Home
เพลงสถาบัน
ติวสอบ
สารจากประธานฯ
กระดานสนทนา
กิจกรรม
ลิงค์
มีฎีกามาบอก
กำหนดการ

 

    • คู่ความร่วม
      • คู่ความร่วมตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา ๕๙

การเป็นคู่ความร่วมต้องเริ่มต้นมาตั้งแต่มีการฟ้องคดี ไม่ว่าจะเป็นโจทก์หรือจำเลย

หลักสำคัญที่จะเป็นคู่ความร่วมกันตามาตรา ๕๙ นี้ได้คือ จะต้องมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี

      • “มูลคดี” à ต้นเหตุที่ก่อให้เกิดการโต้แย้งสิทธิหรือเกิดสิทธิในการฟ้องคดี
      • “มูลความแห่งคดี” à ข้อเท็จจริงหรือเหตุการณ์ที่เป็นเหตุให้มีการฟ้องร้องกัน มีความเกี่ยวข้องกัน ทั้งยังรวมถึงกรณีที่ความรับผิดหรือสิทธิหน้าที่เกี่ยวข้องกันตามมาตรา ๕๗ ด้วย ซึ่งอาจเป็นคู่ความร่วมกันได้เช่นกัน
      • มาตรานี้ไม่ใช่บทบังคับผู้ที่จะใช้สิทธิฟ้องคดีหรือต่อสู้คดีแต่กฎหมายให้โอกาสที่จะใช้สิทธิร่วมกันมาในคดีเดียวกันได้เท่านั้น
    • แนวคำพิพากษาฏีกาที่ถือว่ามีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี

ฎ.๗๕๑/๙๘ บุคคลหลายคนกระทำละเมิดให้บุคคลหลายคนเสียหาย ภริยาและบุตรของผู้ตายในการละเมิดก็อาจเข้าเป็นโจทก์ร่วมฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นคดีเดียวกันได้เพราะมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี (แม้จะเป็นสิทธิคนละส่วนกันแต่เหตุแห่งการก่อให้เกิดสิทธิฟ้องร้องคือการตายของบิดาเกี่ยวข้องกัน)

ฎ.๑๕๗๔/๙๘ บุคคลที่ใช้ทางร่วมกันเป็นโจทก์ร่วมกันฟ้องจำเลยผู้ปิดกั้นทางนั้นได้

ฎ.๑๑๗๐/๑๕ โจทก์หลายคนฟ้องจำเลยโดยอาศัยสัญญาประณีประนอมยอมความที่จำเลยทำกับโจทก์ในฉบับเดียวกัน มิได้แยกชำระหนี้ไว้ต่างหากจากกัน แม้มูลหนี้เดิมของโจทก์แต่ละคนจะเป็นหนี้คนละราย คนละจำนวนไม่ใช่เจ้าหนี้ร่วม แต่โดนผลของสัญญาประณีประนอมยอมความนั้นถือได้ว่าจำเลยยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์แต่ละคนแล้ว โจทก์ทุกคนจึงมีอำนาจเข้าชื่อร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในสำนวนเดียวกันได้

ฎ.๑๔๓๕/๑๕ จำเลยทำโรงงานก่อความเดือดร้อนให่แก่โจทก์ทั้งสี่ แม้โจทก์จะอยู่ต่างที่อยู่กันก็ถือว่ามีผลประโยชน์ร่วมกันในผลแห่งคดี

ฎ.๑๗๖๕/๒๔ รถของจำเลยที่ ๑ กับที่ ๓ ซึ่งจำเลยที่ ๒ รับประกันภัย ขับชนโจทก์ที่ ๑ เป็นเหตุให้โจทก์อีก ๖ คนที่โดยสารมาด้วยได้รับบาดเจ็บข้อหาและข้อบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของผู้เสียหายทั้ง ๗ คนมีลักษณะอย่างเดียวกัน ทั้งยังมีความเกี่ยวข้องกันด้วย ถือว่าทั้ง ๗ คนมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีย่อมร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในคำฟ้องเดียวกันได้

ฎ.๗๔๗๑/๔๑ แม้ค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสองจะแยกต่างหากจากกันได้และค่าเสียหายในส่วนของโจทก์ที่ ๒ ไม่อยู่ในอำนาจศาลแขวงก็ตาม แต่มูลหนี้หรือสิทธิเรียกร้องในค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสองเกิดจากการทำละเมิดของจำเลยที่ ๑ ในคราวเดียวกัน โจทก์ทั้งสองย่อมมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีจึงฟ้องมาร่วมกันได้

