่างด้าวหรือไม่ มีสิทธิที่จะเดินทางไปต่างประเทศได้หรือไม่ ไม่ใช่เอกสารที่จะก่อตั้งสิทธิขึ้นมา จึงไม่เป็นเอกสารสิทธิ

คำพิพากษาฎีกาที่ 928/2506 คำร้องทุกข์ของผู้เสียหาย ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีอาญาซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 123 แก่เป็นแต่คำบอกกล่าวพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดี ไม่เป็นหลักฐานแห่งการก่อตั้งสิทธิ ไม่เป็นเอกสารสิทธิ

**บัตรอนุญาตให้ผ่านเข้าไปในสถานที่เป็นเอกสารที่แสดงว่าผู้รับบัตรได้รับอนุญาตให้เข้าออกสถานที่ได้เท่านั้น ไม่ก่อให้เกิดสิทธิ ไม่เป็นเอกสารสิทธิ (ฎ.2639-2612/2517)

คำพิพากษาฎีกาที่ 879/2510 เอกสารที่จำเลย ปลอมและใช้ มีข้อความว่า ส. ไม่ได้สมรสตามกฎหมายกับ ฉ. ส. ไม่เกี่ยวข้องคัดค้านหรือขัดข้องในการที่ทางราชการจะจ่ายบำเหน็จของ ฉ. ข้อความดังกล่าวเป็นการทำให้สิทธิของ ส. ที่จะรับบำเหน็จในฐานะเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของ ฉ. ต้องระงับไป เอกสารดังกล่าวจึงเป็นหลักฐานแห่งการระงับสิทธิของ ส. เป็นเอกสารสิทธิ

คำพิพากษาฎีกาที่ 40/2507 ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ไม่ใช่เอกสารสิทธิแต่เป็นเอกสารราชการ

คำพิพากษาฎีกาที่ 1107/2509 (ประชุมใหญ่) ใบแต่งทนายมีข้อความตามแบบพิมพ์ ไม่ใช่เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อเปลี่ยนแปลงโอนสงวนซึ่งสิทธิไม่ใช่เอกสารสิทธิ

คำพิพากษาฎีกาที่ 890/2508 แบบ ส.ค. 1 เป็นเอกสารที่เป็นหลักฐาน ว่าผู้แจ้งมีสิทธิครอบครองซึ่งตรงกับคำว่าสงวนสิทธิจึงเป็นเอกสารสิทธิ แต่ไม่ใช่เอกสารราชการเพราะเจ้าพนักงานไม่ได้ทำขึ้น

คำพิพากษาฎีกาที่ 1508/2538 วินิจฉัยว่าตั๋วเครื่องบินที่มีมูลค่าหรือราคาใช้ตามปรากฏในตั๋วเป็นตั๋วที่ผู้มีชื่อในตั๋วมีสิทธิที่จะใช้โดยสารเครื่องบินของสายการบินที่ปรากฏในตั๋วเครื่องบิน จึงเป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อซึ่งสิทธิตาม ป.อาญามาตรา 1(9) เป็นเอกสารสิทธิ

มาตรา 266 ผู้ใดปลอมเอกสารดังต่อไปนี้

  1. เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ
  2. พินัยกรรม
  3. ใบหุ้น ใบหุ้นกู้หรือใบสำคัญของใบหุ้นหรือใบหุ้นกู้ หรือ
  4. ตั๋วเงิน
  5. บัตรฝากเงิน

ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท

  • เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ คือ เป็นทั้งเอกสารสิทธิและเป็นทั้งเอกสารราชการ เอกสารสิทธิที่เป็นเอกสารราชการที่ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยไว้คือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 หรือ น.ส.3 ก.) (ฎ. 1970/2530) โฉนดที่ดินและสัญญาจดทะเบียน อาชญาบัตรฆ่าสัตว์ สัญญาขายฝากทำที่อำเภอ อาชญาบัตรอากรค่าน้ำ ตั๋วพิมพ์รูปพรรณสัตว์ ใบบอกธนาณัติซึ่งนายไปรษณีย์ทำเป็นหลักฐานแห่งหนี้ที่จะก่อสิทธิรับเงิน ธนาณัติ ใบรับเงินค่าภาษีอากร ใบรับเงินชำระค่าภาษีเทศบาลสำเนาใบรับเงินค่าปรับในการเปรียบเทียบคดีอาญา

คำพิพากษาฎีกาที่ 4492/2536 แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์และแผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถยนต์เป็นเอกสารราชการ มิใช่เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ

คำพิพากษาฎีกาที่ 3102/2539 ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ไม่ปรากฏว่าหมายเลขคดีที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงตามที่อ้างถึงหมายเลขคดีที่นอกสารบบ หรือกระทำขึ้นโดยมิได้มีอยู่จริงหรือปราศจากอำนาจ ตรงกันข้ามเลขคดีที่อ้างถึงเป็นเลขคดีที่แก้ไข และใช้อยู่ในสารบบของทางราชการ การที่เกี่ยวข้องจริง จังเป็นหมายเลขคดีที่แท้จริง ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งเก้าปฏิบัติหรือละเว้นไม่ปฏิบัติต่อโจทก์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะเหตุที่มีการร้องทุกข์อย่างไร อันจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติคณะกรรการกฤษฎีกา พ.ศ.2522 มาตรา 70 การกระทำของจำเลยทั้งเก้าจึงไม่มีมูลเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162,165,264,265,266 และพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 มาตรา 70

  • “พินัยกรรม” หมายความถึง เอกสารที่เจ้ามรดกกำหนดการเผื่อตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1646

ปัญหามีว่า ถ้าพินัยกรรมทำผิดแบบตกเป็นโมฆะ จะปลอมพินัยกรรมดังกล่าวได้หรือไม่ ข้อนี้ อ.จิตติ ติงศภัทิย์ อธิบายว่า ถ้าปลอมพินัยกรรม แต่ถ้าพินัยกรรมนั้นผิดแบบอยู่ในตัว เช่นไม่มีพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือครบถ้วนตามกฎหมาย ย่อมไม่เป็นเอกสารสิทธิแต่อาจเป็นปลอมเอกสารธรรมดาได้ข้อความนี้คงหมายความว่า ไม่ผิดฐานปลอมพินัยกรรม แต่อาจผิดฐานปลอมเอกสารธรรมดา

คำพิพากษาฎีกาที่ 3894/2525 จำเลยกับพวกทำพินัยกรรมปลอมขึ้น แล้วส่งอ้างเป็นพยานต่อศาล แม้ลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ทำพินัยกรรมซึ่งมีพยานลงลายมือชื่อรับรองสองคนนั้นมีลักษณะลายเส้นเลอะเลือนจนผู้ชำนาญการ พิเศษตรวจพิสูจน์ลงความเห็นไม่ได้ก็มีสภาพเป็นพินัยกรรม แต่เป็นพินัยกรรมที่จำเลยกับพวกทำปลอมขึ้น เมื่อนำส่งอ้างเป็นพยานต่อศาลต้องมีความผิดฐานใช้พินัยกรรมปลอมอีกระทงหนึ่ง กรณีไม่ใช่การกระทำโดยมุ่งต่อผลซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด แต่การกระทำการนั้นไม่บรรลุผลอย่างแน่แท้ตามมาตรา 81

กรณีที่จำเลยกับพวกอ้างส่งพินัยกรรมปลอมเป็นพยานต่อศาล แม้จำเลยจะได้กระทำในฐานะทนายความในคดีแพ่ง จำเลยก็มีความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกันใช้พินัยกรรมปลอมตามมาตรา 83

  • “ใบหุ้น ใบสำคัญของใบหุ้น” นั้น ป.พ.พ. มาตรา 1127 บัญญัติว่า ให้บริษัททำใบหุ้น คือใบสำคัญสำหรับหุ้นใบหนึ่งหรือหลายใบ มอบให้เป็นคู่มือแก่ผู้ถือหุ้นของทุกๆคน

-อ. จิตติ ติงศภัทิย์ อธิบายว่า ใบหุ้นหรือใบสำคัญของใบหุ้น ต้องมีความสมบูรณ์ทำนองเดียวกับพินัยกรรม (คือมีข้อความครบด้วนตามที่กฎหมายกำหนด)

คำพิพากษาฎีกาที่ 2917/2538 จำเลยว่าจ้าง จ. จัดพิมพ์ใบหุ้นธนาคาร ม. และบริษัท พ. ซึ่งเป็นแบบฟอร์ม ยังไม่ได้กรอกข้อความ โดยเจตนาจะนำไปกรอกข้อความรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญ เพื่อใช้อย่างใบหุ้นที่แท้จริง ซึ่งต่อมาก็มีการกรอกข้อความดังกล่าว แล้วนำไปขายฝากที่บริษัท ว. ดังนี้แสดงว่าจำเลยมีส่วนรู้เห็นในการกรอกข้อความ จังเป็นตัวการในความผิดฐานปลอมใบหุ้น

  • คำว่า “ตั๋วเงิน” นั้น ป.พ.พ. มาตรา 898 บัญญัติว่า อันตั๋วเงินตาม ป.พ.พ.นี้มีสามประเภท ๆหนึ่ง คือ ตั๋วแลกเงิน ประเภทหนึ่งคือ ตั๋วสัญญาใช้เงิน ประเภทหนึ่งคือเช็ค

มาตรา 908 บัญญัติว่า อันว่าตั๋วแลกเงินนั้นคือหนังสือตราสารซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าผู้สั่งจ่ายบุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้จ่ายให้ใช้เงินจำนวนหนึ่งแก่บุคคลหนึ่ง หรือให้ใช้ตามคำสั่งของบุคคลคนหนึ่งซึ่งเรียกว่าผู้รับเงิน

คำพิพากษาฎีกาที่ 1067/2507 การที่จำเลยลงลายมือชื่อปลอมลงในตั๋วแลกเงินของธนาคารออมสินนั้น เป็นการกระทำส่วนหนึ่งที่ต้องทำลงในเอกสารดังกล่าว เพื่อให้เอกสารนั้นสมบูรณ์ครบถ้วน เพื่อที่เจ้าหน้าที่ธนาคารออมสินจะจ่ายเงินให้ และก็ทำให้เจ้าหน้าที่หลงเชื่อว่าเป็นผู้ทรงที่แท้จริง จึงได้จ่ายเงินให้จำเลยรับไป ดังนี้ ย่อมเป็นไปโดยประการที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้มีสิทธิรับเงินที่แท้จริงและแก่ธนาคารออมสินการกระทำของจำเลยผิดตามมาตรา 266(4) แต่การลงลายมือชื่อปลอมก็เพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สิน คือเงิน อันเป็นการกระทำส่วนหนึ่งในกรรมที่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ตามมาตรา 342 (1) จึงเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทลงบทหนักตามมาตรา 90 แต่จำเลยไม่ผิดมาตรา 264

