Home
เพลงสถาบัน
ติวสอบ
สารจากประธานฯ
กระดานสนทนา
กิจกรรม
ลิงค์
มีฎีกามาบอก
กำหนดการ

หน้า 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๕๘๕/๒๕๔๓

 วิธีพิจารณาความอาญา นำ ป.วิ.พ. มาใช้ (มาตรา ๑๕)

วิธีพิจารณาความแพ่ง ห้ามฎีกาปัญหาข้อเท็จจริง อนุญาติให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง (มาตรา ๒๑๘, ๒๒๑)

ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยฟังเมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม และมีคำสั่งขยายระยะเวลายื่นฎีกาให้แก่จำเลยถึงวันที่ ๑๗ มีนาคม จำเลยยื่นฎีกาเมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม โดยไม่ได้ยื่นคำร้องขอใช้สิทธิตามมาตรา ๒๒๑ มาพร้อมด้วย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาจำเลยเมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ต่อมาวันที่ ๒o มีนาคม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิ่มเติมในฎีกาจำเลยเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว และให้จำเลยแถลงหรือยื่นคำร้องต่อศาลภายในวันที่ ๒๑ มีนาคมว่าประสงค์จะให้ผู้พิพากษาผู้มีอำนาจอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่ หากไม่ยื่นคำร้องในวันดังกล่าวก็ให้ถือว่าศาลมีคำสั่งไม่รับฎีกา การที่สาลชั้นต้นมีคำสั่งกำหนดวันให้จำเลยยื่นคำแถลงหรือยื่นคำร้องตามมาตรา ๒๒๑ เท่ากับเป็นการมีคำสั่งขยายระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณา ซึ่งจะกระทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษและศาลได้มีคำสั่งหรือคู่ความมีคำขอขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลานั้น เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๓ ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา ๑๕ เมื่อจำเลยไม่ได้ยื่นคำร้องขอใช้สิทธิตามมาตรา ๒๒๑ จนล่วงพ้นกำหนดยื่นฎีกาและไม่มีเหตุสุดวิสัยการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งกำหนดวันให้จำเลยดำเนินการดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายจำเลยไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษารับรองตามมาตรา ๒๒๑ เมื่อพ้นกำหนดยื่นฎีกา แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยได้ ดังนั้น คำสั่งของผู้พิพากษาที่รับรองให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนและคำสั่งศาลชั้นต้นที่รับฎีกาจำเลยในความผิดดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา ๒๑๘ วรรคหนึ่งและมาตรา ๒๒๑

-----------------------------------------

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒o๘๓/๒๕๔๓

 วิธีพิจารณาความแพ่ง ละเมิดอำนาจศาล (มาตรา ๓๑ (๑))

วิธพิจารณาความอาญา นำ ป.วิ.พ. มาใช้ (มาตรา ๑๕)

คำสั่งศาลที่ให้ลงโทษจำคุกจำเลยฐานละเมิดอำนาจศาลนั้น เป็นคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๒๘ (๑) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา ๑๕ ไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จำเลยจึงไม่ต้องขออนุญาตผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

คดีในชั้นไต่สวนของศาลชั้นต้น ผู้ถูกกล่าวหาได้ให้การรับสารภาพโดยไม่มีข้อต่อสู้เป็นอย่างอื่น คดีต้องฟังตามคำรับสารภาพของผู้ถูกกล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหามีเจตนาพกอาวุธปืนติดตัวมาในบริเวณศาล อันเป็นการประพฤติตัวไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล จึงมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามที่ถูกกล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาจะฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นอีกไม่ได้ เพราะไม่ใช่ข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น

----------------------------------------

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๙๖๑/๒๕๔๓

 วิธีพิจารณาความอาญา พิพากษาเกินคำขอ ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วยความสงบเรียบร้อย อำนาจศาลฎีกา (มาตรา ๑๙๒ วรรคหนึ่ง , ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบ ๒๒๕)

