Home
เพลงสถาบัน
ติวสอบ
สารจากประธานฯ
กระดานสนทนา
กิจกรรม
ลิงค์
มีฎีกามาบอก
กำหนดการ

 

คำพิพากษาฎีกาเกี่ยวกับพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานที่น่าสนใจ (ปี ๔๓-๔๕)

  • เรื่องคำนิยาม “ลูกจ้าง”

ฎ.๒๔๑๗/๔๔ โจ เป็นผู้ถือหุ้นและประธานกรรมการของบริษัทราม ๑๗ เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดรองจากประธานกิตติมศักดิ์ โจไม่อยู่ภายใต้ข้อบังคับในการทำงานของบริษัทราม ๑๗ โจจึงไม่ใช่ลูกจ้าง

  • เรื่องคำนิยาม “ค่าจ้าง”

ฎ.๔๕๗๓ -๕๒๒๘/๔๔ เงินโบนัส เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นรางวัลในการปฏิบัติงานเท่านั้น จึงไม่ใช่เงินที่นายจ้างจ่ายเป็นการตอบแทนการทำงานตามสัญญาจ้าง เงินโบนัสจึงไม่ใช่ค่าจ้าง

ฎ.๘๗๕/๔๔ ค่าน้ำมันรถที่บริษัทราม ๑๗จ่าให้แก่หมี ในชื่อค่าครองชีพ แม้จะไม่เรียกว่าค่าจ้าง แต่ก็มิใช่สาระสำคัญที่จะถือว่าเป็นค่าจ้างหรือไม่ เมื่อเป็นเงินที่บริษัทราม ๑๗จ่ายให้แก่ หมี เป็นประจำจำนวนแน่นอนอันเป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงาน ดังนั้นค่าน้ำมันรถจึงเป็นค่าจ้าง

ฎ.๑๖๘๔/๔๔ เงินค่าตรวจรักษาคนไข้ที่แพทย์ได้รับเป็นเงินที่โจทก์จ่ายให้ตามข้อตกลงตามสัญญาจ้างมีลักษณะเป็นเงินที่คนไข้จ่ายให้แก่แพทย์ที่ตรวจโดยโจทก์รับไว้แทนแล้วจ่ายคืนให้แก่แพทย์ในภายหลังโดยหักเงินไว้ส่วนหนึ่งจึงไม่ใช่เงินของนายจ้างที่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงาน จึงไม่ใช่ค่าจ้าง

( หมายเหตุ กรณีนี้เงินดังกล่าวได้เข้าไปสู่ระบบบัญชีของโจทก์แล้ว(เข้ากระเป๋าแล้ว) มิใช่เงินที่โจทก์เรียกเก็บต่างหากและแยกส่งให้แก่จำเลยโดยตรง ทั้งเมื่อโจทก์เรียกเก็บจากคนไข้แล้วก็มิได้จ่ายให้จำเลยทั้งหมดเงินที่โจทก์ได้รับจึงไม่ใช่เงินของคนไข้อีกต่อไป แต่เป็นเงินของนายจ้างและน่าจะเป็นค่าจ้าง )

  • เรื่องการเรียกเงินประกัน ม.๑๐

ฎ.๖๖๘/๔๔ เดชเป็นพนักงานทำความสะอาด ไม่ใช่งานที่เกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินที่นายจ้างจะเรียกเงินประกันการทำงานหรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานได้ ตามมาตรา ๑๐