ฎ.๙๕๒/๔๓ จำเลยที่ ๑ เปิดบัญชีกระแสรายวันเพื่อจะใช้เป็นบัญชีเดินสะพัดกับโจทก์เพียงบัญชีเดียวและทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์รวมสองฉบับโดยมีจำเลยที่ ๒ – ๖ เป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับที่สอง และยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ได้นำงินเข้าฝากและออกเช็คสั่งจ่ายเงินตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีทั้งสองฉบับ จากบัญชีกระแสรายวันซึ่งมีบัญชีเดียวตลอดมา โดยไม่อาจแบ่งแยกได้ว่าหนี้จำนวนใดเป็นหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับแรกหรือฉบับที่สอง กรณีจึงเป็นมูลหนี้เดียวกัน แม้ว่าจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ – ๖ จะมีภาระในการชำระหนี้ไม่เท่ากันก็สามารถรวมฟ้องมาในคดีเดียวกันได้ส่วนศาลจะพิพากษาให้คนใดชำระหนี้เท่าใด อย่างไร ก็แล้วแต่ข้อเท็จจริงที่จะพิจารณาได้ความ

    • แนวคำพิพากษาฏีกาที่ไม่ถือว่ามีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี

ฎ.๗๓๙/๐๓ โจทก์ฟ้องว่าจะเลยแต่ละคนละเมิดสิทธิของโจทก์โดยลำพังต่างหากจากกัน โดยจำเลยนี้จะต้องรับผิดต่อโจทก์ เช่นนี้โจทก์จะร่วมฟ้องจำเลยทุกคนในคดีเดียวกันไม่ได้โจทก์ต้องแยกฟ้องจำเลยเป็นรายๆไปจะฟ้องรวมกันมาไม่ได้

ฎ.๑๕๒๕/๑๑ โจทก์แต่ละคนซึ่งฟ้องเรียกมรดกส่วนของตน ต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวตามมาตรา ๕๕ โจทก์แต่ละคนชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลโดยลำพัง การที่โจทก์ฟ้องมาในคดีเดียวกันก็ต้องพิจารณาทุนทรัพย์ของคดีของโจทก์แต่ละคน

ฎ.๕๔๒/๑๖ โจทก์ฟ้องจำเลยหลายคนโดยบรรยายฟ้องว่าจำเลยแต่ละคนเข้ามาอาศัยในที่ดินของโจทก์เป็นสัดส่วนโดยไม่เกี่ยวข้องกันเลย และโจทก์ตีราครที่ดินที่จำเลยอาศัยมาด้วย จำเลยทั้งหมดจึงไม่มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีโจทก์ต้องแยกฟ้องจำเลยเป็นรายๆไปจะฟ้องรวมกันมาไม่ได้ การที่โจทก์รวมมาในสำนวนเดียวกันและศาลชั้นต้นยอมรับฟ้องโจทก์ไว้ไม่ทำให้สิทธิของโจทก์มีมากกว่าที่ยื่นแยกฟ้องกันมาแต่ละสำนวน (เป็นดุลพินิจของศาล เมื่อเห็นสมควรรับไว้แต่ต้องถืว่าสิทธิของแต่ละคนแยกจากกัน)

ฎ.๑๓๙๔/๒๖ แม้จำเลยจะไม่มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี การที่ศาลชั้นต้นรับฟ้องที่รวมกันมาไม่มีผลให้เหตุแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไปทั้งศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาจนเสร็จสิ้นการพิจารณาและมีคำพิพากษาแล้วจึงไม่มีเหตุที่จะถือว่ากระบวนพิจารณานั้นผิดกฎหมายและไม่เหตุสมควรที่จะยกฟ้องหรือให้ไปฟ้องเป็นคดีใหม่

ฎ.๑๘๘๔/๒๗ โจทก์หลายคนฟ้องจำเลยรวมกันมาแม้จะฟ้องรวมกันมาก็ต้องถือทุนทรัพย์ของแต่ละคนแยกจากกัน