เจ้าพนักงานตำรวจไม่สามารถยึดอาวุธปืนที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดมาเป็นของกลาง และโจทก์มิได้มีคำขอให้ริบอาวุธปืนแต่อย่างใด และการที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ริบอาวุธปืนซึ่งมีไว้เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๓๒ จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙๒ วรรคหนึ่ง และศาลอุทธรณ์มิได้แก้ไข ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๒๕

-----------------------------------------

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๒๙๔/๒๕๔๓

 แพ่ง สัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุด (มาตรา ๘๕๙)

วิธีพิจารณาความแพ่ง อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา (มาตรา ๒๒๓ ทวิ วรรคหนึ่ง)

โจทก์ขออนุญาตยื่นอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาซึ่งศาลชั้นต้นจะต้องพิจารณาว่าเป็นอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายและสั่งอนุญาตให้ผู้อุทธรณ์ยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาได้หรือไม่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๒๓ ทวิ วรรคหนึ่ง แต่ศาลชั้นต้นแต่ในคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาของโจทก์แต่เพียงว่า สำเนาให้จำเลยทั้งสองพร้อมอุทธรณ์ว่าจำเลยทั้งสองจะคัดค้านหรือไม่และสั่งอุทธรณ์ว่าโจทก์ยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดรับอุทธรณ์ของโจทก์ ดังนี้ แม้จะมิได้สั่งอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา แต่การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์พอแปลได้ว่าศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๒๓ ทวิ วรรคหนึ่งแล้ว

แม้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระบุว่า กำหนดชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนและหักถอนบัญชีทุกวันสิ้นสุดของเดือน หากจำเลยที่ ๑ ผิดนัดงวดใดยอมให้โจทก์นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระมาทบเป็นเงินต้นได้ และสัญญาไม่มีกำหนดสิ้นสุดใช้บังคับจนกว่าจะมีการบอกเลิกสัญญาหรือมีการหักทอนบัญชีและเรียกให้ชำระหนี้คงเหลือ แต่เมื่อจำเลยที่ ๑ ถอนเงินจากบัญชีเมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๓๖ แล้วไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชีอีกเลย คงมีแต่การหักทอนบัญชีคิดดอกเบี้ยค้างชำระในแต่ละเดือนเท่านั้น แสดงว่าโจทก์และจำเลยที่ ๑ ไม่ประสงค์ให้มีการสะพัดทางบัญชีระหว่างกันอีกต่อไป สัญญาจึงเลิกกันในวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๓๖ หาได้สิ้นสุดในวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๓๙ อันเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลาที่โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ไม่

---------------------------------------

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๔๓/๒๕๔๓

 วิธีพิจารณาความแพ่ง โต้แย้งสิทธิ ฟ้องแย้ง ( มาตรา ๕๕, ๑๗๗ วรรคสาม)

ฟ้องแย้งนอกจากจะต้องเป็นเรื่องของฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้แล้วต้องเป็นคำฟ้องที่มีสภาพแห่งข้อหาว่าโจทก์โต้แย้งสิทธิของจำเลยในส่วนที่เกี่ยวกับฟ้องเดิมอย่างไร ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๕๕ ด้วย ซึ่งจำเลยให้การว่าเอกสารตามฟ้องแย้งเป็นเอกสารปลอมที่จำเลยลงลายมือชื่อไว้แล้ว โจทก์หรือตัวแทนโจทก์ร่วมกันกรอกข้อความโดยจำเลยไม่ได้ให้ความยินยอม หากคดีฟังได้ดังที่จำเลยให้การไว้ ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าจำเลยทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้ยืมเงินตามคำฟ้องของโจทก์ย่อมรับฟังไม่ได้ ศาลย่อมพิพากษายกฟ้อง เอกสารดังกล่าวก็ไม่อาจนำไปใช้อ้างเป็นประโยชน์ต่อโจทก์หรือบุคคลภายนอกได้อยู่แล้ว หาจำเป็นที่จำเลยต้องฟ้องแย้งเพื่อให้โจทก์คืนหรือทำลายเอกสารดังกล่าวไม่ ที่จำเลยอ้างว่าเมื่อศาลพิพากษายกฟ้อง จำเลยไม่อาจเรียกเอกสารดังกล่าวคืนจากบุคคลภายนอกได้ จึงเกิดข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่แล้ว ชอบที่จะฟ้องแย้งได้นั้น การที่จำเลยจะเรียกเอกสารดังกล่าวคืนจากบุคคลภายนอกได้หรือไม่ ไม่เกี่ยวกับข้อโต้แย้งอันเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ในคดีนั้น ฟ้องแย้งของจำเลยจึงเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมพอที่จะรวมพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๗๗ วรรคสาม