  • เรื่องการทำงานล่วงเวลา ม.๒๔

ฎ.๒๙๘๕ - ๒๙๘๖/๔๓ งานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไปนั้นคือ งานที่ลูกจ้างทำอยู่ในเวลาทำงานปกติมีลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำต่อเนื่องกันไปจนกว่างานจะเสร็จถ้าหยุดก่อนงานที่ทำจะเสร็จ งานที่ทำนั้นจะเสียหาย ส่วนงานฉุกเฉินคือ งานที่เกิดในทันทีโดยไม่สามารถคาดหมายล่วงหน้าได้และงานนั้นต้องทำให้เสร็จทันทีมิฉะนั้นงานจะเสียหาย เมื่องานที่บอลได้รับมอบหมายในเวลาทำงานปกติเสร็จสิ้นแล้วแม้ไม่ทำล่วงเวลาต่อก็ไม่ทำให้งานที่ทำไว้เดิมเสียหายแต่อย่างใดและการที่บริษัทราม๑๗ได้รับคำสั่งซื้อปลาสวรรค์จากลูกค้าเพิ่มมากขึ้นเท่าตัวก็มิใช่งานที่เกิดขึ้นทันทีโดยไม่สามารถคาด

หมายได้ จึงไม่ใช่งานฉุกเฉิน

ฎ.๔๑๒๑/๔๓ การที่นายจ้างจะมีคำสั่งให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้หรือไม่เพียงใด ต้องอยู่ภายใต้บังคับของพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน คู่กรณีจะทำให้แตกต่างไปจากก.ม.นี้ ซึ่งเป็นก.ม.ที่เกี่ยวกับความสงบฯหาได้ไม่ หากนายจ้างมีความประสงค์ให้มีการทำงานล่วงเวลาในช่วงเวลาใดนายจ้างต้องทำความตกลงกับลูกจ้างโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยาย ให้มีสาระสำคัญครบถ้วนถึงกำหนดช่วงระยะเวลาการเริ่มต้นและสิ้นสุดของการทำงานไว้ล่วงหน้าและหากจะออกคำสั่งอีกก็ต้องให้สอดคล้องกับข้อตกลงดังกล่าวหากไม่สอดคล้องก็ถือว่าคำสั่งนั้นไม่ชอบด้วยก.ม. ตามมาตรา ๒๔

  • เรื่องการเลิกจ้างที่ไม่ต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุด ม.๖๗+๑๑๙

ฎ.๔๙๗ -๕๒๘/๔๔ แม้ในคำขอเกษียณอายุก่อนกำหนด ของเดียร์จะไม่มีข้อความที่แสดงว่ายินยอมสละสิทธิการเรียกค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี แต่การที่บริษัทราม ๑๗ ต้องจ่ายจะต้องเป็นกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายเลิกจ้าง เมื่อเดียร์เป็นฝ่ายลาออกเอง บริษัทราม ๑๗จึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างในส่วนนี้ให้

ฎ.๒๓๙/๔๕ บอลเป็นลูกจ้างของบริษัทราม ๑๗ มีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาอาวุโส แต่ทำการตั้งบริษัทซึ่งมีวัตถุประสงค์เดียวกับบริษัทราม ๑๗ และมีลักษณะเป็นการแข่งขันกับกิจการของนายจ้าง ลูกค้าอาจใช้บริการของบอลได้ ย่อมเป็นการกระทบถึงรายได้ของบริษัทราม ๑๗และทำให้บริษัทราม ๑๗ เสียหาย แม้จะไม่ปรากฏว่าบริษัทของบอลได้แย่งลูกค้าของบริษัทราม ๑๗ ก็ต้องถือว่าการกระทำของบอลเป็นการจงใจให้นายจ้างได้รับความเสียหายแล้ว บริษัทราม ๑๗ จึงมีสิทธิที่จะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามมาตรา ๑๑๙(๒)และ ตามมาตรา ๖๗ ได้

  • เรื่องคำว่า “เลิกจ้าง”ม.๑๑๘

ฎ.๑๘๒๔ - ๑๘๒๕/๔๔ การที่ธปท.ด้วยความเห็นชอบของ ร.ม.ต.คลัง มีคำสั่งถอดถอนโจทก์ออกจากกรรมการของธนาคารพาณิชย์จำเลยที่เป็นนายจ้าง ซึ่งเป็นอำนาจของธปท.ที่จะออกคำสั่งดังกล่าวได้ตามพ.ร.บ. ธนาคารพาณิชย์ และให้ถือว่าเป็นการออกคำสั่งโดยมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นของจำเลยด้วย จึงถือว่าเป็นการเลิกจ้าง

