Home
เพลงสถาบัน
ติวสอบ
สารจากประธานฯ
กระดานสนทนา
กิจกรรม
ลิงค์
มีฎีกามาบอก
กำหนดการ

หน้า 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๒๕๒/๒๕๔๓

อาญา แจ้งความเท็จ หมิ่นประมาท (มาตรา ๑๓๗, ๓๒๖)

วิธีพิจารณาความอาญา คำร้องทุกข์ (มาตรา ๒ (๗))

จำเลยแจ้งความแก่ร้อยตำรวจโท อ. เพื่อเป็นหลักฐาน หากจะมีข้อความบางส่วนเป็นเท็จหรือผิดความจริงไปบ้าง ก็ยังไม่เป็นเหตุที่จะทำให้ร้อยตำรวจโท อ. ต้องทำการสอบสวน เนื่องจากไม่เป็นคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒ (๗) เมื่อจำเลยไม่มีเจตนาจะมอบเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่โจทก์ การแจ้งความของจำเลยจึงย่อมไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์อันจะเป็นเหตุให้โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีเพื่อเอาความผิดต่อจำเลยในความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานได้

คำว่า “ใส่ความ” ตาม ป.อ. มาตรา ๓๒๖ ไม่ได้นิยามศัพท์ไว้ว่ามีความหมายว่าอย่างไร แต่ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานอธิบายว่า หมายถึงพูดหาเหตุร้าย กล่าวหาเรื่องร้ายให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย โจทก์มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลย ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่จะกล่าวหาเรื่องร้ายประจานโจทก์ด้วยถ้อยคำหมิ่นประมาทโจทก์ เมื่อจำเลยแจ้งความเพื่อเป็นหลักฐานเท่านั้น มิมีเจตนาให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ จึงเห็นได้ว่าจำเลยมุ่งประสงค์ให้โจทก์ถูกดูหมิ่นเกลียดชังและทำลายชื่อเสียงของโจทก์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ ทั้งข้อความอันเป็นหมิ่นประมาทโจทก์เป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัวไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน แม้เรื่องที่กล่าวหาจะเป็นความจริง จำเลยก็ไม่อาจยกเอาเหตุกระทำเพื่อป้องกันตนหรือป้องกันส่วนตัวได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมขึ้นปฏิเสธความผิดได้

----------------------------------------------------

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๕๔/๒๕๔๓

 อาญา ตัวการ พรากผู้เยาว์ (มาตรา ๘๓, ๓๑๗)

วิธีพิจารณาความอาญา คำพิพากษาหรือคำสั่ง ข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย นำวิธี

พิจารณาในศาลอุทธรณ์มาใช้ในชั้นฎีกา (มาตรา ๑๘๖ (๙), ๑๙๕ วรรคสอง, ๒๒๕)

ผู้เสียหายหลบหนีออกจากบ้านมาอยู่กับจำเลยโดยไม่ได้รับอนุญาตจากบิดา แต่ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายมีอายุเพียง ๑๓ ปีเศษ อยู่ในอำนาจปกครองของบิดา จำเลยได้พาผู้เสียหายไปตามห้องอาหารต่างๆ โดยบิดาผู้เสียหายมิได้ยินยอมด้วยเป็นการล่วงล้ำอำนาจปกครองของบิดาผู้เสียหาย แม้ผู้เสียหายจะสมัครใจยินยอมไปกับจำเลยก็ถือไม่ได้ว่าได้รับความยินยอมเห็นชอบจากบิดาการกระทำของจำเลยจึงถือเป็นการพรากผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กอายุไม่เกิน ๑๕ ปี ไปเสียจากบิดาแล้ว ทั้งการเดินโชว์ชุดว่ายน้ำของเด็กหรือการต้องยอมให้แขกผู้ชายที่มาเที่ยวจับหน้าอกในห้องอาหารต่างๆถือได้ว่าเป็นการพรากเด็กไปโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร

คำฟ้องโจทก์มีคำขอให้ริบกาวสังเคราะห์ของกลาง แต่ศาลล่างทั้งสองยังมิได้มีคำวินิจฉัยในเรื่องของกลาง จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา ๑๘๖(๙) แม้โจทก์จะไม่อุทธรณ์ฎีกา แต่ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบ ๒๒๕

-------------------------------------------

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๗๗๓/๒๕๔๓

 อาญา พรากผู้เยาว์ (มาตรา ๓๑๗)