คำพิพากษาฎีกาที่ 1751/2515 จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ต่างลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงินซึ่งเป็นแบบพิมพ์ที่องค์การเชื้อเพลิงจัดพิมพ์ขึ้น สั่งให้ธนาคารโจทก์สาขาพระโขนงจ่ายเงินแก่องค์การเชื้อเพลิง และจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายตั๋วแลกเงินตามแบบพิมพ์ของบริษัท ม. สั่งให้ธนาคารโจทก์สาขาพระโขนงจ่ายเงินแก่บริษัท ม. จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้จัดการธนาคารสาขาพระโขนงได้ลงลายมือชื่อและประทับตรารับรองตั๋วแลกเงินทั้งหมดนี้ แล้วจำเลยอื่นนำตั๋วแลกเงินนี้ไปใช้ ดังนี้ การที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ออกตั๋วแลกเงินโดยลงลายมือชื่อตนเป็นผู้สั่งจ่ายในนามของตนเองจึงเป็นตั๋วแลกเงินอันแท้จริงไม่ใช่ทำปลอมในนามของบุคคลอื่น หรือเจตนาจะให้เห็นว่าเป็นตั๋วแลกเงินของบุคคลอื่น ลายมือชื่อผู้รับรองตั๋วแลกเงินก็เป็นลายมือชื่ออันแท้จริงของจำเลยที่ 4 ซึ่งกระทำในฐานะผู้จัดการธนาคารโจทก์ สาขาพระโขนง ตามอำนาจที่ได้รับมอบหมายจากโจทก์ ตราที่ประทับก็เป็นตราที่แท้จริงของธนาคาร แม้จะผิดระเบียบภายในเพราะเงินที่รับรองนั้นเกินอำนาจและไม่มีสมุห์บัญชีหรือผู้รักษาเงินลงลายมือชื่อร่วมด้วย ก็หาทำให้ตั๋วแลกเงินซึ่งจำเลยที่ 4 รับรองนั้นเป็นตั๋วแลกเงินปลอมขึ้นมาไม่ การกระทำของจำเลยทั้งหมดไม่มีมูลความผิดตามมาตรา 264,265,266,268

คำพิพากษาฎีกาที่ 2617/2529 จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ร่วม มีหน้าที่ควบคุมดูแลบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน ลักสมุดเช็คของโจทก์ร่วมไป 2 เล่ม ต่างวันกัน แล้วกรอกข้อความลงในบัญชีจ่ายเช็คว่า จ่ายให้ ม. ลูกค้าของโจทก์ร่วม และมอบเช็คให้บุคคลอื่นไปกรอกวันเดือนปี จำนวนเงิน ปลอมลายมือชื่อ ม. ผู้สั่งจ่ายแล้วนำไปขึ้นเงิน ดังนี้เป็นขั้นตอนที่จะให้สำเร็จผลดังเจตนาของจำเลยกับพวก ในการที่จะหลอกเอาเงินโจทก์ร่วม จำเลยมีความผิดตามมาตรา 335(11) 2 กระทง และเป็นตัวการร่วมกับผู้อื่นใช้ตั๋วเงินปลอมและฉ้อโกงโจทก์ร่วม สำหรับเช็คแต่ละฉบับที่นำไปขึ้นเงิน ซึ่งเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท คือมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 264,266(4) และมาตรา 341 ลงโทษตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264,266(4) ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด เมื่อจำเลยและพวกนำเช็คปลอมไปขึ้นเงินรวม 25 ฉบับ จำเลยต้องมีความผิดทุกกรรมรวม 25 กรรม

คำพิพากษาฎีกาที่ 1279/2519 ตั๋วแลกเงินหรือดราฟของธนาคารเป็นตั๋วเงินตามมาตรา 266

คำพิพากษาฎีกาที่ 492/2536 การแก้ไขวัน เดือน ปี และปลอมลายมือชื่อโจทก์ลงกำกับการแก้ไขลงในเช็คเป็นความผิดตามมาตรา 266(4)

คำพิพากษาฎีกาที่ 132-133/2536 โจทก์ร่วมยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 ฐานกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ภายหลังโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีนี้ และศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีนี้แล้ว ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนกับของโจทก์ร่วมในคดีดังกล่าว ตามป.วิ.อาญา มาตรา 15ประกอบด้วย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 173(1) และแม้การกรอกเช็คอันเป็นมูลที่โจทก์ร่วมนำมาฟ้องจำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าว กับการใช้โฉนดที่ดินปลอมอันเป็นมูลที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยที่สองในคดีนี้ จะเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเพื่อฉ้อโกงโจทก์ร่วมเช่นเดียวกัน แต่คดีดังกล่าวโจทก์ร่วมขอถอนฟ้องและศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตไปแล้ว ถือไม่ได้ว่าศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีนี้แล้ว ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับฟ้องของโจทก์ร่วมในคดีดังกล่าวตาม ป.วิ. อาญา มาตรา 39(4) และการที่โจทก์ร่วมถอนฟ้องคดีดังกล่าวซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ ไม่มีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในความผิดฐานใช้เอกสารปลอม ซึ่งมิใช่ความผิดอันยอมความได้ระงับไปตาม ป.วิ. อาญา มาตรา 39(2) ด้วย

คำพิพากษาฎีกาที่ 3108-9/2533 การที่จำเลยขีดฆ่าและลบลายมือชื่อของจำเลยในเช็คพิพาททั้งห้าฉบับ เพื่อที่จำเลยจะไม่ต้องรับผิดชอบในฐานะผู้สลักหลังในเช็คแต่ละฉบับ แม้จะเป็นการกระทำในเวลาใกล้เคียงและต่อเนื่องกัน แต่ก็เห็นได้ว่าจำเลยจะทำเพียงฉบับเดียวหรือหลายฉบับก็ได้สุดแต่เจตนาของจำเลย เมื่อจำเลยกระทำต่อเช็คทั้งห้าฉบับจึงเป็นความผิด 5 กรรม ต่างกัน

  • คำพิพากษาฎีกาที่ 3355/2533 จำเลยร่วมปลอมลายมือชื่อของ ป. เป็นผู้รับอาวัลเช็คเพื่อให้เช็คทั้งสิบฉบับเป็นที่น่าเชื่อถือยิ่งขึ้น เช็คทั้งสิบฉบับเป็นเช็คที่สมบูรณ์ครบถ้วนตามกฎหมาย เช็คดังกล่าวจึงเป็นตั๋วแลกเงิน จำเลยมีความผิดฐานปลอมเอกสารที่เป็นตั๋วเงินตามมาตรา 266(4) แม้จำเลยปลอมลายมือชื่อของ ป. ที่ด้านหลังเช็คทั้งสิบฉบับในคราวเดียวกัน แต่การปลอมลายมือชื่อดังกล่าวในแต่ละฉบับเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารแยกออกจากกันได้ อีกทั้งจำเลยกระทำโดยมีเจตนานำเช็คที่มีลายมือชื่อปลอมนั้นไปหลอกขายลดให้แก่บุคคลอื่นเป็นรายฉบับไป จึงเป็นความผิดต่างกรรมกันคำว่า “บัตรเงินฝาก” นั้น พระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ 3 ) พ.ศ. 2535 มาตรา 4 บัญญัติว่า บัตรเงินฝากหมายความว่าตราสารซึ่งเปลี่ยนมือได้ที่ธนาคารพาณิชย์ออกให้แกผู้ฝากเงินเพื่อเป็นหลักฐานการรับฝากเงินและเพื่อแสดงสิทธิของผู้ทรงตราสารที่จะได้รับเงินฝากคืนเมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้ โดยจะมีการกำหนดดอกเบี้ยไว้ด้วยหรือไม่ก็ได้

มาตรา 267 ผู้ใด แจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่ จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์ใช้เป็นพยานหลักฐาน โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ข้อสังเกต

  • คำว่า “ แจ้งให้จด” การกระทำคือแจ้งให้จดข้อความเท็จหมายความว่า แจ้งข้อความต่อเจ้าพนักงานโดยมีการจดข้อความที่แจ้งลงไว้เป็นข้อความของผู้แจ้ง
  • คำว่า “เจ้าพนักงาน” ตามมาตรานี้ น่าจะมีความหมายเช่นเดียวกับคำว่าเจ้าพนักงานตามลักษณะ 2 หมวด 1 คือ หมายความถึงผู้ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยได้รับแต่งตั้งตามกฎหมาย เจ้าพนักงานในมาตรานี้ต้องมีหน้าที่รับแจ้งความด้วย

คำพิพากษาฎีกาที่ 2056/2514 การที่จำเลยระบุชื่อคนอื่นๆว่า เป็นทายาทต่อเจ้าพนักงานที่ดิน แต่ไม่ได้ระบุชื่อโจทก์ว่าเป็นทายาท ทั้งๆที่จำเลยทราบว่าโจทก์เป็นทายาทและจำเลยได้รับรองบัญชีเครือญาติซึ่งจำเลยได้แจ้งไว้ (โดยที่ไม่มีชื่อโจทก์เป็นทายาท) ทั้งแจ้งว่าเจ้ามรดกไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ซึ่งความจริงมีพินัยกรรม เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานที่ดินประกาศโฆษณาไปตามที่จำเลยแจ้งนั้น แล้วลงชื่อบุคคลที่จำเลยแจ้งเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินมรดก แม้ที่ดินโฉนดดังกล่าวนั้น ตามพินัยกรรมจะมิได้ตกแก่ทายาทอื่น นอกจากผู้ที่จำเลยระบุชื่อก็ตาม แต่ก็ไม่ตรงกับความเป็นจริง ถือได้ว่าอยู่ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 267

คำพิพากษาฎีกาที่ 1217/2518 จำเลยเป็นคนต่างด้าว มีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ มีผู้นำหลักฐานปลอมไปยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานให้ออกบัตรประจำตัวประชาชน และใบสำคัญทหารกองเกินแทนฉบับชำรุดเสียหายให้จำเลย เจ้าพนักงานหลงเชื่อคำร้องและหลักฐานปลอมนั้น จึงออกให้ เมื่อจำเลยซึ่งรู้อยู่แล้วว่าเอกสารราชการดังกล่าวเกิดจากการกระทำความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 267 ยังนำไปใช้โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่เจ้าพนักงาน ผู้อื่นหรือประชาชน จึงมีความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 268 ประกอบด้วย 267

คำพิพากษาฎีกาที่ 2255/2521 โฉนดและอำนาจมอบหนังสือซึ่งผู้เสียหายลงแต่ลายมือชื่อให้ไว้และอยู่ในความครอบครองของสามีจำเลยที่ 1 เมื่อสามีตายได้ตกอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 ต่อมาได้มีการกรอกข้อความปลอม กับปลอมลายมือชื่อนายอำเภอผู้รับรอง และปลอมรอยดวงตราอำเภอลงในหนังสือมอบอำนาจแล้วจำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันนำไปแสดงเป็นหลักฐาน ให้เจ้าพนักงานที่ดิน ทำการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลย ที่ 2 เจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อหนังสือมอบอำนาจได้ทำการโอนและแก้ทะเบียนโฉนดฉบับหลวงด้วยแล้ว การกระทำของ

จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 268,252,267 แต่เป็นการกระทำเพื่อประสงค์ให้มีการโอนกรรมสิทธิ์ และเป็นการกระทำต่อเนื่องเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามมาตรา 252 ซึ่งเป็นบทหนัก แต่การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันเอาโฉนดพิพาทซึ่งเป็นเอกสารสิทธิของผู้เสียหายไปในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย และเป็นการกระทำต่างกรรมกับที่จำเลยกระทำมาดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงต้องมีความผิดตามมาตรา 188 อีกกระทงหนึ่ง

จำเลยที่ 1 ยึดถือโฉนดพิพาทไว้ก็เพื่อประสงค์กรรมสิทธิ์ในที่ดิน ไม่มีเจตนายักยอกโฉนดนั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานยักยอกตามมาตรา 352

คำพิพากษาฎีกาที่ 4048/2528 การที่จำเลยเป็นคนสัญชาติญวน ไม่เคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านหลังหนึ่งเลยแล้วไปแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ควบคุมทะเบียนจดข้อความเท็จลงในทะเบียนบ้านอีกหลังหนึ่งว่าเป็นคนสัญชาติไทยย้ายมาจากบ้านที่จำเลยไม่เคยมีชื่ออยู่นั้น การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดตาม ป.อาญามาตรา 267