( หมายเหตุ การทำให้ลูกจ้างต้องออกจากงาน จะเกิดขึ้นจากการแสดงเจตนาของนายจ้างโดยตรงหรือโดยผลของก.ม. ลูกจ้างก็ควรได้รับการคุ้มครอง )

**ฎ.๒๑๓๗/๔๔ ข้อบังคับของสภาทหารผ่านศึกว่าด้วยลูกจ้างองค์การสงเคราะห์ฯให้ถือปฏิบัติตามข้อบังคับว่าด้วยพนักงาน ซึ่งกำหนดว่าพนักงานต้องออกจากงานเมื่อสิ้นปีงบประมาณของปีที่มีอายุครบ ๖๐ ปีบริบูรณ์นั้นหมายถึงให้จำเลยให้ดำเนินการให้พนักงานที่ขาดคุณสมบัติเนื่องจากอายุครบ ๖๐ ปีบริบูรณ์ ออกจากงานนั้นเอง การที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงานเพราะเหตุที่โจทก์มีอายุครบ ๖๐ ปีบริบูรณ เป็นการไม่ให้โจทก์ทำงานต่อไป จึงเป็นการเลิกจ้างตามมาตรา ๑๑๘ วรรค ๒

ฎ.๑๗๖๖ – ๑๗๗๑/๔๔ บริษัทราม ๑๗ เป็นนายจ้างของเพชร เมื่อบริษัทราม ๑๗ หยุดกิจการเป็นเหตุให้เพชรไม่ได้ทำงาน แม้บริษัทราม ๑๗ จะโอนย้ายให้ไปทำงานกับบริษัทราม ๑๘ ก็ต้องให้เพชรยินยอมด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๕๗๗ วรรค ๑ เมื่อเพชรไม่ยอม จึงต้องถือว่าบริษัทราม ๑๗ ไม่ให้เพชรทำงานอันมีผลตลอดไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ จึงเป็นการเลิกจ้างตามมาตรา ๑๑๘

ฎ.๙๐๒๑/๔๔ ตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา ๑๑๘ วรรคสอง บัญญัติว่า การเลิกจ้างตามมาตรานี้ หมายความว่าการกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานและไม่จ่ายค่าจ้างให้ไม่ว่าเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด ดังนั้นการกระทำอนาจารของนายด้าน ที่กระทำต่อสวยเป็นเรื่องความประพฤติส่วนตัว ไม่ใช่การกระทำในหน้าที่การงานในฐานะเป็นกรรมการผจก. ทั้งมิได้เป็นการกระทำเพื่อไม่ให้สวยทนทำงานได้อีกต่อไป

ฎ.๗๓๕๔/๔๔ บริษัทราม ๑๗ จ้าง บีเข้าทำงานที่อู่ซ่อมเรือโดยทำสัญญาจ้าง ๓ ฉบับมีระยะเวลาติดต่อกัน ก่อนสัญญาจ้างฉบับที่ ๓ ครบกำหนด บริษัทราม ๑๗ เรียกบีไปทำสัญญาจ้างฉบับที่ ๔ มีกำหนดเวลาจ้าง ๒ ปีบริษัทราม ๑๗ ประสงค์จะจ้าง บี ให้ทำงานในหน้าที่เดิมต่อไปในอัตราจ้างเท่าเดิม แต่บีเสนอเพิ่มเงินเดือนและยังไม่ลงชื่อตอบรับการจ้างบริษัทราม ๑๗ เห็นว่าสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันไม่สามารถเพิ่มเงินเดือนให้ได้จึงไม่ตกลงเพิ่มเงินให้ เมื่อครบกำหนดสัญญาจ้างฉบับที่ ๓ บีก็ไม่ได้ไปทำงานอีก บริษัทราม ๑๗ มิได้กระทำการใดๆเพื่อมิให้ บี ทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ การที่บริษัทราม ๑๗ ไม่ตกลงเพิ่มเงินเดือนให้ ซึ่งเป็นเหตุให้ บี ไม่ทำสัญญาฉบับที่ ๔ จนสัญญาฉบับที่ ๓ สิ้นสุดลงก็ถือไม่ได้ว่าบริษัทราม ๑๗ กระทำการดังกล่าวเพื่อไม่ให้ บี ทำงานต่อไป แต่ บี กลับเป็นฝ่ายที่ไม่ไปทำงานเองหลังจากสัญญาจ้างสิ้นสุดลงแล้วกรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าบริษัทราม ๑๗ เลิกจ้าง บี