ผู้เสียหายเป็นเด็กมีอายุ ๘ ปี ๖ เดือน ได้ไปที่วัดที่จำเลยจำพรรษาอยู่ขณะที่ผู้เสียหายกำลังจะกลับบ้าน จำเลยได้จูงมือผู้เสียหายและเด็กหญิง ก. ชวนไปรับประทานขนมที่กุฏิของจำเลย การที่จำเลยจูงมือผู้เสียหายซึ่งไปที่วัดช่วยพระทำงานอยู่ในบริเวณวัดไปที่กุฏิของจำเลยซึ่งอยู่ในวัดนั่นเอง ยังไม่ถือว่าเป็นการพรากผู้เสียหายไปจากความปกครองดูแลของบิดามารดา การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานพรากเด็กตาม ป.อ. มาตรา ๓๑๗ วรรคสาม

-------------------------------------------------------

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๒o๘/๒๕๔๓

 อาญา ตัวการ ลักทรัพย์โดยมีเหตุฉกรรจ์ (มาตรา ๘๓, ๓๓๕)

เหรียญกษาปณ์ที่ตกลงไปในช่องคืนเหรียญเนื่องจากไม่สามารถโทรศัพท์ติดต่อไปยังสายปลายทางได้นั้น ยังเป็นของผู้ใช้โทรศัพท์สาธารณะอยู่ การที่นาย พ. นำก้อนกระดาษไปอุดไว้ในช่องคืนเหรียญในตำแหน่งที่อยู่เหนือฝาปิดขึ้นไปเป็นเพียงการขัดขวางไม่ให้เหรียญกษาปณ์ตกกลับลงไปถึงมือผู้ใช้โทรศัพท์สาธารณะที่รออยู่ โดยเหรียญกษาปณ์ดังกล่าวยังคงติดค้างอยู่ในเครื่องโทรศัพท์สาธารณะในลักษณะที่ง่ายต่อการมาล้วงเอาไปในภายหลัง ฉะนั้น ขณะที่เหรียญกษาปณ์ตกลงไปค้างอยู่บนก้อนกระดาษในช่องคืนเหรียญ ความผิดฐานลักทรัพย์ยังไม่สำเร็จเพราะนาย พ. ยังไม่ได้เอาเหรียญกษาปณ์นั้นไป ความครอบครองยังอยู่กับเจ้าของเหรียญกษาปณ์ที่รอรับเหรียญกษาปณ์นั้นอยู่ และการที่เจ้าของเหรียญกษาปณ์ออกจากตู้โทรศัพท์สาธารณะไม่ได้หมายความว่ามีเจตนาสละทิ้งเหรียญกษาปณ์ที่ติดค้างเพราะการสละกรรมสิทธิ์จะต้องกรทำด้วยความสมัครใจมิใช่อยู่ในลักษณะที่ถูกขัดขวางการได้ทรัพย์คืน

จำเลยร่วมมือกับนาย พ. เข้าไปนำเหรียญกษาปณ์ที่ติดค้างอยู่ โดยจำเลยทำทีเป็นผู้ใช้โทรศัพท์พูดจากลบเกลื่อนเพื่อไม่ให้ผู้อื่นสงสัย ระหว่างนั้นให้นาย พ. เขี่ยกระดาษที่อุดไว้จนเหรียญกษาปณ์ตกลงไปสู่มือของจำเลยและนาย พ. ที่รอรับอยู่เป็นการร่วมมือกันเอาทรัพย์ไปจากความครอบครองของเจ้าของทรัพย์ที่ยังมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้นอยู่ จึงมีความผิดฐานลักทรัพย์ของผู้อื่นโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป

---------------------------------------------

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๑๖๑/๒๕๔๓

 อาญา กรรโชกทรัพย์ ชิงทรัพย์ (มาตรา ๓๓๗, ๓๓๙)

จำเลยจับแขนผู้เสียหายพูดว่า มาทางนี้เดี๋ยว เอาเงินมา ผู้เสียหายตอบว่าไม่มี จำเลยก็ชักอาวุธมีดคัทเตอร์มาจี้ผู้เสียหาย ผู้เสียหายวิ่งหลุดไปหา ส. จำเลยก็ตามไปพร้อมกับพูดว่า จะหนีไปไหน ผู้เสียหายกลัวจึงบอก ส. ให้มอบเงินแก่จำเลยไป แสดงว่าจำเลยขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายด้วยการทำร้ายร่างกาย และให้ผู้เสียหายส่งเงินให้จำเลยในขณะนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ ไม่ใช่กรรโชก เนื่องจากมิใช่เป็นการขู่ว่าจะทำร้ายผู้เสียหายและให้ส่งเงินให้แก่จำเลยในภายหลัง