-----------------------------------------

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๙๙๔/๒๕๔๓

 วิธีพิจารณาความแพ่ง กระบวนการพิจารณาผิดระเบียบ ประนีประนอมยอมความ (มาตรา ๒๗, ๑๓๘)

การประนีประนอมยอมความที่ศาลจะพิพากษาตามยอมได้ ศาลต้องสั่งรับฟ้องคดีนั้นแล้ว

โจทก์ฟ้องพร้อมยื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ไต่สวนคำร้อง ส่วนคำฟ้องรอไว้สั่งเมื่อไต่สวนคำร้องขออนาถาเสร็จแล้วระหว่างไต่สวนโจทก์จำเลยทั้งหกตกลงกันและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม คำพิพากษา คำบังคับและหมายบังคับคดีที่ออกตามคำพิพากษาตามยอมจึงไม่ชอบ เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่มีอำนาจยึดทรัพย์สินของจำเลย

--------------------------------------

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๔๕/๒๕๔๓

 วิธีพิจารณาความแพ่ง ถอนการบังคับคดี (มาตรา ๒๙๕)

ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๙๕ เจ้าพนักงานบังคับคดีจะถอนการบังคับคดีได้ต่อเมื่อลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้วางเงินต่อศาลหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นจำนวนพอชำระหนี้ตามคำพิพากษา แต่จำเลยทั้งสองมอบให้ผู้อื่นนำสมุดเงินฝากของบุคคลอื่นมาวางเพื่อประกันการชำระหนี้ พร้อมคำร้องของจำเลยทั้งสองที่ขอให้งดการขายทอดตลาดไปยื่นต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี กรณีจึงมิใช่เป็นการวางเงินชำระหนี้ตามคำพิพากษาต่อเจ้าพนักงนบังคับคดีไม่เข้าหลักเกณฑ์ของบทกฎหมายดังกล่าว เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่อาจงดการขายทอดตลาดได้

แม้ที่ดินของจำเลยที่ ๑ จะอยู่ในย่านธุรกิจติดทางด่วนก็ตาม แต่เนื้อที่ดินมีจำนวนเพียง ๗๒ ตารางวา ไม่น่าจะนำไปดำเนินการเพื่อให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างมากมายอันจะทำให้ที่ดินมีราคาสูงมากได้ ราคาที่ดินดังกล่าวจึงไม่น่าจะสูงกว่าราคาประเมินมากนัก การซื้อขายที่ดินของการเคหะแห่งชาติก็มิได้กระทำในช่วงเดียวกันกับการขายทอดตลาดครั้งนี้ ทั้งมีเงื่อนไขในการชำระเงินไม่เหมือนกัน ไม่อาจนำมาเปรียบเทียบได้ เมื่อไม่มีการปรากฏว่ามีการสมรู้ร่วมกันให้ราคาต่ำหรือไม่สุจริตแต่อย่างใด การขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ ๑ จึงชอบด้วยกฎหมาย

------------------------------------

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๕๒๗/๒๕๔๓

 วิธีพิจารณาความแพ่ง ผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี บังคับคดีฝ่าฝืนกฎหมาย (มาตรา ๒๘o, ๒๙๖)