 

  • เรื่องข้อยกเว้นที่ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ม.๑๑๙

ฎ.๒๒๕๗/๔๓ ประกาศของโรงแรมราม ๑๗ ที่ห้ามพนักงานไปขับวินนอกเวลาทำงาน ได้ระบุพื้นที่ที่ห้ามไว้โดยเฉพาะคือบริเวณโรงแรมเท่านั้น จึงเป็นอำนาจของโรงแรมราม ๑๗ ที่จะทำได้เพราะมิได้มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยก.ม.หรือเป็นการขัดต่อความสงบฯ การที่เต้ยออกไปขับวินแม้ที่จอดรถจะอยู่ในซอยอันเป็นทางเข้าออกโรงแรมก็ไม่มีผลทำให้กิจการของโรงแรมราม ๑๗ ได้รับความกระทบกระเทือนเพราะเต้ยมิได้ขับในเวลาทำงานและมิได้กระทำโดยอ้างว่าเป็นกิจการของโรงแรมราม ๑๗ ทั้งไม่ปรากฏว่าเต้ยได้ขับวินเข้ามาในบริเวณโรงแรมราม ๑๗ อันเป็นการขัดคำสั่ง การกระทำของเต้ยจึงไม่ฝ่าฝืนคำสั่งของนายจ้าง

ฎ.๒๕๙๒/๔๓ หมีนำรถกระบะส่วนตัวรับแขกซึ่งเป็นลูกค้าของโรงแรมราม ๑๗ไปส่งนอกโรงแรม แม้จะได้รับค่าตอบแทนเป็นเงิน ก็มีลักษณะเป็นค่าทิปหรือสินน้ำใจจากแขกที่อาศัยรถเท่านั้น หมีมิได้ประกอบธุรกิจการค้าหรือมุ่งหวังจะรับส่งแขกโดยเรียกค่าบริการการกระทำจึงไม่เป็นการแข่งขันกับธุรกิจของโรงแรมราม ๑๗ ทั้งหมีก็มิได้แอบอ้างว่าเป็นธุรกิจของโรงแรมราม ๑๗ จึงไม่กระทบต่อชื่อเสียงของโรงแรมราม ๑๗ จึงยังถือไม่ได้ว่าหมีฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับกรณีที่ร้ายแรง ตามมาตรา ๑๑๙(๔)

ฎ.๕/๔๔ นาวินเป็นลูกจ้างของบริษัทราม ๑๗ เปิ้ล ผจก.โรงงานเรียกนาวินมาพบและแจ้งว่าจะย้าย ต่อมานาวินได้พูดกับปรางค์ผจก.ฝ่ายว่า “เลวเลวกว่าที่คิดไว้เสียอีก ตัวถ่วงความเจริญบริษัทหน้าหนากว่ากระจกแผ่นนี้เสียอีก”การกระทำดังกล่าวเป็นการเสียดสีสบประมาทและแสดงกิริยาก้าวร้าวต่อผู้บังคับบัญ-