---------------------------------------------------

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๘๔๕/๒๕๔๓

 อาญา ลักทรัพย์ ลักทรัพย์โดยมีเหตุฉกรรจ์ (มาตรา ๓๓๔, ๓๓๕ (๘))

วิธีพิจารณาความอาญา ชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน (มาตรา ๒๒๗)

จ. ไม่เคยรู้จักผู้เสียหายและจำเลยมาก่อน ทุกครั้งที่ จ. ได้พบเห็นจำเลยก็ได้บอกกล่าวยืนยันตลอดมาว่า จำเลยเป็นคนร้ายลักกระเป๋าสตางค์ของผู้เสียหาย จ. กับจำเลยไม่เคยมีเรื่องโกรธเคืองกันมาก่อน จึงไม่มีเหตุที่จะเบิกความใส่ร้ายจำเลยโดยปราศจากความเป็นจริง จ. เห็นการกระทำของจำเลยหลายครั้งหลายหนรวมทั้งที่มีอากัปกิริยาเป็นพิรุธ ซึ่งเชื่อว่าจดจำจำเลยได้แม่นยำไม่ผิดพลาด พยานหลักฐานโจทก์มีเหตุผลและน้ำหนักให้รับฟัง คำเบิกความของพยานโจทก์ระหว่างตัวผู้เสียหายกับ จ. ที่เบิกความแตกต่างกันไปบ้าง ถือว่าเป็นข้อแตกต่างในส่วนที่เป็นสิ่งประกอบเล็กน้อย แต่มิใช่เรื่องอันเป็นข้อสำคัญเกี่ยวกับการบ่งบอกหรือบ่งชี้ถึงลักษณะของอาการจำเลยโดยตรงหรือขัดกันระหว่างประจักษ์พยานโจทก์สองปากที่รู้เห็นรูปลักษณ์หรือวิธีการกระทำผิดของจำเลยที่แตกต่างกันหรือขัดกัน จึงไม่ถือเป็นข้อมีพิรุธอันน่าสงสัยและไม่ทำให้น้ำหนักของพยานหลักฐานโจทก์ที่รับฟังได้ต้องลดน้อยลง

โรงอาหารของมหาวิทยาลัยที่ซึ่งมีนักศึกษาหรือประชาชนอื่นใด ผู้ที่เข้ามาติดต่อราชการกับมหาวิทยาลัยอันมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปรับประทานอาหารได้เป็นที่ซึ่งอยู่ในบริเวณรั้วของมหาวิทยาลัย แต่เป็นบรเวณนอกอาคารเรียนหรือนอกสถานที่ตั้งอันเป็นที่ปฏิบัติงานของราชการหรือข้าราชการตามปกติ การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๓๓๕ (๘) คงมีความผิดตามมาตรา ๓๓๔

-------------------------------------------

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓oo๕/๒๕๔๓

 อาญา ลักทรัพย์โดยมีเหตุฉกรรจ์ (มาตรา ๓๓๕(๓))

วิธีพิจารณาความอาญา ชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน (มาตรา ๒๒๗)

ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวัน ส. ประจักษ์พยานโจทก์เห็นจำเลยในที่เกิดเหตุสองครั้ง และยังติดตามจับกุมจำเลยได้พร้อมของกลาง จำเลยให้การรับกับผู้เสียหายว่าลักเครื่องปรับเสียงวิทยุของผู้เสียหายไปเนื่องจากภริยาของจำเลยตั้งครรภ์ ไม่มีเงินจ่ายค่าคลอดบุตร ไม่ให้เอาเรื่องจำเลย จำเลยยอมชดใช้ค่าเสียหายให้ทั้งหมด และยังรับสารภาพกับสิบตำรวจตรี จ. ผู้จับกุมทันทีที่ถูกจับกุม พยานโจทก์ทั้งสามปากเบิกความสอดคล้องต้องกัน มีเหตุผลน่าเชื่อถือและไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ไม่มีเหตุสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำจำเลย พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมามีน้ำหนักมั่นคง ฟังได้ว่าจำเลยลักทรัพย์เครื่องปรับเสียงวิทยุของผู้เสียหายไป