ฎ.๕๗๑๐/๓๘ ปัญหาว่าโจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างที่ดินคนละแปลงแต่รวมกันโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีเดียวกันชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นวิธีการดำเนินคดีไม่ใช่เรื่องอำนาจฟ้อง จึงไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบฯ แม้จำเลยจะให้การต่อสู้ไว้ แต่ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดเป็นประเด็นไว้และจำเลยมิได้โต้แย้งจึงถือว่าประเด็นนั้นหมดไป จึงเป็นข้อกฎหมายที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาโดยชอบในศาลชั้นต้น จำเลยจึงยกขึ้นอ้างในชั้นฏีกาไม่ได้ (กรณีที่โจทก์ฟ้องจำเลยโดยจำเลยมิได้เกี่ยวข้งกับการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในลักษณะที่จะฟ้องรวมกันมาได้ แต่เมื่อศาลใช้ดุลพินิจรับฟ้องไว้แล้วก็เป็นดุลพินิจที่จะรับไว้ได้ มาตรา ๕๙ ให้สิทธิคู่ความเท่านั้นในกรณีที่มูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกันฟ้องมาศาลคงจะปฏิเสธไม่ได้ถึงแม้จะไม่เกี่ยวของกันฟ้องรวมกันมา ศาลก็อาจใช้ดุลพินิจรับไว้ได้ แต่ถ้ารับไว้และมาปฏิเสธภายหลังไม่ได้)

ฎ.๕๑๘๔/๓๗ โจทก์ทั้งสามต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวฟ้องให้จำเลยกับพวกร่วมกันรับผิดในค่าสินไหมในมูลละเมิดให้แก่โจทก์แต่ละคน แม้โจทก์ทั้งสามจะฟ้องรวมกันมาก็ตาม แต่ก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกเป็นรายๆไป

    • ความผูกพันของคู่ความร่วม

โดยหลักแล้ว คู่ความคนใดดำเนินกระบวนพิจารณาอะไรไปก็ถือว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาของคนๆนั้นไม่ถือว่าทำแทนคนอื่น (คือสิทธิของแต่ละคนแยกต่างหากจากกัน) แต่มีข้อยกเว้น ๒ ประการที่ให้มีผลถึงกันได้

      1. มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้
      2. ซึ่งมาตรา ๕๙ นี้ จะไปเกี่ยวข้องกับมาตรา ๒๔๕ และ ป.พ.พ.มาตรา ๓๐๑ ซึ่งถ้าพิจารณาแล้วทั้งสามมาตราดังกล่าวน่าจะมีความหมายอย่างเดียวกันคือหมายถึงการเป็นลูกหนี้ร่วมหรือเจ้าหนี้ร่วมนั้นเอง ได้แก่กรณีที่ลูกหนี้หลายคนแต่ละคนจะต้องรับผิดเต็มจำนวนไม่อาจแบ่งแยกความรับผิดต่อเจ้าหนี้ได้หรือวัตถุแห่งหนี้ไม่อาจแบ่งแยกได้ ฉะนั้นไม่ว่าคนหนึ่งคนใดดำเนินคดีไปอย่างไรก็มีผลถึงอีกคนด้วย แต่อย่างไรก็ดี ถ้าเป็นกระบวนพิจารณาที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่คู่ความที่ร่วมกันแล้วก็ไม่ถือว่าเป็นการทำแทนกัน เว้นแต่จะได้รับมอบหมายให้ทำแทน

      3. มีกฏหมายบัญญัติไว้ชัดแจ้งให้แทนซึ่งกันและกันได้

เช่น ป.พ.พ.มาตรา ๑๓๕๙ เรื่องการใช้สิทธิของเจ้าของรวม เป็นต้น กรณีที่ถือว่าทำแทนกันนั้น คือการเลื่อนคดีหรืองดพิจารณาคดีเท่านั้นซึ่งถ้าคนหนึ่คนใดขอถือว่าทุกคนขอ แต่ถ้าหากเป็นการขอให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปไม่ถือว่าเป็นการทำแทนกัน เว้นแต่จะมีการมอบหมายให้ทำแทน

        • แนวคำพิพากษาฏีกาหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้

ฎ.๓๘๒/๐๖ จำเลยทั้ง ๒ ถูกฟ้องร่วมกันมาเพื่อให้ใช้ค่าเสียหาย แม้จำเลยที่ ๑ จะให้การรับว่าได้กระทำโดยประมาทแต่เมื่อจำเลยที่ ๒ ให้การปฏิเสธว่าจำเลยที่ ๑ ไม่ได้ประมาทเช่นนี้โจทก์ต้องนำสืบหักล้างให้ฟังได้ตามที่ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ ประมาท ทั้งนี้เพราะคำให้การของจำเลยที่ ๑ ที่ได้กระทำไปนั้นเป็นที่เสือมเสียแก่จำเลยที่ ๒ ย่อมไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ ๒ ตามป.วิ.แพ่ง มาตรา ๕๙

ฎ.๑๙๘๗/๑๑ เมื่อมูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ เมื่อศาลพิพากษาแล้วผลแห่งคำพิพากษาย่อมมีผลถึงจำเลยทุกคน

ฎ.๙๔๙/๑๕ คดีร้องคัดค้านการขอเป็นผู้จัดการมรดก ไม่ใช่คดีอันเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ การอุทธรณื ฏีกาจึงมีผลเฉพาะผู้ที่อุทธรณ์ ฏีกาเท่านั้น (เพราะการขอเป็นผู้จัดการมรดกเป็นเรื่องสิทธิเฉพาะตัวของแต่ละคนเท่านั้น แม้จะขอจัดการมรดกอันเดียวกันก็ตาม)

ฎ.๒๐๘๘/๓๗ โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดใช้เงินทุนการศึกษาและค่าปรับโดยในการทำสัญญารับทุนของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้เยาว์มีจำเลยที่ ๒ ผู้แทนโดยชอบธรรมของจำเลยที่ ๑ ให้ความยินยอมในการทำสัญญาและจำเลยที่ ๒ ยอมชดใช้ค่าเสียหายแทนจำเลยที่ ๑ ด้วย กับมี อ.ทำสัญญาค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาของจำเลยที่ ๑ โดยรับชดใช้เงินที่ต้องชดใช้แทนจำเลยที่ ๑ ทั้งสิ้น โดยมิต้องเรียกร้องเอากับจำเลยที่ ๑ ก่อน ต่อมา อ. ถึงแก่กรรมจำเลยที่ ๓ เป็นทายาทของ อ . ดังนี้จำเลยทั้ง ๓ จึงเป็นลูกหนี้ร่วมที่จะต้องรับผิดร่วมกันตาม ป.พ.พ.มาตรา ๒๙๑ และมูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ ถือว่าจำเลยทั้ง ๓ แทนซึ่งกันและกัน บรรดากระบวนพิจารณาซึ่งกระทำโดยจำเลยคนหนึ่งถือว่าได้กระทำโดยจำเลยคนอื่นๆด้วยการที่ศาลรับฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่จำเลยที่ ๒ นำสืบมาเป็นคุณแก่จำเลยที่ ๑ โดยฟังว่าจำเลยที่ ๑ ไม่ต้องรับผิดตามสัญญารับทุนเช่นเดียวกับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จึงเป็นการชอบด้วยกฏหมาย

ฎ.๓๓๕๐/๔๒ แม้ขณะทำสัญญาเช่าซื้อผู้ให้เช่าซื้อมิได้เป็นเจ้าของทรัพย์ที่ให้เช่าซื้อก็ตาม แต่ผูให้เช่าซื้อก็อาจปฏิบัติการชำระหนี้ดังกล่าวให้เป็นไปตามสัญญาเช่าซื้อได้ หรือหากไม่ปฏิบัติตามสัญญาเช่าซื้อก็เป็นกรณีที่ผู้ให้เช่าซื้อเป็นฝ่ายผิดสัญญาซึ่งจะต้องรับผิดต่อไป ดังนั้นในขณะทำสัญญาเช่าซื้อโจทก์ผู้ให้เช่าซื้อจะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือไม่นั้น ไม่ทำให้ความสมบรูณ์ของสัญญาเสียไปสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ จึงเป็นสัญญาที่บังคับกันได้ตามกฏหมาย

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้ง ๒ ร่วมกันรับผิดในมูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกกันชำระไม่ได้ แม้จำเลยที่ ๑ มิได้ยกเรื่องฟ้องเคลือบคลุมขึ้นต่อสู่แต่จำเลยที่ ๒ ได้ให้การต่อสู้ในเรื่องนี้ไว้การดำเนินกระบวนพิจารณาที่ดำเนินโดยจำเลยที่ ๒ ถือว่าได้ทำโดยจำเลยที่ ๑ ด้วย เพราะมิใช่เป็นกระบวนพิจารณาที่คู่ความร่วมคนหนึ่งกระทำไปเป็นที่เสื่อมเสียแก่คู่ความร่วมคนอื่นๆตามมาตรา ๕๙ (๑) จึงต้องถือว่าฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ ๑ เคลือบคลุมด้วย