ชา อันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับการทำงาน แต่สาเหตุที่ถูกย้ายเพื่อมิให้เผชิญหน้ากับปรางค์ที่นาวินไม่นับถือ จึงไม่ถึงกับเป็นการปฏิบัติเลวทรามเพราะจงใจฝ่าฝืนศีลธรรมหรือจารีตประเพณี ไม่เป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามข้อบังคับบริษัทราม ๑๗ การกระทำของนาวินจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีร้ายแรงตามมาตรา ๑๑๙(๔)

ฎ.๒๗๔๓/๔๔ เป้เป็นหัวหน้าพนักงานล้างจานไม่มีหน้าที่ให้บริการลูกค้า ได้สมัครใจวิวาทกับเปรี้ยว หัวหน้ายาม ซึ่งมิใช่ผู้ใต้บังคับบัญชา ขณะเกิดเหตุร้านก็ปิดบริการแล้ว ที่เกิดเหตุห่างออกไป ๒๐๐ เมตร มิได้เกิดขึ้นต่อหน้าลูกค้าหรือพนักงานอื่นไม่มีผลกระทบต่อชื่อเสียงของร้านราม ๑๗ ทั้งไม่มีฝ่ายใดได้รับบาดเจ็บการกระทำของเป้ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับที่ร้ายแรง ตามมาตรา ๑๑๙

ฎ.๖๕๒๔/๔๔ เดชละทิ้งหน้าที่ไป ๒ ครั้งเป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ และยังอยู่ภายในบริษัท ทั้งไม่ปรากฏว่าทำให้นายจ้างเสียหาย การที่ละทิ้งหน้าที่ก็เพื่อไปตามเพื่อนอีกคนให้กลับเข้าทำงานซึ่งเป็นประโยชน์แก่นายจ้าง ส่วนกรณีที่เดช ทะเลาะกับยามก็เป็นเพียงถกเถียงเกี่ยวกับการทำงานของยาม ซึ่งแม้จะมีลักษณะเป็นการไม่เคารพต่อหน้าที่ของยาม แต่เดชก็มิได้คิดที่จะทำร้ายยามแต่อย่างใด การที่เดชดื่มสุราเช่นนี้อะลุ่มอล่วยให้เข้าทำงานได้ แม้เดชจะทำความผิดหลายอย่างพร้อมกัน ก็ยังไม่ถือว่าการกระทำของเดชเป็นการฝ่าฝืนที่ร้ายแรง

ฎ.๘๖๘๙/๔๔ เฉลิมไม่สนใจการประชุม เข้าสาย ละทิ้งหน้าที่ก่อนเวลา ไม่ออกเยี่ยมลูกค้าทำให้ยอดไม่เป็นไปตามเป้า เป็นเพียงกรณีที่เฉลิมไม่ตั้งใจทำงาน ไม่อุทิศเวลาแก่งานและไม่มีประสิทธิภาพในการทำงานเท่านั้น กรณีที่นายจ้างมอบหมายงานเฉลิมมักแสดงท่าไม่พอใจ ก็เป็นเพียงความประพฤติที่ไม่เหมาะสมอันไม่ควรพึงปฏิบัติ กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับที่ร้ายแรง

ฎ.๙๓๘๐/๔๔ ข้อความในเอกสารเป็นศัพท์เฉพาะที่ดุษฎีแปลจากภาษาต่างประเทศเพื่อความสะดวกในทางบัญชีและเพื่อให้ผู้ตรวจสอบบัญชีตรวจได้เอกสารดังกล่าวไม่ใช่เอกสารสำคัญที่มีไว้แสดงต่อพ.น.ง.เจ้าหน้าที่ แม้เอกสารดังกล่าวจะมีข้อมูลทางการค้าของนายจ้างที่ปกปิดมิให้คนนอกรู้ แต่ดุษฎีก็มิได้เผยแพร่ต่อคนนอกการที่ดุษฎีนำเอกสารที่ทำขึ้นออกไปนอกบริษัทเพื่อประกอบการศึกษาโดยมิได้เปิดเผยต่อคนภายนอกที่จะทำให้นายจ้างเสียหาย ถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับในกรณีที่ร้ายแรง