แม้รถกระบะผู้เสียหายไม่ปรากฏร่องรอยการถูกงัดแงะ ซึ่งฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้ทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์ก็ตาม แต่การที่จำเลยเข้าไปในรถกระบะของผู้เสียหายโดยผ่านทางประตูเข้าไป ถือว่าเป็นการผ่านสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์เข้าไปด้วยประการใดๆแล้ว จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๓๓๕ (๓)

-----------------------------------------

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๙๑๕/๒๕๔๓

 อาญา ชิงทรัพย์ (มาตรา ๓๓๙)

จำเลยทั้งสองว่าจ้างให้ผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์ไปส่ง ระหว่างทางมีการบังคับผู้เสียหายเข้าไปในกระท่อมแต่ผู้เสียหายไม่ยอม จำเลยที่ ๒ เอามือรัดคอผู้เสียหายและดึงเอากุญแจมาส่งให้จำเลยที่ ๑ ซึ่งนั่งคร่อมรถจักรยานยนต์อยู่เมื่อมีคนขับรถจักรยานยนต์รับจ้างเข้ามาช่วย จำเลยทั้งสองก็เอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายขับหลบหนีไป ก่อนจำเลยทั้งสองขับรถจักรยานยนต์หลบหนีไปมีจำเลยคนหนึ่งพูดว่าให้ผู้เสียหายไปเอารถจักรยานยนต์คืนที่โรงเรียนวัด บ. แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองเพียงต้องการนำรถจักรยานยนต์คันที่ผู้เสียหายขับไปใช้ชั่วคราวโดยตั้งใจจะคืนให้ภายหลัง มิได้กระทำเพื่อเป็นการตัดกรรมสิทธิ์ตลอดไปจึงมิใช่เป็นการกระทำที่ถือว่าเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไป อันจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ จำเลยทั้งสองไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์

--------------------------------------------

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖o๒/๒๕๔๓

 อาญา ใช้กำลังประทุษร้าย ลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ (มาตรา ๑ (๖), ๓๓๔,๓๓๙)

การที่จำเลยที่ ๑ ยื้อแย่งไม้กวาดจากผู้เสียหายที่ ๒ และเหวี่ยงกันไปมาโดยที่จำเลยที่ ๑ ทำหน้าตาและส่งเสียงข่มขู่จะทำร้ายผู้เสียหายที่ ๒ และการเหวี่ยงไปมาขณะแย่งไม้กวาด เป็นเหตุให้ข้อมือของผู้เสียหายที่ ๒ ได้รับบาดเจ็บถือได้ว่าเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายอันเป็นกรณีที่ต่อเนื่องกับการที่จำเลยทั้งสองเข้าไปลักทรพย์ในบ้านของผู้เสียหาย ทั้งนี้ เพื่อการสะดวกแก่การพาทรัพย์นั้นไปและเพื่อให้พ้นจากการจับกุม จึงมีความผิดฐานชิงทรัพย์

----------------------------------------------------

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๖๒๙/๒๕๔๓

 วิธีพิจารณาความแพ่ง ข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณา ฎีกา (มาตรา ๑๔๒ (๕),๒๔๓ (๒), ๒๔๗)

ในวันนัดสืบพยานโจทก์ ทนายจำเลยแถลงรับว่าเป็นหนี้โจทก์จริงตามฟ้องคู่ความประสงค์จะทำสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่ขอเลื่อนไปเจรจาในรายละเอียดอีกครั้ง การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนไปทำสัญญาประนีประนอมหรือฟังคำพิพากษาก็เพราะเห็นว่าถ้าคู่ความไม่ทำสัญยาประนีประนอมยอมความก็พิพากษาคดีไปได้โดยไม่ต้องมีการสืบพยาน วันที่เลื่อนมาจึงมิใช่วันนัดสืบพยานโจทก์ เมื่อทนายจำเลยไม่มาศาล แต่ศาลชั้นต้นกำหนดเอาเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์ในวันนั้นเอง แล้วมีคำสั่งให้จำเลยขาดนัดพิจารณาโดยจำเลยไม่ทราบล่วงหน้า เป็นการพิจารณาโดยขาดนัดที่ไม่ชอบและเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นโดยให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่ไม่ชอบนั้นได้

-------------------------------------------------

กลับไปหน้าเดิม           หน้าถัดไป