คำพิพากษาฎีกาที่ 1807/2531 บริษัทจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการมอบอำนาจให้ ส. ไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ขออายัดที่ดินหลายโฉนดของโจทก์โดยอ้างว่าเป็นลูกหนี้จำเลย ทั้งๆ ที่ ศาลฎีกาพิพากษาแล้วว่ามิได้เป็นลูกหนี้จำเลย จึงเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตเพื่อให้เจ้าพนักงานที่ดินผู้กระทำตามหน้าที่ จดข้อความเท็จลงในเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์ใช้เป็นพยานหลักฐาน แม้ต่อมากรมที่ดินจะเห็นว่าจำเลยมิได้มีส่วนได้เสีย จึงไม่รับอายัดก็เป็นการกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์และประชาชนแล้ว จำเลยทั้งสามมีความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 137,267,83

การกระทำของนิติบุคคลย่อมแสดงให้ปรากฏโดยการกระทำของผู้แทนนิติบุคคลนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกันกระทำการเพื่อจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ที่ 3 ก็ต้องร่วมรับผิดในการกระทำนั้นด้วย

คำพิพากษาฎีกาที่ 950/2537 การที่จำเลยไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่า น.ส.3 ก. เลขที่ 2076 ของจำเลยที่เก็บไว้ที่บ้านสูญหายไป จำเลยทราบดีอยู่แล้วว่าข้อความที่แจ้งเป็นความเท็จ การกระทำของจำเลย จึงเป็นความผิดฐานแจ้งให้พนักงานสอบสวน ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่ จดข้อความอันเป็นเท็จลงใน เอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์ใช้เป็นพยานหลักฐานตาม ป.อาญา มาตรา 267

คำพิพากษาฎีกาที่ 561/2508 การเบิกความเท็จในการพิจารณาคดีอาญาไม่ใช่เรื่องแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความ แต่เป็นเรื่องเบิกความ ซึ่งศาลมีอำนาจใช้ดุลยพินิจข้อความตอนใดหรือไม่จดก็ได้ ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความ การจดบันทึกคำเบิกความของพยานจึงเป็นเรื่องของศาล ไม่ใช่เรื่องของพยานที่จะแจ้งให้ศาลจดข้อความอันเป็นเท็จ ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 267

คำว่า “ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน” นั้น มีความหมายว่าอย่างไร ตามคำพิพากษาฎีกาสรุปได้ว่า กรณีดังต่อไปนี้มีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน คือ แจ้งความเท็จให้เจ้าพนักงานพิมพ์ตั๋วรูปพรรณขายม้า เปลี่ยนตัวคนไปจดทะเบียนโอนตั๋วพิมพ์รูปพรรณสัตว์ เปลี่ยนตัวคนไปจดทะเบียนโอนโฉนดขายฝากที่ดิน แจ้งทะเบียนสำมะโนครัวว่ามีคนฮอลันดาเข้ามาเป็นเท็จ จดทะเบียนสมยอมเพื่อฉ้อฉลเจ้าหนี้(ต้องเป็นเอกสารที่เป็นพยานหลักฐานได้ในตัวเอง)

คำพิพากษาฎีกาที่ 1785/2517 โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งเรื่องที่ดิน ศาลสั่งให้ทำแผนที่พิพาท จำเลยบอกให้เจ้าพนักงานผู้ทำแผนที่บันทึกลงในแผนที่พิพาทว่า จำเลยทุกฝ่ายที่เคยมีชื่อในโฉนดครองครองร่วมกันไม่เคยแบ่งแยกเป็นส่วนสัด ไม่ว่าข้อความนี้จะเป็นความจริงหรือไม่ก็ตาม ก็เป็นแต่เพียงบันทึกให้ปรากฏว่าจำเลยอ้างว่าอย่างไรเท่านั้น หาอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งดังกล่าว โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแต่โจทก์หรือผู้อื่นหรือประชาชนไม่ ไม่เป็นความผิดตาม มาตรา 267

คำพิพากษาฎีกาที่ 1671/2512 จำเลยแจ้งย้ายโรงสีของจำเลยในแบบสำรวจตามประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรม และให้ถ้อยคำต่อปลัดอำเภอเพื่อไม่ให้ผู้อื่นถูกจับกุมเรื่องตั้งโรงสีโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยย้ายโรงสีจำเลยไปที่ตั้งใหม่ เป็นการแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานมีความผิดตามมาตรา 137 และในการที่จำเลยแจ้งต่อเจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในแบบสำรวจโรงสีใช้เครื่องจักร มีวัตถุประสงค์ใช้เป็นพยานหลักฐานย่อมมีความผิดตามมาตรา 267 ด้วย

คนสัญชาติจีนลงทะเบียนกองเกินว่าเป็นคนสัญชาติญวน แจ้งให้ลงทะเบียนในสำมะโนครัวว่าเป็นคนไทยเป็นความผิดตามมาตรา นี้

  • คำว่า “โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือประชาชน” ขอให้ดู คำพิพากษาฎีกาที่ 2056/2514 ข้างต้น อธิบายไว้ว่า เมื่อไม่ตรงกับความจริงคือเป็นข้อความอันเป็นเท็จแล้วก็จะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 2696/2521 มารดาคลอดบุตรโดยไม่ได้สมรสกับบิดา มารดาแจ้งต่อนายทะเบียนท้องถิ่นว่าบุตรชื่อเด็กหญิงรัตติยา ลิขิตสุวรรณกุล แต่บิดาไปแจ้งต่อนายทะเบียนอีกเขตว่า เด็กชื่อ เด็กหญิงรัตติยา แซ่อึ้ง ดังนี้ เป็นคุณแก่เด็กและมารดาไม่ทำให้มารดาซึ่งเป็นโจทก์เสียหาย ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 267

ที่ศาลฎีกาว่าเป็นคุณแก่เด็กและมารดาก็เพราะ ป. พ. พ. มาตรา 1555 บัญญัติว่า การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายให้มีได้แต่ในกรณีต่อไปนี้ (3) เมื่อมีเอกสารของบิดาแสดงว่า เด็กนั้นเป็นบุตรของตน (4) เมื่อปรากฏในทะเบียนคนเกิดว่าเด็กเป็นบุตรโดยมีหลักฐานว่า บิดาเป็นผู้แจ้งการเกิดหรือรู้เห็นยินยอมในการแจ้งนั้น (6) เมื่อมีพฤติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าเป็นบุตร พฤติการณ์ที่รู้กันทั่วไปว่าเป็นบุตรนั้นให้พิจารณาข้อเท็จจริงที่แสดงความเกี่ยวข้องฉันบิดากับบุตรซึ่งปรากฏในระหว่างตัวเด็กกับครอบครัวที่เด็กอ้างว่า ตนสังกัดอยู่ เช่นบิดาให้การศึกษา ให้ความอุปการะเลี้ยงดู หรือยอมให้เด็กใช้ชื่อสกุลของตน หรือโดยเหตุประการอื่น

คำพิพากษาฎีกาที่ 3724/2525 ที่ดินและบ้านสินเดิมของจำเลยที่ 1 เมื่อใช้บังคับบทบัญญัติ บรรพ 5 แล้วย่อมเป็นสินส่วนตัว จำเลยที่ 1มีอำนาจจำหน่ายได้เอง ไม่ต้องรับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นสามี และไม่ใช่ทรัพย์ที่โจทก์มีส่วนแบ่งเมื่อหย่ากัน จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายที่ดินและบ้าน ซึ่งเป็นสินเดิมโดยแจ้งเจ้าพนักงานที่ดินว่า เป็นหม้ายเพราะสามีตาย จำเลยที่สองรับรองว่าเป็นหม้ายจริง เจ้าพนักงานที่ดินได้บันทึกไว้ในสัญญาซื้อขาย แม้ข้อความจะเป็นความเท็จโจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะไม่ใช่ผู้เสียหาย ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 2(4)

ขอให้สังเกตว่าฎีกาฉบับนี้ไม่ได้วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นความผิดตามมาตรา 267 หรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 2174/2517 จำเลยนำรถยนต์ใบทะเบียน และคำแจ้งความเรื่องขอโอน และขอรับโอนทะเบียนรถยนต์ไปประกันเงินกู้ไว้กับโจทก์ ต่อมาจำเลยขอรับรถยนต์คืน เพื่อนำไปให้ผู้ซื้อดู โดยโจทก์ยอมรับเช็คเป็นประกันแทนรถยนต์ มีข้อตกลงว่าถ้าผู้ซื้อไม่ตกลงซื้อให้จำเลยนำรถยนต์มาคืนโจทก์ ถ้าตกลงซื้อให้แจ้งให้โจทก์ทราบ เพื่อโจทก์จะได้นำเช็คไปขอรับเงิน จำเลยไปแจ้งความว่าทะเบียนรถยนต์หาย เจ้าพนักงานตำรวจจดไว้ในรายงาน เบ็ดเสร็จประจำวัน ซึ่งจำเลยอาจถือเป็นหลักฐานไปขอใบแทน ทะเบียนรถยนต์เพื่อใช้โอนให้บุคคลอื่นได้ก็ตาม โจทก์ก็หาได้รับความเสียหายจากการนั้นไม่ เพราะเมื่อจำเลยขายหรือโอนรถยนต์ให้คนอื่นไป โจทก์ย่อมมีสิทธินำเช็คไปขอรับเงินจากธนาคารตามที่ตกลงกันหรือบังคับการชำระเงินตาเช็คนั้นได้ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย

คำพิพากษาฎีกาที 1562/2512 โจทก์ที่ 2 ฟ้องกล่าวหาจำเลยที่ 1 ผู้อำนวยการโรงพยาบาลว่า เอาหน้าที่ของโจทก์ที่ 2 ไปให้ผู้อื่นทำเป็นเหตุให้โจทก์ที่ 2 เสียหาย ดังนี้การมอบหมายงานของจำเลยที่ 1 ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ที่ 2 ไม่ใช่ผู้กระทำไม่ต้องรับผิดต่อความเสียหาย จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษตามมาตรา 267,268

คำพิพากษาฎีกาที่ 3978/2539 การที่จำเลยทราบดีอยู่แล้วว่าที่ดินพิพาทและทรัพย์สินอื่นเป็นของผู้เสียหาย ผู้เสียหายยังครอบครองมิได้ทิ้งร้าง แต่จำเลยยังขืนไปยื่นคำขอต่อทางราชการ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิครอบครอง ตาม ป. พ. พ. มาตรา 1367 ผู้เสียหายคัดค้านไม่ยอมให้เข้าไปในที่ดิน จึงไม่สามารถรังวัดตรวจสอบได้ จำเลยได้ให้ถ้อยคำยืนยันตามคำขอ ซึ่งเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่ได้บันทึกข้อความไว้ในบันทึกถ้อยคำ (ท.ด.16) อันเป็นเอกสารราชการซึ่งมีสาระสำคัญว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้เสียหาย ผู้เสียหายทิ้งร้างไว้ไม่ได้ทำประโยชน์ จำเลยเข้ายึดถือครองทำประโยชน์มานานขอให้เจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการจดทะเบียนสิทธิได้มาโดยการครอบครอง อันเป็นเท็จ ซึ่งจำเลยมีวัตถุประสงค์ใช้เป็นพยานหลักฐานในการที่จำเลยจะได้มาซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท อันน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย การกระทำของจำเลย จึงเป็นความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 267

มาตรา 268 ผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิด ตามมาตรา 265 มาตรา 265 มาตรา 266 หรือมาตรา 267 ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคแรกเป็นผู้ปลอมเอกสารหรือเป็นผู้แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความนั้นเอง ให้ลงโทษตามมาตรานี้แต่กระทงเดียว