ป.วิ.พ. มาตรา ๒๘o เป็นเพียงบทสันนิษฐานเพื่อประโยชน์แห่งบทบัญญัติในภาค ๔ ว่าด้วยวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาและการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ที่ให้ถือว่าบุคคลตามที่ระบุไว้เป็นผู้มีส่วนได้เสียในวิธีบังคับคดีเท่านั้น มิได้หมายความว่าบุคคลอื่นนอกจากที่ระบุไว้แล้วจะเป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ได้ ผู้ร้องที่ ๒ เป็นผู้เข้าสู้ราคาในการขายทอดตลาดอ้างว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดโดยมิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่แจ้งแก่ผู้เข้าสู้ราคา ทำให้ผู้ร้องที่ ๒ ไม่มีโอกาสเสนอราคาเพิ่มสูงขึ้น เป็นกรณีที่ผู้ร้องที่ ๒ อ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งและเป็นเหตุโดยตรงให้ผู้ร้องที่ ๒ ต้องเสียหายโดยการฝ่าฝืนนั้น จึงเป็นบุคคลภายนอกที่มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีซึ่งต้องเสียหายโดยการฝ่าฝืนนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๙๖ วรรคสอง มีสิทธิขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด

ข้อโต้แย้งว่าราคาทรัพย์สินที่ขายทอดตลาดต่ำหรือไม่ เป็นข้อโต้แย้งหรือส่วนได้เสียของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลตามที่ระบุไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา ๒๘o โดยตรง ผู้ร้องที่ ๒ ซึ่งเป็นเพียงผู้เข้าสู้ราคา ไม่มีสิทธิกล่าวอ้างในประเด็นดังกล่าว

---------------------------------------

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓oo๓–๓oo๔/๒๕๔๓

 วิธีพิจารณาความอาญา บรรยายฟ้อง ปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย เหตุในลักษณะคดี นำวิธีพิจารณาในศาลอุทธรณ์มาใช้บังคับ (มาตรา ๑๕๘, ๑๙๕, ๒๑๓, ๒๒๕)

ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยที่ ๑ ยกขึ้นอ้างได้แม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลล่างทั้งสองตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๒๕ โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันใช้เก้าอี้และใช้ของแข็งตีทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมและผู้เสียหายที่ ๒ ถูกบริเวณร่างกายทำให้ได้รับบาดเจ็บอย่างไรบ้าง เช่นนี้ เพียงพอที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว เป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๕๘ (๕) ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม

บทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา ๒๑๓ ต้องเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาในคดีนี้จะพิพากษายกฟ้องจำเลยคนหนึ่งซึ่งอุทธรณ์หรือฎีกาเพียงผู้เดียวใช้อำนาจพิพากษาไปถึงจำเลยอื่นที่ไม่ได้อุทธรณ์หรือฎีกามิให้ต้องถูกรับโทษเช่นเดียวกับจำเลยผู้อุทธรณ์หรือฎีกา แต่การที่ผู้ร่วมกระทำผิดถูกแยกฟ้องเป็นหลายคดี การที่พยานหลักฐานโจทก์เพียงพอจะรับฟังลงโทษจำเลยคนใดที่ร่วมกระทำผิดได้หรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำเลยแต่ละคนเป็นการเฉพาะตัวเป็นรายๆไปเฉพาะคดีนั้นๆซึ่งพยานหลักฐานของโจทก์อาจพาดพิงถึงจำเลยแต่ละคดีมากน้อยต่างกันได้ คดีที่พยานโจทก์มีน้ำหนักเพียงพอก็ลงโทษไป คดีที่พยานโจทก์มีน้ำหนักเบาบางก็ต้องยกฟ้องตามข้อเท็จจริงที่ปรากฎจากทางนำสืบเป็นรายคดี

--------------------------------------

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๙๘๗/๒๕๔๓

 วิธีพิจารณาความอาญา โจทก์สืบสมแต่อ้างฐานความผิดผิด พิพากษาเพิ่มเติมโทษ (มาตรา ๑๙๒ วรรคห้า, ๒๑๒)