ฎ.๖๑๐/๔๕ สัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ ๗ ถูกฟ้องให้ร่วมรับผิดนั้นเป็นการรับผิดร่วมกันและแทนกันอย่างไม่มีเงื่อนไข โดยรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมเช่นเดียวกับจำเลยที่ ๒ – ๖ มูลหนี้ของจำเลยทั้ง ๗ จึงเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกจากกันได้แม้การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้นจะชอบด้วยกฏหมายก็ตาม แต่การที่ศาลจะพิพากษาให้จำเลยคนหนึ่งคนใดรับผิดใช้เงินในมูลหนี้ที่มิอาจแบ่งแยกได้ให้แก่โจทก์เพียงใดจำเป็นที่ศาลจะต้องรับฟังพยานที่นำสืบให้ปรากฏในสำนวน หรือหากจำเลยคนใดไม่มาศาลต้องปรากฏว่าศาลชั้นต้นอาจสั่งให้ผู้นั้นขาดนัดพิจารณาได้โดยชอบ เมื่อปรากฏว่าศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาเช่นนี้ ศาลอุทธรณ์ก็หาอาจพิจารณาพิพากษาอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยที่ ๑ ไปโดยไม่รอฟังพยานแห่งการขาดนัดพิจารณาของจำเลยที่ ๗ ให้ชัดเจนเสียก่อนได้ไม่ ศาลอุทธรณ์มีอำนาจแก้ไขได้ โดยถือว่ากระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นผิดระเบียบตั้งแต่วันนัดสืบพยานเป็นต้นไป

ฎ.๑๐๗๙/๔๕ ในทางพิจารณาไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ ๑ ใช้รถคันที่เช่าซื้อโดยประมาทเลินเล่ออย่างไร และรถได้เสื่อมราคาลงไปเนื่องจากเกิดความเสียหายเพราะจำเลยที่ ๑ ใช้รถโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่ ดังนั้นเมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันโดยมิถือว่าจำเลยที่ ๑ เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องรับผิดเกี่ยวกับการเสื่อมราคาซึ่งประเด็นนี้เป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฏีกาเห็นควรให้มีผลถึงจำเลยที่ ๒ ซึ่งมิได้ฏีกาด้วย ตามมาตรา ๒๔๕ (๑) ประกอบมาตรา ๒๔๗

        • แนวคำพิพากษาฏีกาที่ถือว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาเสื่อมเสียและไม่ผูกพันคู่ความร่วมคนอื่นๆ

ฎ.๑๗๑๓-๑๗๑๔/๒๓ คำท้ามีผลเฉพาะคู่ความที่ตกลงกัน ไม่มีผลถึงคู่ความคนอื่นๆด้วย

ฎ.๑๑๔๓/๒๔ มารดาในฐานะส่วนตัวและฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตร ๔ คน เป็นโจทก์ฟ้องคดี ในชั้นบังคับคดีมารดาไปตกลงลดยอดหนี้ให้จำเลยเป็นเรื่องที่มารดาทำโดยที่โจทก์ที่ ๒ – ๕ ซึ่งเป็นบุตรไม่ยินยอมด้วยการกระทำนั้นจึงไม่ผูกพันโจทก์คนอื่นด้วย

ฎ.๓๕๑/๑๐ โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยร่วมส่งมอบช้างคืน มูลแห่งหนี้ซึ่งมีการชำระแบ่งแยกจากกันมิได้ การที่จำเลยคนอื่นยื่นคำให้การต่อสู้เรื่องอายุความตามมาตรา ๕๙ (๑)ให้ถือว่าจำเลยทำแทนซึ่งกันและกันจำเลยอื่นจึงได้รับประโยชน์แห่งอายุความด้วย (ฎ.๕๑๓๗/๓๑,๙๑๔/๓๘,๖๒๔๖/๔๐ วินิจฉัยแนวเดียวกัน )