  • อธิบายว่า “ใช้หรืออ้าง” หมายถึง การใช้อย่างเอกสาร คือกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งโดยอาศัยเอกสารเป็นวัตถุแห่งการกระทำผิด เช่น เอาบิลปลอมไปเบิกเงิน (ฎ.874/2473) แต่ถ้าเอาไปใช้อย่างกระดาษแผ่นหนึ่งซึ่งไม่เกี่ยวกับความในเอกสารนั้น เช่น เอาไปพับถุงใส่ซอง ไม่ใช่การใช้ตามมาตรานี้ การใช้ตามมาตรานี้ ไม่ต้องเป็นการใช้อย่างเอกสารที่แท้จริง เช่น นำประกาศนียบัตรปลอมออกแสดงต่อสายลับตำรวจดูเป็นตัวอย่าง เพื่อให้เชื่อถือในฝีมือในการทำปลอมก็เป็นการใช้การตามมาตรานี้ ( ฎ. 1654/2503)
  • คำว่า “อ้าง” หมายความถึง การอาศัยเอกสารนั้นแสดงข้อเท็จจริง เพื่อเป็นหลักฐานในการอ้างอิงของผู้กระทำผิด ไม่จำต้องอ้างเป็นพยานต่อศาลอันเป็นความผิดฐานเบิกความเท็จ อาจทำโดยให้ผู้นั้นเรียกหรือตรวจดูเอกสารนั้น เช่นขอให้ศาลเรียกเอกสารปลอม แต่ถ้าเพียงแต่แสดงความจำนงจะอ้างเช่น ยื่นบัญชีระบุพยานยังไม่เป็นอ้างจนกว่าจะขอหมายเรียกเอกสาร ถ้าขอให้เรียกเอกสารแม้ยังไม่ได้เรียกหรือยังไม่ได้เอกสารมาก็ถือว่าอ้างแล้ว
    • อ. จิตติ ติงศภัทิย์ อธิบายว่า ต้องเป็นการใช้อย่างเอกสารธรรมดา คือเพียงแต่แสดงข้อความในเอกสารให้ปรากฏต่อผู้อื่น ไม่ต้องถึงกับยื่นเอกสารให้ผู้อื่นรับไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 63/2486 คดีนี้ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า คูปองยางของกลางเป็นของปลอม จำเลยต้องรู้อยู่แล้วว่าเป็นคูปองยางปลอมยังยืนยันใช้คูปองยางปลอมนั้นอีก จำเลยฎีกาข้อกฎหมาย ว่า คำว่า “ใช้” ในกฎหมายอาญาว่าจะหมายความเพียงไร

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามวิธีการใช้คูปองยางอย่างที่จำเลยกล่าวนั้น เป็นวิธีการใช้ตามปกติ แต่กรณีในคดีนี้เป็นเรื่องจำหน่ายคูปองยาง การนำเอาคูปองยางปลอมออกจำหน่ายจะเรียกว่าเป็นการใช้หนังสือปลอมตามมาตรา 227 หรือไม่ เห็นว่า การนำเอาคูปองยางของกลางซึ่งเป็นหนังสือปลอมมาจำหน่ายเพื่อหาประโยชน์อันมิชอบเรียกได้ว่าเอาหนังสือปลอมมาใช้ตามมาตรา 227 แล้วการเอาออกจำหน่ายเป็นการใช้อย่างหนึ่ง กฎหมายมิได้กำหนดจำกัดว่าจะต้องเป็นการใช้โดยเฉพาะการสิ่งใด เมื่อเอาหนังสือออกใช้เพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็เรียกว่าใช้แล้ว

คำพิพากษาฎีกาที่ 1654/2503 (ประชุมใหญ่) จำเลยนำประกาศนียบัตรปลอมออกแสดง ต่อสายของตำรวจดูเป็นตัวอย่างเพื่อให้ผู้ติดต่อซื้อเชื่อถือฝีมือในการปลอมจะได้ตกลงซื้อ ดังนี้ ถือได้ว่าเป็นการนำเอกสารปลอมมาใช้ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนแล้ว จึงมีความผิดตามมาตรา 268

    • ยล ธีรกุล อธิบายว่า ตำราของอเมริกาว่า การใช้หนังสือปลอมเป็นความผิดฐานใช้หนังสือปลอมจะต้องเป็นการใช้โดยหลอกลวงว่า หนังสือนั้นเป็นหนังสือที่แท้จริง ตำราของอังกฤษว่าต้องเป็นการใช้ เพื่อจะโกงหรือหลอกลวงกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 227 บัญญัติว่า เอาหนังสือปลอมมาใช้เป็นของแท้ แต่ตาม ป.อาญา มาตรา 268 ไม่มีถ้อยคำว่าต้องนำมาใช้อย่างเป็นของแท้โดยใช้คำว่าในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ฉะนั้น การใช้หนังสืออย่างเป็นหนังสือปลอม ถ้าใช้ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนก็เป็นความผิดฐานใช้หนังสือปลอม ไม่จำเป็นต้องใช้อย่างของแท้
    • อ. จิตติ ติงศภัทิย์ อธิบายว่า กรณีตามคำพิพากษาฉบับนี้ แม้นำออกใช้อย่างเอกสารปลอมแต่ก็กระทำเพื่อนำเอาไปใช้อย่างเอกสารที่แท้จริงต่อไป จึงเป็นความผิด

โปรดสังเกตว่า คำพิพากษาฎีกาที่ 63/2486 จำเลยเอาตั๋วพิมพ์รูปพรรณสำหรับกระบือตัวผู้ของจำเลยที่ตายไปแล้วและถูกแก้เป็นตั๋วพิมพ์สำหรับกระบือตัวเมียไปให้เสมียนมหาดไทย ซึ่งออกไปรังวัดที่ดินดูและถามว่าจะใช้ได้หรือไม่ เสมียนผู้นั้นดูแล้วเห็นว่ามีรอยขูด แล้วจึงสั่งให้จำเลยนำไปอำเภอในวันรุ่งขึ้น พอจำเลยไปอำเภอก็ถูกสอบสวนฟ้องร้องเป็นคดีนี้ วินิจฉัยว่าการที่จำเลยเอาตั๋วพิมพ์รูปพรรณไปให้เสมียนมหาดไทยดูเพื่อให้ทราบว่าจะใช้ได้หรือไม่ หาใช่การนำเอกสารนั้นไปใช้ไม่ ไม่ผิดฐานใช้หรืออ้างเอกสารปลอม

  • อ. สุปัน พูลพัฒน์ อธิบายว่า เหตุที่ไม่ผิดเพราะเป็นแต่เพียงเอกไปให้ดูว่าจะใช้ได้หรือไม่ จึงไม่การใช้หรืออ้าง แต่กรณีนี้จำเลยมีความผิดฐานปลอมเอกสารตาม มาตรา 266

คำพิพากษาฎีกาที่ 440/2489 การจะเอาผิดจำเลยตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 227 ต้องได้ความว่าจำเลยเอาหนังสือที่รู้ว่าปลอมมาใช้เป็นของแท้ แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้จำเลยมีหนังสือซึ่งรู้อยู่แล้วว่าเป็นหนังสือปลอม แต่ยังไม่ทันได้เอาออกใช้จึงเอาผิดจำเลยฐานนี้ไม่ถนัด

คำพิพากษาฎีกาที่ 1407/2510 ทำพินัยกรรมปลอมไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอ เพื่อขอรังวัดมรดก และอำเภอได้ประกาศขอรับมรดกแล้ว แม้ต่อมาถอนการขอรับมรดกนั้น การทำพินัยกรรมปลอมไปแสดงเช่นนี้เป็นการกระทำอันเป็นเหตุให้น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น จึงเป็นความผิดมาตรา 268

คำพิพากษาฎีกาที่ 167/2517 จำเลยกู้เงินผู้เสียหายแล้วทำหนังสือสัญญากู้ลงลายมือชื่อผู้อื่นในช่องผู้กู้ ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าจำเลยเองเป็นผู้กู้ การกระทำของจำเลยเป็นการทุจริต เพื่อจะให้ได้เงินที่กู้ไปแต่มิให้ผู้เสียหายใช้สัญญากู้นั้นเป็นหลักฐานฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลย ทำให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหาย จำเลยจึงมีความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ เมื่อจำเลยได้มอบสัญญากู้ให้ผู้เสียหาย จำเลยจึงมีความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ เมื่อจำเลยได้มอบสัญญากู้ให้ผู้เสียหายยึดถือไว้ จำเลยจึงมีความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมอีกกระทงหนึ่ง (ฎ.ที่ 6966/2537 ตัดสินทำนองเดียวกัน)

คำพิพากษาฎีกาที่ 1967/2524 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า พันตำรวจโทนิกร จุณณวัตต์ และพันตำรวจโทชวลิต อำพันพงษ์ กับพวกไปที่บ้านจำเลยพบรถยนต์บรรทุกกระบะยี่ห้อโตโยต้า ไฮลักษ์สีขี้ม้า ซึ่งถูกคนร้ายลักมา 1 คัน จำเลยแสดงตนว่าเป็นเจ้าของรถโดยเอาไปอนุญาตทะเบียนรถยนต์ เอกสารหมาย ป.จ. 1 ให้พันตำรวจโทนิกร และพันตำรวจโทชวลิต ดู ปรากฏว่าเอกสารดังกล่าวและแผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษี เอกสารหมาย ป.จ. 5 ซึ่งติดกระจกหน้ารถยนต์เป็นเอกสารปลอมจำเลยทราบดีว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม

ที่จำเลยฎีกาว่า การที่จำเลยนำเอกสารหมาย ป.จ. 1 และ ป.จ. 5 แสดงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้จับกุมนั้นจำเลยมีสิทธิกระทำได้ ตาม ป.วิ.อาญา คือให้การต่อสู้คดีของตนอย่างใดๆ ก็ได้โดยชอบ ไม่ถือว่าจำเลยมีเจตนาแสดงเอกสารหมาย ป.จ. 1 และ ป.จ. 5 ซึ่งเป็นเอกสารปลอม ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จำเลยจะตกอยู่ในฐานะเป็นผู้ต้องหาฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร จำเลยย่อมให้การและต่อสู้คดีอย่างใดก็ได้ แต่การที่นำเอกสารหมาย ป.จ. 1 แสดงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้จับเพื่อให้พ้นผิด กู้เท่ากับจำเลยเจตนาใช้ หรืออ้างเอกสารนั้นต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้จับแล้ว เมื่อจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารปลอมก็ย่อมมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอม

คำพิพากษาฎีกาที่ 1508/2538 จำเลยปลอมตั๋วเครื่องบิน แล้วได้มอบให้แกผู้มีชื่อในตั๋ว หรือมอบให้ผู้อื่นซึ่งจะนำไปมอบให้แก่ผู้มีชื่อในตั๋ว จำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าผู้มีชื่อในตั๋วต้องนำตั๋วไปใช้ในการเดินทาง และเมื่อตั๋วเครื่องบินปลอมได้ถูกใช้ในการเดินทางแล้ว จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นตัวการใช้ตั๋วเครื่องบินปลอม

การที่จำเลยปลอมตั๋วเครื่องบิน โดยมีเจตนาที่จะให้ผู้มีชื่อในตั๋วได้เดินทางโดยจำเลยหรือผู้มีชื่อในตั๋วไม่ต้องจ่ายเงิน ดังนี้ จำเลยมีเจตนาโดยทุจริตหลอกลวงเจ้าของสายการบินว่า จำเลยหรือผู้มีชื่อในตั๋วได้ชำระค่าตั๋วเครื่องบินแล้วอันเป็นเท็จ ทำให้ผู้มีชื่อในตั๋วมีสิทธิเดินทางโดยไม่ต้องชำระเงิน จำเลยมีความผิดฐานฉ้อโกงเจ้าของสายการบิน

คำพิพากษาฎีกาที่ 136/2537 โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันเงินกู้ แต่จำเลยที่ 1 กลับกรอกข้อความว่า โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนขายที่ดินให้แก่ จำเลยที่ 1 อันเป็นการกระทำโดยไม่ได้รับความยินยอมและฝ่าฝืนคำสั่งโจทก์ จำเลยที่ 1 นำหนังสือมอบอำนาจไปจดทะเบียน ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ เป็นการปลอมและใช้เอกสารปลอม

จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นพยานในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจึงเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการปลอมเอกสาร และแม้จำเลยที่ 2 จะไม่ได้ไปด้วยในวันที่นำหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวไปจดทะเบียนโอนที่ดิน เมื่อจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 มาตั้งแต่ต้นทั้งเป็นสามีภริยากัน มีส่วนได้เสียในที่ดินที่รับโอน ดังนั้น จำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมในการใช้เอกสารปลอมด้วย

คำพิพากษาฎีกาที่ 2664/2536 เอกสารมรณะบัตรปลอมที่จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้นั้นเป็นภาพถ่ายเอกสาร โจทก์มิได้อ้างส่งเอกสารอันเป็นที่มาของภาพถ่ายดังกล่าว จึงไม่อาจทราบได้ว่าภาพถ่ายเอกสารดังกล่าว ถ่ายเอกสารมาจากมรณะบัตรที่เจ้าพนักงานทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ หรือสำเนาเอกสารที่เจ้าพนักงานได้รับรองในหน้าที่ ซึ่งมีการปลอมโดยการแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นหรือไม่ ต้องฟังเป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองว่า ภาพถ่ายเอกสารดังกล่าว มิใช่ภาพถ่ายเอกสารมาจากเอกสารที่มีลักษณะดังกล่าว แต่ได้ถ่ายเอกสารมาจากภาพถ่ายเอกสารที่มีการปลอมโดยแก้ไขข้อความในภาพถ่ายเอกสารนั้น ซึ่งมิใช่เอกสารที่เจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ จึงไม่เป็นเอกสารราชการปลอม การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดฐานใช้เอกสารปลอม

คำพิพากษาฎีกาที่ 1819/2532 ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ทำหนังสือบันทึกเสนออธิบดีกรมตำรวจเพื่อบรรจุแต่งตั้งจำเลยซึ่งมียศสิบตำรวจเอก และได้รับปริญญานิติศาสตร์บัณฑิตให้ได้รับเงินเดือนตามวุฒิในตำแหน่งรองสารวัตรปกครองป้องกันสถานีตำรวจนครบาลประชาชื่น ขณะเอกสารดังกล่าวถูกส่งไปตามสายงานค้างอยู่กองกำลังพล กรมตำรวจ จำเลยแอบไปแก้ไขตำแหน่งและเลขประจำตำแหน่งเป็นตำแหน่งรองสารวัตรปกครองป้องกันสถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม จำเลยมีความผิดฐานปลอมเอกสารราชการ ตามมาตรา 265 แต่ไม่มีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตามมาตรา 268 เพราะเมื่อเอกสารดังกล่าวถูกส่งไปตามสายงานจากกองบัญชาการตำรวจนครบาลถึงอธิบดีกรมตำรวจ และยังคงค้างอยู่ที่กองกำลังพล เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่กองกำลังพลที่เสนอเอกสารดังกล่าวไปตามลำดับจนถึงอธิบดีกรมตำรวจ จำเลยมิใช่ผู้ใช้หรืออ้างเอกสารดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่กองพลโดยวิธีแนบเรื่องไปตามลำดับชั้น

คำพิพากษาฎีกาที่ 1508/2538 จำเลยปลอมตั๋วเครื่องบินจำนวน 30 ฉบับ ตั๋วเครื่องบินปลอมทั้ง 30 ฉบับ นี้ผู้มีชื่อในตั๋วได้นำไปใช้แล้วแสดงว่าจำเลยได้ มอบตั๋วเครื่องบินทั้งหมดให้แก่ผู้มีชื่อในตั๋วหรือมอบให้แก่ผู้อื่นซึ่งจะนำไปมอบให้แก่ผู้มีชื่อในตั๋ว การมอบตั๋วเครื่องบินปลอมให้แก่บุคคลดังกล่าว จำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า ผู้มีชื่อในตั๋วต้องนำตั๋วไปใช้ในการเดินทางแล้ว ดังนี้ จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นตัวการใช้ตั๋วเครื่องบินปลอม

คำพิพากษาฎีกาที่ 446/2524 จำเลยปลอมเอกสารมอบให้ ส. นำเอกสารปลอมที่ได้รับจากจำเลย ไปแสดงต่อพนักงานตำรวจโดยลำพังตน จำเลยมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ดังนี้เพียงแต่จำเลยมอบเอกสารปลอมให้ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ก่อให้ ส. กระทำผิดฐานใช้เอกสารปลอมอันเป็นความผิดตาม มาตรา 268

ถาม มิ่งปลอมเอกสารราชการมอบให้มิตร มิตรนำเอกสารปลอมดังกล่าวพร้อมด้วยเงิน 5,000 บาท ไปมอบให้แมน ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่เกี่ยวกับการจะทะเบียนพาหนะ เพื่อให้จัดการจดทะเบียนรถยนต์ แมนรับเอกสารพร้อมกับเงิน 5,000 บาท ดังกล่าวไว้จากมิตร และได้ดำเนินการจดทะเบียนรถยนต์ให้ตามที่ตกลงกัน มิตรและแมนรู้อยู่แล้วว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารราชการปลอม ดังนี้ มิ่ง มิตร และแมน จะมีความผิดตาม ป.อาญาฐานใดบ้างหรือไม่

ตอบ การที่มิ่งมอบเอกสารราชการที่ตนปลอมขึ้นให้มิตรแล้วมิตรนำเอกสารราชการปลอมไปใช้นั้นไม่ปรากฏว่ามิ่งได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการที่มิตรนำเอกสารราชการปลอมไปใช้ หรือเป็นผู้บอกให้มิตรกระทำความผิดฐานใช้เอกสารปลอมนั้นด้วย มิ่งจึงไม่ใช่ตัวการร่วมกับมิตร ใช้เอกสารปลอม และมิใช่ผู้ใช้มิตร กระทำความผิดตามมาตรา 268 ประกอบด้วย ม. 84 ( ฎ. 446/2524) แต่การที่มิ่งมอบเอกสารที่คนทำปลอมขึ้นให้มิตรไปนั้นถือได้ว่าเป็นการใช้เอกสารราชการปลอมในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ในตัวเองอยู่แล้ว มิ่งจึงมีความผิดฐานปลอมเอกสารราชการตามมาตรา 265 และฐานใช้เอกสารราชการปลอมตามมาตรา 268 วรรคหนึ่ง แต่เนื่องจากมิ่งเป็นผู้ปลอมเอกสารนั้นเอง จึงต้องรับโทษฐานใช้เอกสารราชการปลอมแต่กระทงเดียว ตาม ม. 268 วรรคสอง

มิตรเป็นผู้นำเอกสารราชการปลอมพร้อมด้วยเงิน 5,000 บาท ไปมอบให้แมนซึ่งเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่เกี่ยวกับการจดทะเบียนยานพาหนะ เพื่อให้จัดการจดทะเบียนรถยนต์ และแมนรับเอาเอกสารราชการปลอมกับเงิน 5,000 บาท นั้นจากมิตรไว้แล้วดำเนินการจดทะเบียนรถยนต์ให้ตามที่ตกลงกัน โดยทั้งมิตรและแมนรู้อยู่แล้วว่า เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารราชการปลอมดังนี้ มิตรและแมนจึงมีความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารราชการปลอม ตาม ม. 268,83 และมิตรมีความผิดฐานให้ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานเพื่อให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ ตาม ม. 144 อีกกระทงหนึ่ง

แมนมีความผิดฐานรับทรัพย์สินสำหรับตนเองเพื่อกระทำการในตำแหน่ง ตาม ม. 149 อีกกระทงหนึ่ง

การกระทำของมิตรไม่เป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่แมนรับสินบน ดังนั้น มิตรจึงไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน การกระทำความผิดของ แมน ตาม ม. 149 (ฎ. 435/2520 ) และการกระทำของแมนก็ไม่เป็นการสนับสนุนการกระทำความผิดตาม ม. 144 ของมิตรเช่นกัน เพราะเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติเอาผิดแก่การกระทำของแต่ละฝ่ายแยกไว้ต่างหากจากกันแล้ว

คำพิพากษาฎีกาที่ 2275/2533 จำเลยใช้ใบรับรองแพทย์ซึ่งเป็นเอกสารราชการปลอมแสดงต่อผู้บังคับบัญชาเพื่อประกอบรายงานชี้แจงที่จำเลยขาดราชการ 3 วัน เพื่อให้พ้นผิดทางวินัย เป็นการใช้ที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น คือผู้บังคับบัญชาของจำเลย ที่ต้องบันทึกรายงานผลการชี้แจงเสนอขึ้นไปตาม ลำดับชั้น จำเลยจึงมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอม

  • เอกสารที่ใช้จะต้องเป็นเอกสารที่เกิดจากการกระทำความผิดตาม ม. 264,265,266,267 กล่าวคือ จะต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่าเป็นเอกสารปลอมตาม ม. 264,265,266 หรือเป็นเอกสารที่แจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการ

ตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ตาม ม. 267 หรือไม่ เมื่อเป็นเอกสารดังกล่าวแล้วจึงจะพิจารณาต่อไปว่า ได้ใช้หรืออ้างเอกสารนั้นหรือไม่

  • อ. จิตติ ติงศภัทิย์ อธิบายว่า กรณีที่อาจเป็นปัญหาก็คือ หากได้ทำเอกสารขึ้นให้เหมือนของแท้แต่ไม่มีเจตนากระทำเพื่อให้หลงเชื่อว่าเป็นของแท้ ซึ่งไม่เป็นความผิดตาม ม. 264 แต่ต่อมากลับใจหรือมีผู้อื่นนำออกใช้ให้หลงเชื่อว่าเป็นของแท้ เห็นจะเอาผิดตามมาตรา 264 หรือ 268 ไม่ได้ เช่น นำศิลาจารึกจำลองไม่ลวงให้เห็นว่าเป็นของแท้ไม่เป็นปลอมเอกสาร หากต่อมานำไปใช้อย่างเอกสารที่แท้จริงจะเป็นความผิดหรือไม่

การที่จะเป็นความผิดต้องใช้หรืออ้างในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน และในกรณีที่โจทก์เป็นราษฎรฟ้องเอง โจทก์จะต้องเป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อาญา ด้วย

คำพิพากษาฎีกาที่ 213/2539 จำเลยนำภาพถ่ายของตนมาปิดทับลงในสำเนาภาพถ่ายใบอนุญาตขับรถของตน แม้เพื่อให้เจ้าพนักงานตำรวจและบุคคลทั่วไปหลงเชื่อว่าเป็นต้นฉบับเอกสารที่แท้จริงแต่ก็ไม่เกิดความเสียหายใดๆ แก่ผู้อื่นหรือประชาชน จึงไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร และแม้จะได้นำไปใช้ก็ไม่มีความผิดฐานใช้เอกสารปลอม

คำพิพากษาฎีกาที่ 1593/2528 จำเลยในฐานะครูใหญ่ยื่นเอกสารใบรับรองแพทย์ประกอบใบลาป่วยต่อผู้จัดการโรงเรียนคือจำเลยเอง โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของโรงเรียน มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารกิจการโรงเรียนขณะนั้นแต่ประการใด เพิ่งเป็นผู้จัดการโรงเรียนในภายหลัง แม้ใบรับรองแพทย์จะเป็นเอกสารปลอมแต่จำเลยมิได้ใช้เอกสารดังกล่าวแสดงต่อโจทก์ โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายในข้อหาใช้เอกสารปลอมตาม ม. 268 ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย

คำพิพากษาฎีกาที่ 2361/2530 ก่อนโจทก์จำเลยมีการพิพาทเรื่องกรรมสิทธิ์ของบ้าน จำเลยนำคำร้องซึ่งเป็นเอกสารปลอมไปยื่นต่อนายทะเบียน เพื่อขอเลขบ้านพิพาทใหม่ โดยต้องการเอาบ้านนั้นเป็นของจำเลย ดังนี้ เลขบ้านไม่ใช่หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ แม้จำเลยจะได้เลขบ้านใหม่ก็หาทำให้โจทก์หมดสิทธิที่จะใช้เลขบ้านเดิมไม่ ความเสียหายจากการใช้เอกสารปลอมจึงเกิดขึ้นแก่นายทะเบียนเท่านั้น โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมายที่จะฟ้องจำเลยได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 3395/2525 จำเลยร่วมกับ ด. ใช้หรืออ้างพินัยกรรมของ ต. ซึ่งเป็นพินัยกรรมปลอมรับโอนมรดกมาเป็นของ ด. ขณะเกิดเหตุ ม. บุตร ต. ยังมีชีวิตอยู่ ม. จึงเป็นผู้เสียหาย เมื่อ ม. ตาย ป.วิ.อาญา ม. 4,5,6 ไม่ได้ให้อำนาจโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับพินัยกรรมของ ม. ที่จะฟ้องคดีแทน ม. ได้ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายในข้อหาใช้หรืออ้างเอกสารปลอมตาม ม. 268 และข้อหาแจ้งความเท็จ ตาม ม. 137 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาฎีกาที 815/2531 โจทก์ไม่ใช่คู่ความในคดีที่ ล. ขอให้ศาลสั่งให้ อ. เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถและไร้ความสามารถ แม้ ล. อ้างสูติบัตรปลอมและสำเนาทะเบียนบ้านปลอมเป็นพยานในคดีดังกล่าวก็เป็นการกระทำต่อศาล มิได้กระทำต่อโจทก์ โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย

  • ผู้กระทำความผิดจะต้องมีเจตนาโดยรู้ข้อเท็จจริงว่า เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารปลอมหรือเอกสารเท็จ และเมื่อเป็นข้อเท็จจริง โจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบ

คำพิพากษาฎีกาที่ 143/2467 ตั๋วพิมพ์รูปพรรณของจำเลยถูกต้อง แต่มีคนหลอกว่าไม่ถูกต้องและรับจ้างแก้โดยคิดค่าจ้าง 50 สตางค์ ต่อมาจำเลยนำไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานเมื่อย้ายที่อยู่จึงถูกจับ ดังนี้ไม่เป็นความผิดเพราะไม่รู้ว่าเป็นเอกสารปลอมโดยคิดว่าแก้ได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 693/2526 รถยนต์ของ ส. ถูกคนร้ายลักไป อ. เคยนำมาซ่อมท่อไอเสียกับจำเลย แสดงตนว่าเป็นเจ้าของ จำเลยขอยืมรถ อ. ไปใช้ ปรากฏว่าป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีและป้ายทะเบียนรถยนต์ปลอม เมื่อจำเลยไม่รู้ความจริงดังกล่าวไม่มีความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอม ตาม ม. 268

  • ถ้าผู้ใช้หรืออ้างเป็นผู้ปลอมเอกสารนั้นหรือเป็นผู้แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความนั้นเอง ให้ลงโทษตามมาตรานี้แต่กระทงเดียว

คำพิพากษาฎีกาที่ 2907/2526 จำเลยเป็นเจ้าพนักงานปลอมและใช้เอกสารปลอมมีความผิดตาม ม. 265,268 และ 161 ให้ลงโทษตาม ม. 161 ซึ่งเป็นบทหนักตาม ม. 90

คำพิพากษาฎีกาที่ 1928/2529 วินิจฉัยว่า มาตรา 268 วรรคสอง หมายความว่า ความผิดฐานปลอมเอกสารแต่ละกระทงนั้นผู้ใช้เอกสารปลอม เป็นผู้ปลอมเอกสารนั้นก็ให้ลงโทษฐานเป็นผู้ใช้เพียงกระทงเดียวเฉพาะแต่ละกระทงที่ทำปลอม

จำเลยปลอมป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถกระทงหนึ่ง และปลอมป้ายทะเบียนรถแสดงการจดทะเบียนใช้รถอีกกระทงหนึ่ง แม้จำเลยจะได้นำป้ายทั้งสองนี้ไปใช้หรืออ้างในเวลาเดียวกันก็เป็นการใช้เอกสารคนละประเภทกัน ต้องมีความผิดฐานเป็นผู้ใช้เอกสารดังกล่าวสองกระทง (คำพิพากษาฎีกาที่ 314 /2544 เดินตาม)

คำพิพากษาฎีกาที่ 6668/2538 จำเลยทั้งสามนำรถยนต์ของกลางออกขับขี่ในที่ต่าง ๆ โดยมีแผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถยนต์ปลอม และแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ปลอมติดอยู่ในรถยนต์คันเดียวกัน โดยมีเจตนาแสดงเอกสารดังกล่าวต่อผู้อื่น หรือ เจ้าพนักงานตำรวจในเวลาเดียวกัน จนกระทั่งถูกเจ้าพนักงานจับ เห็นได้ว่าจำเลยทั้งสามมีเจตนาอย่างเดียวคือเพื่อให้ผู้อื่นหรือเจ้าพนักงานตำรวจเห็นว่ารถยนต์คันที่จำเลยทั้งสามใช้ขับเป็นรถยนต์ที่ถูกต้องตามกฎหมายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น การกระทำของจำเลยทั้งสามมีความผิดกรรมเดียว(คำพิพากษาฎีกาที่ 22/2542 เดินตาม)

ขอให้สังเกตว่า ข้อเท็จจริงในคำพิพากษาฎีกาทั้งสองเรื่องนี้ไม่เหมือนกัน กล่าวคือ ใน ฎีกาที่ 1928/2529 จำเลยเป็นผู้ปลอมป้ายวงกลม และเป็นผู้ปลอมป้ายทะเบียนเป็นความผิดสองกระทง เมื่อนำไปใช้แม้จะใช้ในเวลาเดียวกันก็เป็นเอกสารต่างประเภทกัน จึงมีความผิดฐานเป็นผู้ใช้สองกระทงกัน จึงมีความผิดฐานเป็นผู้ใช้สองกระทง ฎีกา 6668/2538 จำเลยทั้งสามไม่ได้เป็นผู้ปลอมเอกสารดังกล่าวเป็นแต่ใช้เท่านั้น ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า ตามพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสามเห็นได้ว่าจำเลยทั้งสามมีเจตนาอย่างเดียวคือให้ผู้อื่นหรือเจ้าพนักงานตำรวจเห็นว่ารถยนต์คันที่จำเลยทั้งสามใช้ขับขี่เป็นรถยนต์ถูกต้องตามกฎหมายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น จึงเป็นความผิดกรรมเดียว

คำพิพากษาฎีกาที่ 4718/2533 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง ใช้เฉพาะกรณีที่ฟ้องขอให้ลงโทษทั้งข้อหาปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม เมื่อได้ความว่าผู้ใช้เอกสารปลอมเป็นผู้ปลอมเอกสารนั้นด้วย ศาลก็ต้องลงโทษฐานใช้เอกสารปลอมแต่กระทงเดียว เมื่อปรากฏว่าโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานปลอมเอกสาร แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่าจำเลยใช้เอกสารที่ทำปลอมขึ้นด้วย ศาลก็ลงโทษจำเลยได้เฉพาะความผิดฐานปลอมเอกสารเท่านั้น โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยกระทำความผิดฐานใช้เอกสารปลอมด้วยหรือไม่

ตัวอย่างคำถามที่น่าสนใจ

คำถาม นายอ้วนกู้เงินนายโตไป 5,000 บาท แล้วไม่ชำระ เมื่อนายโตไปทวงนายอ้วนขอดูสัญญากู้แล้วฉีกสัญญาเพื่อ จะไม่ต้องชำระเงินแก่นายโต พอนายอ้วนฉีกสัญญาออกเป็น 2 ชิ้น นายโตแย่งสัญญาไว้ได้ก่อนที่นายอ้วนจะฉีกต่อไปอีก นายอ้วนจึงกลับแล้วนำเงิน 5,000 บาท ไปชำระให้นายโตเรียบร้อยดังนี้ นายอ้วนจะมีความผิดอย่างใดหรือไม่

คำตอบ การที่นายอ้วนฉีกสัญญากู้ออกเป็น 2 ชิ้นนั้น เรียกได้ว่าน่าจะเกิดความเสียหายแก่นายโตแล้ว ไม่จำเป็นต้องทำลายจนใช้ไม่ได้ นายอ้วนจึงต้องมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ม. 358 และ ฐานทำลายเอกสารตามมาตรา 188 อันเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตาม ม.188 อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามมาตรา 90 การที่นายอ้วนเอาเงินมาชำระให้นายโตในภายหลังไม่ทำให้นายอ้วนพ้นความผิดที่ได้ทำไว้แล้วไปได้

คำถาม ตำรวจจับนายเอกและยึดเอกสารที่มีเลขการซื้อสลากกินรวบได้จากนายเอกในข้อหาเล่นการพนันสลากกินรวบโดยไม่ได้รับอนุญาต ขณะที่ตำรวจทำบันทึกการจับกุมอยู่นั้น นายโทได้เข้าแย่งเอาสลากกินรวบนั้นจากตำรวจไปทิ้งเสียในคูข้างถนน เพื่อไม่ให้มีหลักฐานพิสูจน์ความผิดของนายเอกได้ ดังนี้ นายโทจะมีความผิดสถานใดบ้างหรือไม่

คำตอบ ตำรวจยึดเอกสารเพื่อเป็นพยานหลักฐาน การที่นายโทเอาทิ้งเสียเป็นการทำให้เสียหายซึ่งเอกสารนั้น เป็นความผิดตาม ป.อาญา ม.142 นอกจากนี้เป็นการกระทำเพื่อช่วยนายเอกมิให้ต้องรับโทษ ทำให้เสียหายซึ่งพยานหลักฐานในการกระทำความผิด เป็นความผิดตาม ป.อาญา 184 อีกบทหนึ่ง และการที่เอาเอกสารที่ตำรวจยึดไว้ไปเสียเป็นความผิดตามป.อาญา ม.188 อีกบทหนึ่งด้วย

ข้อสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาสนามเล็กเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2534

คำถาม นายสมพงษ์หัวหน้าสำนักงานแห่งหนึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาคำสั่งต่าง ๆ ของผู้ว่าราชการจังหวัด ต้องการให้นายพินิจครูประจำจังหวัดซึ่งเป็นเพื่อนของตนไปช่วยราชการในแผนกศึกษาธิการจังหวัดนั้น จึงทำคำสั่งจังหวัดเรื่องแต่งตั้งข้าราชการขึ้น โดยย้ายนายพินิจไปช่วยราชการในแผนกศึกษาธิการจังหวัด ซึ่งอำเภอดังกล่าวเป็นของผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อพิมพ์คำสั่งลงในกระดาษไขแล้วได้ตัดเอากระดาษไขที่มีลายมือชื่อของผู้ว่าราชการจังหวัดในกระดาษไขซึ่งลงนามไว้ในคำสั่งอื่น มาติดไว้ในคำสั่งที่นายสมพงษ์ทำขึ้น แล้วโรเนียวคำสั่งดังกล่าวส่งไปยังผู้อำนวยการโรงเรียนประจำจังหวัดเพื่อให้ส่งตัวนายพินิจมาตามคำสั่ง แต่ผู้อำนวยการโรงเรียนไม่เชื่อ จึงไม่ได้ปฏิบัติตาม ดังนี้ให้วินิจฉัยว่าความผิดและโทษของนายสมพงษ์

คำตอบ นายสมพงษ์เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ดูและรักษาเอกสารและคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัด การที่นายสมพงษ์ทำคำสั่งปลอมเพื่อแต่งตั้งข้าราชการโดยไม่มีอำนาจโดยใช้วิธีตัดลายมือชื่อของผู้ว่าราชการจังหวัดในกระดาษไขมาติดในคำสั่งที่นายสมพงษ์ทำขึ้น ย่อมเป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับ เพื่อแสดงให้บุคคลอื่นหลงเชื่อว่าเป็นคำสั่งที่แท้จริง นายสมพงษ์จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปลอมเอกสารราชการตาม ป.อาญา ม. 161,264 วรรคแรก และ 265 (ฎ. 2316/2529)