  • เรื่องข้อยกเว้นที่ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ม.๑๑๙(๒)

ฎ.๖๗๙๑/๔๔ ก่อนเกิดเหตุวาคิมเคยฝังเพชรฝังพลอยบกพร่องมาแล้ว มดแดงก็มิได้ถือเป็นเหตุเลิกจ้างเพียงแต่ตักเตือนด้วยวาจา เมื่อวาคิมทำงานบกพร่องแต่มดแดงก็ยังยอมรับในฝีมือของวาคิม การทำงานบกพร่องจึงเป็นเรื่องปกติของช่างทุกคน และมดแดงไม่เคยพลิกแพลงงานให้แปลกออกไปจากที่เคยทำการที่วาคิมเจาะรูตัวเรือนแหวนกว้างเท่ากันตลอดก็มิได้เป็นไปเพื่อให้ได้เศษทองมากขึ้นถือไม่ได้ว่าเป็นการจงใจให้นายจ้างเสียหาย

 

  • เรื่องหนังสือเตือนตาม ม.๑๑๙(๔)

ฎ.๑๑๒๐/๔๔ ตามมาตรา ๑๑๙(๔) มิได้กำหนดแบบของหนังสือตักเตือนไว้ว่าจะต้องมีรูปแบบและข้อความว่าอย่างไร แต่หนังสือเตือนต้องเป็นกรณีนายจ้างเตือนลูกจ้างที่ฝ่าฝืนข้อบังคับมิให้ทำผิดซ้ำอีก แต่หนังสือเตือนของบริษัทราม ๑๗ ปรากฏหัวข้อว่าเป็นเรื่องการทดลองงานกล่าวถึงการทดลองงานว่าเต้ยมีความบกพร่องในการทำงานในระหว่างการทำงาน ซึ่งเป็นลักษณะตำหนิการทำงานแล้วให้เต้ยทดลองงานต่ออีก มิได้มีข้อความว่ากล่าวถึงว่าการกระทำของเต้ยเข้าลักษณะเป็นการกระทำความผิดอย่างไรและหากทำซ้ำจะถูกลงโทษอย่างไร จึงไม่ใช่หนังสือเตือนตามความหมายนี้

  • เรื่องการละทิ้งหน้าที่เกิน ๓ วัน ม.๑๑๙(๕)

ฎ.๓๙/๔๕ วาคิมเป็นพนักงานขับรถของบริษัทราม ๑๗ ซึ่งประจำอยู่สำนักงานใหญ่ใน กรุงเทพฯ บริษัทราม ๑๗ สามารถย้ายวาคิม ให้ไปปฏิบัติงานในโครงการก่อสร้างในจังหวัดใกล้เคียงได้ ดังนั้นคำสั่ง ที่ให้ไปทำงานที่โครงการที่นนทบุรี จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยก.ม. การที่วาคิมไม่ยอมไปแม้ยังคงมาทำงานที่สนง.ใหญ่ทุกวัน ย่อมเป็นการละทิ้งหน้าที่ ๓ วันติดต่อกันโดยไมมีเหตุอันสมควร บริษัทราม ๑๗ จึงเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้ ตามมาตรา ๑๑๙(๕) สิทธิในการเลิกจ้างกรณีละทิ้งงานเกินกว่า ๓ วัน จะเกิดขึ้นเมื่อลูกจ้างได้ละทิ้งหน้าที่ในวันที่ ๓ ไปแล้ว และนายจ้างไม่อาจให้การเลิกจ้างมีผลย้อนหลังนับแต่วันที่ลูกจ้างเริ่มละทิ้งหน้าที่ ฉะนั้นการที่ วาคิมไปทำงานที่สนง.ใหญ่จึงย่อมมีสิทธิได้รับค่าจ้างในช่วงเวลาดังกล่าว

 

รวบรวมโดย ติวเตอร์หมี

นิติศาสตรบัณฑิต,เนติบัณฑิตไทย