โจทก์อุทธรณ์เพียงว่าไม่ควรรอลงอาญาแก่จำเลยทั้งสอง ดังนี้ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ จะมีอำนาจหยิบยกปัญหาที่ศาลชั้นต้นปรับลงโทษไม่ถูกต้องขึ้นวินิจฉัยเอง อันเป็นการปรับบทกฎหมาย

ที่ถูกต้องลงโทษแก่จำเลยทั้งสองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙๒ วรรคห้า แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ กำหนดโทษที่ลงแก่จำเลยทั้งสองเสียใหม่ด้วย สูงกว่าโทษที่ศาลชั้นต้นลงแก่จำเลยทั้งสอง โดยโจทก์มิได้อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองให้หนักขึ้น เป็นการเพิ่มเติมโทษซึ่งต้องห้ามตาม

ป.วิ.อ. มาตรา ๒๑๒

---------------------------------------------

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๔๓๕/๒๕๔๓

 วิธีพิจารณาความอาญา หน้าที่นำสืบ (มาตรา ๑๗๔)

ในคดีความผิดฐานรับของโจร โจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบให้เห็นว่า จำเลยรับรถจักรยานยนต์ของกลางไว้โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ไม่ใช่ว่าเมื่อจำเลยเป็นผู้ครอบครองรถจักรยานยนต์ของกลางนั้นจำเลยก็ต้องนำสืบว่าตนไม่รู้ว่าเป็นของที่ได้มาจากการกระทำความผิด

---------------------------------

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓o๓๓/๒๕๔๓

 วิธีพิจารณาความอาญา ชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน (มาตร ๒๒๗)

ผู้จับกุมเห็นสายลับขับรถจักรยานยนต์ไปจอดที่หน้าร้านขายแตงโมของจำเลยแล้วสายลับเข้าไปพูดกับจำเลย จำเลยนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของสายลับไปทางบ้านของจำเลย อีก ๑o นาทีต่อมา สายลับขับรถจักรยานยนต์กลับมาส่งจำเลยที่ร้านขายแตงโม แล้วสายลับนำเมทแอมเฟตามีน ๓ เม็ดมามอบให้ผู้จับกุมโดยบอกว่า จำเลยพาสายลับไปบ้านจำเลยพบ ส. จำเลยนำเมทแอมเฟตามีน ๓ เม็ดจาก ส. ส่งให้สายลับ สายลับส่งธนบัตรให้ ส. คำเบิกความของผู้จับกุมไม่ได้ความว่าได้ยินการพูดจาระหว่างสายลับกับจำเลย ทั้งไม่รู้เห็นเหตุการณ์ขณะที่สายลับอ้างจำเลยเอาเมทแอมเฟตามีนจาก ส. ส่งมอบให้สายลับ แล้วสายรับส่งธนบัตรให้ ส. โดยโจทก์ไม่ได้นำสายลับผู้รู้เห็นเหตุการณ์ดังกล่าวมาเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงในฐานะประจักษ์พยานต่อศาล ลำพังคำเบิกความของผู้จับกุมที่ฟังมาจากสายลับจึงเป็นเพียงพยานบอกเล่า ฟังได้แต่เพียงว่า จำเลยนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่สายลับขับออกไปจากร้านขายแตงโมของจำเลยไปนานประมาณ ๑o นาที สายลับก็ขับรถจักรยานยนต์มาส่งจำเลยลงที่หน้าร้านขายแตงโมของจำเลยเท่านั้น โดยในชั้นจับกุมและสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธตลอดมา ทั้งการตรวจค้นบ้านจำเลยก็ไม่พบเมทแอมเฟตามีนแต่อย่างใด จึงไม่อาจรับฟังว่าการกระทำของจำเลยเป็นการสนับสนุนหรือให้ความช่วยเหลือ ส. ให้กระทำผิดมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายดังฟ้อง

------------------------------------

กลับไปหน้า     1       2