ตัวอย่างข้อสอบเนติฯ

คำถาม นายดีทำสัญญาประกันตัวนายดำไปจากศาล นายดำหลบหนีไปไม่ฟังคำพิพากษาตามกำหนดนัด นายดำจึงไปขอความช่วยเหลือจากนายแดงกำนันท้องที่โดยนายดีร่วมกับนายแดงทำใบมรณะบัตรว่า นายดำถึงแก่ความตาย แล้วนายดีได้ทำคำร้องยื่นต่อศาลว่านายดำถึงแก่ความตาย พร้อมกับส่งใบมรณบัตรดังกล่าวต่อศาลด้วย ดังนี้ให้วินิจฉัยว่านายแดงและนายดำจะมีความผิดฐานใดบ้างหรือไม่

คำตอบ นายแดงเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำ กรอกข้อความลงในมรณะบัตรตามอำนาจหน้าที่ มรณะบัตรดังกล่าวจึงเป็นเอกสารที่แท้จริงที่นายแดงทำขึ้น แม้ข้อความในมรณะบัตรไม่ตรงกับความจริงก็ไม่ทำให้เป็นเอกสารปลอม นายแดงจึงไม่มีความผิดตาม ป.อาญา ม. 161 แต่เป็นความผิดตาม ป.อาญา ม. 162

ส่วนนายดียื่นคำร้องเท็จต่อศาลว่านายดำถึงแก่ความตาย เป็นการร้องเพื่อให้พ้นความรับผิดตามสัญญาประกัน จึงเป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานตาม ป.อาญา ม.137 และนายดียังมีความผิดฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานกระทำความผิดตาม ป.อาญา ม.162 ประกอบด้วยมาตรา 86 อีกฐานหนึ่ง โดยที่มรณะบัตร ที่นายดียื่นต่อศาลไม่ใช่เอกสารปลอมนายดีจึงไม่มีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตาม ป.อาญา มาตรา 268 (ฎ.2302/2523)

คำพิพากษาฎีกาที่ 1302/2523 จำเลยที่ 2 เป็นสารวัตร กำนันปฎิบัติหน้าที่แทนกำนัน เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าออกสำเนาทะเบียนบ้านว่าย้ายออก และมีหน้าที่กรอกข้อความลงในใบมรณะบัตรตามอำนาจหน้าที่ โดยลงชื่อจำเลยที่ 2 ในช่องนายทะเบียนผู้รับแจ้งมรณบัตรและสำเนาทะเบียนบ้านดังกล่าว จึงเป็นเอกสารที่แท้จริงที่จำเลยที่ 2 ทำขึ้น แม้ข้อความในมรณะบัตรและสำเนาทะเบียนบ้านไม่ตรงกับความจริง ก็ไม่ทำให้เป็นเอกสารปลอมตามมาตรา 161 แต่เป็นความผิดตาม ม. 162

คำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวจะต้องยื่นต่อศาลชั้นศาลชั้นต้นที่ชำระคดี คำว่า “ศาล” หมายถึง ผู้พิพากษาที่มีอำนาจทำการเกี่ยวกับคดีอาญา ผู้พิพากษาจึงมีอำนาจหน้าที่ วินิจฉัยสั่งคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว ตลอดจนการบังคับตามสัญญาในกรณีที่ผิดสัญญาจึงเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย การที่จำเลยยื่นคำร้องเท็จว่า ส. ถึงแก่กรรมเป็นการร้องเพื่อให้พ้นจากความผิดตามสัญญาประกัน จึงเป็นการแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ศาลลงโทษจำเลยฐานละเมิดอำนาจศาลประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล เป็นการลงโทษตาม ป.วิ.แพ่ง ม. 31(1) และ ม.33 โดยไม่มีโจทก์ฟ้อง สิทธินำคดีมาฟ้องของโจทก์จึงไม่ระงับไป โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาฐานแจ้งความเท็จตาม ม. 137 ได้

คำถาม นายใหญ่มอบอำนาจให้นายเล็กเลขานุการลงชื่อนายใหญ่ในเอกสารต่าง ๆ แทนได้ นายเล็กได้ลงชื่อนายใหญ่ในฐานะผู้สั่งจ่ายลงในเช็คหลายฉบับ เก็บไว้นายโตได้ลักเอาเช็คที่มีชื่อนายใหญ่ฉบับหนึ่งไปกรอกข้อความและจำนวนเงินแล้วนำเช็คไปขึ้นเงิน แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินโดยอ้างว่าลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายไม่เหมือนกับลายมือชื่อตัวอย่างที่มอบให้ธนาคารไว้ ดังนี้ นายโตจะมีความผิดฐานใดหรือไม่

คำตอบ การลงลายมือชื่อไม่มีกฎหมายให้อำนาจลงลายมือชื่อแทนกันได้ (ฎ.ที่ 1020/2517และ 2525) การกระทำของนายโตจึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิตาม ป.อาญา ม. 264,266 แม้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ก็เป็นความผิดฐานใช้เอกสารปลอม ตาม ม. 268 ลงโทษตาม ม. 268 และเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ม. 334 อีกกระทงหนึ่งด้วย

ตัวอย่างข้อสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา

คำถาม นายมีให้นายทองกู้เงินไป 5,000 บาท โดยมิได้ทำหนังสือสัญญากู้ไว้ต่อมานายทองไม่ชำระเงินภายใน 6 เดือน ตามที่ตกลง นายมีจึงทำสำเนาสัญญากู้ขึ้นฉบับหนึ่งมีใจความว่า นายทองกู้เงินนายมีไป 5,000 บาท กำหนดชำระเงินภายใน 6 เดือน และเขียนชื่อนายทองในช่องผู้กู้ เขียนชื่อนายมีในช่องผู้ให้กู้ กับเขียนชื่อบุคคลอื่นอีก 2 คนในช่องพยาน นายมีลงนามรับรองสำเนาสัญญากู้นั้นว่าเป็นสำเนาที่ถูกต้อง แล้วนายมีนำสำเนาสัญญากู้นั้นไปฟ้องศาลเรียกเงิน 5,000 บาท จากนายทองโดยแนบสำเนา สัญญากู้มาท้ายฟ้องและบรรยายในฟ้องด้วยว่าต้นฉบับสูญหายไป นายทองให้การปฏิเสธว่าไม่เคยทำสัญญากู้ให้โจทก์ไว้เลย ในชั้นสืบพยานนายมีได้อ้างสำเนาสัญญากู้ฉบับนั้นเป็นพยานด้วย ดังนี้ การกระทำของนายมีทั้งหมดเป็นความผิดใดบ้างหรือไม่

คำตอบ การกระทำของนายมีเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิตามป.อาญา ม. 265 เพราะการรับรองสำเนาสัญญากู้ว่าถูกต้องทั้งๆ ที่ต้นฉบับไม่มี เท่ากับเป็นการปลอมขึ้นทั้ง ฉบับนี้ เพื่อให้เห็นว่าตนได้คัดมาจากต้นฉบับที่แท้จริงถือว่าเป็นการปลอมเอกสาร (ฎ.1733/2514) และสัญญากู้เป็นเอกสารสิทธิตามความหมายของ ป.อาญา มาตรา 1(9) (ฎ.167/2517) เมื่อนายมีนำสัญญากู้นั้นไปยื่นฟ้องต่อศาลจึงเป็นการใช้เอกสารสิทธิปลอมตาม ป.อาญา ม. 268 ด้วย (ฎ. 825/2506) แต่เมื่อนายมีเป็นทั้งผู้ปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม จึงให้ลงโทษตาม ป.อาญา ม.268 เพียงกระทงเดียวตาม ป.อาญา ม. 268 วรรคสอง นอกจากนี้นายมียังมีความผิดฐานแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดี ตาม ป.อาญา ม. 180 อีกกระทงหนึ่งด้วย ซึ่งเป็นความผิดต่างกรรมกับความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม

คำถาม นายขาวต้องการได้ประกาศนียบัตรชั้นมัธยมปีที่ 6 ปลอม จึงไปขอซื้อจากนายแดง แต่นายแดงว่าขณะนี้ไม่มีใบประกาศนียบัตร มีแต่ใบสุทธิ แล้วควักใบสุทธิปลอมซึ่งนายดำเป็นผู้ทำและจะเอาไปขายให้แก่นายเหลืองออกมาให้นายขาวดู นายขาวดูแล้วตกลงซื้อ จึงบอกชื่อตัว ชื่อสกุล และอายุแก่นายแดง เพื่อให้นายไปจัดหามาให้ วินิจฉัยว่านายขาว นายแดงจะมีความผิดทางอาญาฐานใดหรือไม่

คำตอบ นายขาวมีความผิดฐานใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานปลอมหนังสือ ส่วนนายแดงมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตาม ป.อาญา ม. 84 ประกอบ ม.264 และ ม. 268

ต่อไปเป็นตัวอย่างข้อสอบคัดเลือกบรรจุเป็นข้าราชการอัยการในตำแหน่งอัยการผู้ช่วย

คำถาม ข้อเท็จจริงในสำนวนการสอบสวนคดีอาญาเรื่องหนึ่ง ปรากฏว่าผู้ต้องหาสำเร็จการศึกษาประถมปีที่ 3 เป็นผู้ที่ ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในการสมัครรับเลือกตั้ง เป็นส.ส. จังหวัดหนึ่ง ผู้ต้องหาได้กรอกใบสมัครด้วยตนเองว่าผู้ต้องหามียศร้อยโทแห่งกองทัพบกไทย แล้วยื่นต่อผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งมีหน้าที่สอบสวนคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้งเพื่อให้จดข้อความลงในบันทึกการสอบสวนว่า ผู้ต้องหามียศร้อยโท ซึ่งผู้ต้องหารู้อยู่แล้วว่าไม่เป็นความจริง ทั้งรูปถ่ายที่ยื่นต่อผู้ว่าราชการจังหวัดก็ปรากฏว่า ผู้ต้องหาแต่งเครื่องแบบทหารบกยศร้อยโทโดยไม่มีสิทธิ และผู้ต้องหาได้มอบรูปถ่ายของตนดังกล่าวแล้วนั้น ให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อเป็นหลักฐานในการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. และเพื่อให้ผู้ว่า ฯ นำไปปิดประกาศให้ประชาชนทราบ ผู้ว่าฯ เชื่อตามหลักฐานที่ผู้ต้องหานำมาแสดง จึงรับสมัครไว้ ดังนี้ผู้ต้องหาจะมีความผิดฐานใดบ้าง

คำตอบ การที่ผู้ต้องหากรอกใบสมัครด้วยตนเองแล้วยื่นต่อผู้ว่าฯ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นความเท็จ ผู้ต้องหามีความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตาม ป.อาญา ม. 137 กรณีที่ผู้ว่าฯ สอบสวนคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้งและผู้ต้องหาได้แจ้งให้จดลงในบันทึกการสอบสวนอันเป็นเอกสารราชการว่า ผู้ต้องหามียศร้อยโทซึ่งผู้ต้องหารู้อยู่แล้วว่าไม่เป็นความจริง ผู้ต้องหามีความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการตาม ป.อาญา ม. 267

ส่วนกรณีที่ผู้ต้องหาสวมเครื่องแบบยศร้อยโทโดยไม่มีสิทธินั้น ผู้ต้องหามีความผิดฐานสวมเครื่องแบบและใช้ยศทหารโดยไม่มีสิทธิ ตาม ป.อาญา ม. 146 (ฎ. 2752/2519)