ฎ.๖๔๕๓/๔๔ การว่าจ้างโจทก์ลงพิมพ์โฆษณาในสมุดรายนามผู้ใชโทรศัพท์เป็นการโฆษณาของบริษัท ย.ไม่ใช่บริษัทจำเลยที่ ๑ แต่เป็นบริษัทในเครือของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ มิได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทจำเลยที่ ๑ และกระทำ ไปโดยปราศจากอำนาจและจำเลยที่ ๑ มิได้ให้สัตยาบันจำเลยที่ ๒ จึงต้องรับผิดต่อโจทก์โดยลำพังตาม ป.พ.พ. มาตรา ๘๒๓ มูลความแห่งคีจึงมิได้เป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้อันจะนำ ป.วิ.แพ่ง มาตรา ๕๙ (๑) มาใช้บังคับ จึงนำเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องจำเลยที่ ๒ ซึ่งมิได้ให้การต่อสู้คดีไว้ไม่ได้

ฎ.๖/๔๕ เมื่อวงแชร์ที่เป็นมูลหนี้ในการสั่งจ่ายเช็คพิพาทมี หจก. พ.ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นนายวงแชร์ อันต้องห้ามตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ นิติกรรมดังกล่าวจึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.มาตรา ๑๕๐ เช็คพิพาทจึงไม่มีมูลหนี้อันจะบังคับกันได้ตามกฏหมาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้สั่งจ่ายเช็ค และการที่ฟ้องจำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้รับสลักหลังให้ร่วมรับผิด ใช้เงินตามเช็คแก้โจทก์ซึ่งเป็นหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกจากกันได้แม้จำเลยที่ ๑ ฏีกาเพียงผู้เดียว ศาลฏีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ ๒ ที่มิได้ฏีกาได้ ตามมาตรา ๒๔๕(๑) ประกอบมาตรา ๒๔๗

ฎ.๑๙๓๘/๔๐ โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ ๑ รับผิดชำระหนี้ในฐานะผู้กู้ และจำเลยที่ ๒ รับผิดในฐานะผู้ค้ำประกัน มูลความแห่งคดีจึงเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ แม้ตามมาตรา ๕๙ (๑)ให้ถือว่าบรรดากระบวนพิจารณาซึ่งได้ทำโดยหรือทำต่อคู่ความร่วมคนหนึ่งนั้นให้ถือว่าทำโดยหรือทำต่อคู่ความร่วมคนอื่นๆด้วยก็ตามแต่หลังจากที่จำเลยที่ ๑ ได้ยื่นคำให้การยกเรื่องอายุความตามสัญญากู้ขึ้นต่อสู้ โจทก์ได้ถอนฟ้องจำเลยที่ ๑ ศาลอนุญาตและจำหน่ายคดีส่วนจำเลยที่ ๑ แล้วย่อมเป็นไปตามมาตรา ๑๗๖ ที่ว่าการถอนฟ้องย่อมมีผลลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องนั้นรวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่นๆอันมีต่อมาภายหลังการฟ้อง และทำให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนไม่มีการยื่นคำฟ้องเลย ดังนั้นกรับวนพิจารณาที่จำเลยที่ ๑ ยื่นคำให้การยกเรื่องอายุความขึ้นต่อสู้ถือว่าเป็นอันลบล้างไปด้วยผลของการถอนฟ้อง เท่ากับไม่มีกำหนดอายุความเรื่องสิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้ของจำเลยที่ ๑ ที่จะนำมาพิจารณาอีก

    • การเป็นคู่ความร่วมจะต้องมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีคือเป็นลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ร่วม แต่กระบวนพิจารณาที่จะเป็นประโยชน์จะต้องเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับมูลหนี้ร่วมกันหรือจ้อเท็จจริงเกี่ยวกับความรับผิดหรือประโยชน์ร่วมกัน

ฎ.๔๑๑/๐๔ การที่จะจงใจขาดนัดหรือไม่เป็นเรื่องเฉพาะตัวของคู่ความแต่ละคนเมื่อคนหนึ่งจงใจขาดนัดแต่อีกคนไม่จงใจ จะเอาเป็นเหตุรวมกันเพื่อให้เกิดผลแก่ทั้งสองคนไม่ได้

 

ขอให้ทุกท่านโชคดีในการสอบครับ ผู้รวบรวม....นายพิพัฒน์ กิจเสถียรพงษ์ นิติศาสตรบัณฑิต, เนติบัณฑิตไทย