คำถาม นางศรี มีสุข อยู่กินฉันสามีภริยา กับนายฮ้อ แซ่อึ้ง โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสจนมีบุตร ด้วยกัน 1 คน เมื่อบุตรเกิด นางศรีได้ไปแจ้งคนเกิดต่อนายทะเบียนท้องถิ่นว่าเด็กหญิงอนุศรี มีสุข เป็นบุตร ของตนโดยนายฮ้อ แซ่อึ้ง เป็นบิดา และได้รับสูติบัตรไปโดยถูกต้องแล้ว หลังจากคลอดบุตรนางศรีก็เลิกอยู่กินฉันสามีภริยากับนายฮ้อ ต่อมานายฮ้อได้ไปแจ้งคนเกิดต่อนายทะเบียนท้องถิ่นอีกแห่งหนึ่งว่า เด็กหญิงอนุศรี แซ่อึ้ง เป็นบุตรของตนโดยนางศรี เป็นมารดา และได้รับสูติบัตรไปเช่นเดียวกัน การกระทำของนายฮ้อจะเป็นความผิดฐานใดหรือไม่

คำตอบ ข้อความที่นายฮ้อแจ้งให้เจ้าพนักงานจดมิใช่ข้อความอันเป็นเท็จ นายฮ้อจึงไม่มีความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จ ตาม ป.อาญา ม. 267

คำถาม นางมาลี ภริยานายมิ่งขอเงินนายมิ่ง จะไปซื้อแหวนเพชร นายมิ่งไม่ให้นางมาลีจึงให้นายมิ่งซึ่งมีอาชีพเป็นแพทย์ออกหนังสือตรวจโรค ว่า นางมาลีเป็นโรคมะเร็งต้องเสียค่ารักษา 10,000 บาท นายเมืองจัดการให้ตามประสงค์โดยรู้ว่านางมาลีจะเอาหนังสือนั้นไปหลอกเอาเงินนายมิ่ง นายมิ่งเชื่อตามหนังสือที่นายเมืองออกรับรองให้ จึงให้เงินนางมาลีไปรักษาโรค 10,000 บาท นางมาลีและนายเมืองจะมีความผิดฐานใดหรือไม่ (เคยออกเป็นข้อสอบผู้พิพากษาและเนติฯ)

คำตอบ นางมาลีผิดฐานฉ้อโกง ตาม ม. 341 และผิดฐานใช้หรืออ้างคำรับรองเอกสารอันเป็นเท็จ ตาม ม. 269 วรรคสอง แต่ฐานฉ้อโกงไม่ต้องรับโทษ ตามนัย ม. 71 คงลงโทษตาม ม. 269 บทเดียว

นายเมืองมีความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341 ประกอบด้วย ม. 83 และผิดฐานทำคำรับรองอันเป็นเท็จ ตาม ม. 269 ลงโทษตามมาตรา 341 ซึ่งเป็นบทหนักตาม ม. 90

คำถาม นายจอนไปหาเพื่อนที่สถานทูตไทยในสหรัฐอเมริกา และได้เห็นเอกสารอันปกปิดไว้เป็นความลับเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกา เกี่ยวข้องกับความมั่นคงปลอกภัยของทั้งสองประเภท วางอยู่บนโต๊ะของเพื่อนจึงแอบหยิบเอกสารนั้นไว้เสียเพื่อจะนำไปขาย แต่ถูกเจ้าหน้าที่สถานทูตจับได้นำส่งตำรวจ นายจอน ถูกศาลในสหรัฐอเมริกาพิพากษาลงโทษ เมื่อนายจอนรับโทษครบถ้วนตามคำพิพากษาแล้วก็เดินทางมาอยู่ในประเทศไทย ดังนี้ ศาลไทยจะลงโทษนายจอนในราชอาณาจักร เพราะการกระทำนั้นอีกได้เพียงใดหรือไม่

คำตอบ การกระทำของนายจอน เป็นความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตาม ม.123 ศาลไทยลงโทษนายจอนในราชอาณาจักรได้อีกโดยไม่มีข้อจำกัดตาม ม. 10 เพราะม. 10 ไม่ได้คลุมถึงความผิดตาม ม. 7(1)ด้วย

คำถาม นางศรี ซื้อซื้อรถยนต์มาใหม่เอี่ยม 1 คัน จดทะเบียนเสียภาษีแล้ว แต่ยังไม่ได้รับแผ่นป้ายทะเบียนหมายเลขรถยนต์ นางศรีอยากจะขับรถคันใหม่นี้ไปอวดเพื่อนแต่เกรงว่าจะถูกตำรวจจับ จึงเอาแผ่นป้ายทะเบียนหมายเลขรถยนต์คันเก่าของตนที่ทางราชการออกให้มาติดที่รถยนต์คันใหม่ แล้วขับรถยนต์คันใหม่ นั้นไปตามถนน เช่นนี้นางศรีจะมีความผิด ตาม ป.อาญาฐานใดหรือไม่

คำตอบ แผ่นป้ายทะเบียนหมายเลขรถยนต์คันเก่าของนางศรี เป็นเอกสารราชที่แท้จริง ไม่ใช่เอกสารราชการปลอม นางศรีไม่มีความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอม (ฎ. 1141/2523)

คำถาม นายเชยมอบให้นายชอบซึ่งเป็นบุตรไปกู้เงินนายวอน โดยลงชื่อในหนังสือสัญญากู้ฐานะผู้กู้ แล้ว เมื่อนายชอบได้เงินกู้แล้วได้มอบหนังสือกู้ให้นายวอน หลังจากนายชอบกลับไปแล้วนายวอน เห็นหนังสือสัญญากู้นั้นไม่มีลายมือชื่อพยาน จึงให้นายวาดกับนางสาววิน ลงชื่อเป็นพยาน ต่อมานายเชยผิดนัดไม่ชำระเงินตามสัญญากู้ นายวอนจึงฟ้องเรียกเงินตามสัญญากู้นั้น โดยแนบหนังสือสัญญากู้ฉบับนั้นมาท้ายคำฟ้อง นายวอนและนายวาดกับนางสาววินเบิกความว่านายวาดกับนางสาววิน ลงชื่อเป็นพยานในตอนกู้เงินด้วย ดังนี้นาย วอน นายวาด และนางสาววินมีความผิดฐานใดบ้างหรือไม่

คำตอบ ความผิดฐานปลอมเอกสารต้องเป็นการกระทำที่น่าจะเกิดหรืออาจเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน กรณีตามปัญหา แม้สัญญากู้จะเป็นเอกสารสิทธิ และนายวอนเป็นคนจัดให้มีพยานลงลายมือชื่อในสัญญากู้ลับหลังนายชอบก็ตาม แต่สัญญากู้ที่ได้ทำกันได้ลงชื่อนายเชยผู้กู้ สัญญากู้ที่ไม่มีพยานลงลายมือชื่อนั้นมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว การที่นายวอนให้นายวาด กับนางสาววิน

ลงชื่อในสัญญากู้ที่สมบูรณ์ตามกฎหมายอยู่แล้วในภายหลัง แม้นายเชยจะไม่ทราบ จึงไม่น่าจะเกิดหรืออาจเกิดความเสียหายแก่นายเชยผู้กู้ หรือประชาชนการกระทำของนายวอนขาดองค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสาร เมื่อสัญญากู้สมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว การนำสัญญาไปใช้ยื่นฟ้องต่อศาลย่อมไม่มีความผิดฐานใช้หรืออ้างเอกสารสิทธิปลอมตาม ม. 268 และไม่มีความผิดฐานแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดี ตาม ม. 180 ทั้งไม่มีความผิดฐานเบิกความเท็จ ตาม ม. 177 เพราะความผิดฐานเบิกความเท็จตาม ม. 177 ถ้อยคำที่เบิกความเท็จจะต้องเป็นข้อสำคัญในคดี แต่ข้อที่นายวอนเบิกความไม่ใช่ข้อสำคัญในคดี นายวอนจึงไม่มีความผิดฐานใด ( ตาม ฎ. 1126/2505) นายวาดกับนางสาววินก็ไม่มีความผิดเช่นกัน

คำพิพากษาฎีกาที่ 1126/2505 ทำสัญญากู้เงินกันไว้โดยถูกต้องตามกฎหมาย แต่ไม่ได้ลงนามพยานในสัญญา ต่อมาผู้ให้กู้จึงให้ผู้อื่นลงนามเป็นพยานในท้ายสัญญาโดยผู้กู้มิได้รู้เห็นด้วย เมื่อสัญญาดังกล่าวมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย กรณีพยานลงนามภายหลังไม่น่าจะเกิดหรืออาจเกิดความเสียหายแก่โจทก์

คำถาม นายแจ่มและนายแจ๋วขับรถยนต์แข่งกันในถนนยามวิกาล ร้อยตำรวจเอกกล้าซึ่งตั้งด่านตรวจได้เรียกให้หยุดแล้วตรวจใบอนุญาตขับรถ นายแจ่มนำใบอนุญาตขับรถออกแสดง ปรากฎว่า ใบอนุญาตขับรถดังกล่าวเป็นสำเนาซึ่งนายแจ่มถ่ายมาจากต้นฉบับ ใบอนุญาตขับรถของตนที่ภาพถ่ายหลุดหาย นายแจ่มจึงนำภาพถ่ายของตนมาปิดทับในสำเนาใบอนุญาตขับรถ แล้วอัดกรอบพลาสติกขนาดเท่าใบอนุญาตขับรถที่แท้จริง ทั้งนี้เพื่อให้เจ้าพนักงานตำรวจและบุคคลทั่วไปหลงเชื่อว่าสำเนาภาพถ่ายใบอนุญาตขับรถดังกล่าวเป็นต้นฉบับใบอนุญาตขับรถที่ถูกต้องแท้จริงที่นายทะเบียนเป็นผู้จัดทำขึ้น ส่วนนายแจ๋วมีใบอนุญาตขับรถ แต่ปรากฏว่าแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์

ของนายแจ๋วไม่ใช่แผ่นป้ายทะเบียนที่แท้จริงที่ทางราชการออกให้ เนื่องจากแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ของนายแจ๋วที่ทางราชการออกให้ได้หลุดหาย นายแจ๋วจึงทำแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ใหม่ให้มีลักษณะ ขนาด ตัวหนังสือ และตัวเลขเหมือนกับแผ่นป้ายทะเบียนที่แท้จริง แล้วนำมาติดไว้กับรถยนต์ของตน ดังนี้ นายแจ่มและนายแจ๋วจะมีความผิดฐานใดหรือไม่

คำตอบ การที่นายแจ่มนำภาพถ่ายของตน มาปิดทับลงในสำเนาภาพถ่ายใบอนุญาตขับรถของตนเอง แม้จะกระทำไปเพื่อให้เจ้าพนักงานตำรวจและบุคคลทั่วหลงเชื่อว่าเป็นต้นฉบับเอกสารที่แท้จริง แต่เมื่อเป็นภาพถ่ายของนายแจ่มและเป็นสำเนาภาพถ่ายใบอนุญาตขับรถของนายแจ่มเอง การกระทำของนายแจ่มย่อมไม่ก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ แก่ผู้อื่นหรือประชาชน จึงไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร และแม้นายแจ่มจะได้นำเอกสารนั้นไปใช้ก็ไม่มีความผิดฐานใช้เอกสารปลอม (ฎ. 213/2539)

แม้นายแจ๋วจะทำแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ขึ้นใหม่ มีลักษณะ ขนาดตัวหนังสือ และตัวเลขเหมือนกับแผ่นป้ายทะเบียนที่แท้จริง แต่นายแจ๋วก็นำไปใช้ติดกับรถยนต์ของตนที่มีหมายเลขทะเบียนที่ถูกต้อง จึงไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน การกระทำของนายแจ๋วจึงไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมเช่นกัน (เทียบฎีกาที่ 2241/2523)

กลับไปหน้าเดิม                     หน้าถัดไป